ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ]

๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ

๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าปัชโชต
เรื่องรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชต
[๓๓๔] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรเป็นโรคผอมเหลือง นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่อาจทำให้โรคหายได้ ได้เงิน ไปเป็นจำนวนมาก สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสารจอม ทัพมคธรัฐใจความว่า “หม่อมฉันเจ็บป่วยมีอาการอย่างนี้ ขอประทานวโรกาสเถิด พระองค์โปรดส่งหมอชีวกให้มารักษาหม่อมฉัน” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิดชีวก เจ้าเดิน ทางไปกรุงอุชเชนีจงถวายการรักษาพระเจ้าปัชโชต” ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเดินทางไปกรุงอุชเชนี เข้าไปเฝ้า พระเจ้าปัชโชต ตรวจพระอาการแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จะหุงเนยใส ให้พระองค์เสวย” พระเจ้าปัชโชตตรัสห้ามว่า “อย่าเลยชีวก ท่านจงรักษาเราด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้ เนยใสก็หายได้ เพราะเราเกลียดเนยใส” ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระราชานี้ทรงประชวรถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีเนยใส เราก็ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายเป็นปกติ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด” แล้วให้หุงเนยใสด้วยยาชนิดต่างๆ ทำให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด สมัยนั้น ชีวกโกมารภัจมีความคิดดังนี้ว