ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๘. สันนิปาตานุชานนา

๒. อุโปสถขันธกะ
๖๘. สันนิปาตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้สงฆ์ประชุมกัน
เรื่องปริพาชกอัญเดียรถีย์
[๑๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์๑- ประชุมกันกล่าวธรรม ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิด ความคิดคำนึงขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ ประชุม กันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ มนุษย์ทั้งหลาย พากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม คนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใสในพวกปริพาชก อัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอแม้พระคุณเจ้า ทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง” จึง เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้พวกปริพาชก อัญเดียรถีย์ ประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ @เชิงอรรถ : @ อัญเดียรถีย์ หมายถึงผู้เป็นเจ้าลัทธิอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๐๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๘. สันนิปาตานุชานนา

ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอ พระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่ง ปักษ์บ้าง’ หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายพึง ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงแสดงธรรมีกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นท้าวเธอผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สด ชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็เสด็จลุกจากอาสนะถวายบังคม ทรงทำประทักษิณเสด็จหลีกไป
ทรงอนุญาตวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”
เรื่องภิกษุประชุมนั่งนิ่ง
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ประชุมกันใน วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์” จึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่ง ประชาชนเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรทั้งหลายประชุมกันใน วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์แล้ว จึงนั่งนิ่งเหมือนสุกรใบ้เล่า๑- ธรรมดาว่าผู้ประชุมกันก็ควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ” @เชิงอรรถ : @ เหมือนสุกรอ้วน (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๐๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา

ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ จึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องทรงอนุญาตให้กล่าวธรรมในวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”
๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ว่าด้วยการทรงอนุญาตปาติโมกขุทเทส
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
[๑๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้ทรงเกิดความ ดำริขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้แก่ภิกษุ ทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จักเป็นอุโบสถกรรม ของพวกเธอ” ครั้นเวลาเย็น พระองค์เสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้ เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่ สงัด ณ ที่นี้ได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้ บัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จัก เป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง” ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกขึ้นแสดงอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า [๑๓๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงทำ อุโบสถพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอก ปาริสุทธิ ข้าพเจ้าจักยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟังให้ดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา

จงใส่ใจปาติโมกข์นั้น ท่านรูปใดมีอาบัติ ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย เมื่อไม่มีอาบัติ พึงนิ่ง ด้วยความเป็นผู้นิ่ง ข้าพเจ้าจักทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็การ สวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ในบริษัทเช่นนี้เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละ รูปที่ถูกถาม ก็เมื่อกำลังสวดประกาศถึงครั้งที่ ๓ ภิกษุใดระลึกได้ ยังไม่ยอมเปิดเผย อาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชาน มุสาวาท๑- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุ ต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ ก็พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิด เผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น
นิทานุทเทสวิภังค์
[๑๓๕] คำว่า ปาติโมกข์ นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นประธาน นี้เป็นประมุขแห่ง กุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ปาติโมกข์ คำว่า ท่านทั้งหลาย นี้เป็นคำกล่าวด้วยความรัก นี้เป็นคำกล่าวด้วยความ เคารพ นี้เป็นคำเรียกบุคคลผู้มีความเคารพและมีความยำเกรง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลาย คำว่า จักยกขึ้นแสดง คือ จักบอก จักแสดง จักบัญญัติ จักเริ่มตั้ง จักเปิดเผย จักจำแนก จักทำให้กระจ่าง จักประกาศ คำว่า นั้น ตรัสหมายถึงปาติโมกข์ คำว่า บรรดาที่มีอยู่ทั้งหมด ความว่า ภิกษุในบริษัทนั้นเป็นเถระก็ตาม เป็น นวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสหมายถึงภิกษุที่มีอยู่ทั้งหมด คำว่า จงฟังให้ดี ความว่า จงทำให้เป็นประโยชน์ ทำไว้ในใจ รวบรวมเรื่อง ทั้งหมดด้วยใจ คำว่า จงใส่ใจ ความว่า จงมีจิตแน่วแน่ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ซัดส่าย ตั้งใจฟัง @เชิงอรรถ : @ สัมปชานมุสาวาท คือ กล่าวเท็จทั้งที่รู้ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒-๓/๑๘๖-๑๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา

คำว่า ท่านรูปใดมีอาบัติ ความว่า ภิกษุผู้เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีอาบัติตัวใดตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๕ กอง หรือ มีอาบัติตัวใด ตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๗ กอง คำว่า ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย ความว่า ภิกษุรูปนั้นพึงแสดง ภิกษุรูปนั้นพึง เปิดเผย ภิกษุรูปนั้นพึงทำให้กระจ่าง ภิกษุรูปนั้นพึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง อาบัติที่ชื่อว่าไม่มี ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุมิได้ล่วงละเมิด หรือว่าต้องแต่ออกแล้ว คำว่า พึงนิ่ง คือ พึงอยู่เฉย ไม่พึงกล่าว คำว่า ข้าพเจ้าจักทราบว่า....เป็นผู้บริสุทธิ์ คือ จักรู้ จักจำไว้ คำว่า เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละรูปที่ถูกถาม ความว่า บริษัทนั้นพึงรู้ว่า จะถามเรา ดังนี้ เหมือนภิกษุรูปหนึ่งได้ถูกภิกษุอีกรูปหนึ่งถาม ก็พึงตอบ บริษัทเช่นนี้ ตรัสหมายถึงภิกษุบริษัท คำว่า การสวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ความว่า สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๑ สวด ประกาศแม้ครั้งที่ ๒ สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๓ คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่ อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้ว หรือที่ต้องแล้ว ยังมิได้ออก คำว่า ยังไม่ยอมเปิดเผย ความว่า ไม่ยอมแสดง ไม่ยอมเปิดเผย ไม่ยอมทำ ให้ตื้น ไม่ยอมประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง คำว่า สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น คือ เป็นอาบัติอะไรเพราะ สัมปชานมุสาวาท เป็นอาบัติทุกกฏ คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย ความว่า เป็นธรรมที่ ทำอันตรายต่ออะไร เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุปฐมฌาน เป็นธรรมที่ทำ อันตรายต่อการบรรลุทุติยฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุตติยฌาน เป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา

ธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุจตุตถฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม คำว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะเหตุนั้น คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่ คำว่า หวังความบริสุทธิ์ คือ ประสงค์ออกจากอาบัติ ต้องการความหมดจด อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิด หรือที่ต้องแล้วยังมิได้ออก คำว่า พึงเปิดเผย ความว่า พึงทำให้แจ้งในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง คำว่า เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ความว่า ความผาสุกย่อมมีเพื่ออะไร ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุปฐมฌาน ความผาสุกย่อมมี เพื่อบรรลุทุติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุตติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อ บรรลุจตุตถฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม
เรื่องภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
[๑๓๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้น แสดงในวันอุโบสถ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยกปาติโมกข์ขึ้น แสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๓ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๑๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา

เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละครั้ง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ ละ ๓ ครั้ง รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ หรือวัน ๑๕ ค่ำ”๑-
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี คือเฉพาะ บริษัทของตนๆ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุผู้พร้อมเพรียง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัท เท่าที่มีคือเฉพาะบริษัทของตนๆ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุบริษัททั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน”
เรื่องทรงอนุญาตความพร้อมเพรียงกำหนดอาวาสเดียว
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีความคิดคำนึงว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอุโบสถ กรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน” แล้วดำริว่า “ความพร้อมเพรียงกันมี กำหนดเพียงไรหนอ มีเพียงอาวาสหนึ่ง หรือมีทั้งแผ่นดิน” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตความพร้อมเพรียงมี กำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น” @เชิงอรรถ : @ ปักษ์หนึ่งมี ๑๔ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง : ๑ ปีมี ๓ ฤดูคือ (๑) ฤดูร้อน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๔ @ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (๒) ฤดูฝน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ @(๓) ฤดูหนาว ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ @๑ ฤดูมี ๘ ปักษ์ ปักษ์ ๑๔ วัน มี ๒ ครั้ง คือปักษ์ที่ ๓ และปักษ์ที่ ๗ ปักษ์ ๑๕ วัน มี ๖ ครั้ง @(วิ.อ. ๓/๑๓๖/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๑๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๗๐. มหากัปปินวัตถุ

๗๐. มหากัปปินวัตถุ
ว่าด้วยพระมหากัปปินเถระ
เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน
[๑๓๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย ความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงในใจของท่านพระมหา กัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ ทรงหายไป ณ ภูเขาคิชฌกูฏมาปรากฏตรงหน้า ท่านพระมหากัปปินะที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้ ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “กัปปินะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อย่างนี้มิใช่หรือ” ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลาย๑- พวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ พราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ เธอจงไปทำสังฆกรรม จะไม่ ไปไม่ได้” ท่านพระมหากัปปินะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า “ไป พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ พราหมณ์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงภิกษุขีณาสพ (ดู วิ.อ. ๓/๑/๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๑๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๗๑. สีมานุชานนา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นชัด ชวนให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงหายไปตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤค ทายวัน มาปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้ แขนเข้า ฉะนั้น


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๐๗-๒๑๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=53              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=4053&Z=4207                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=147              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=147&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=2360              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=147&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=2360                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php# https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :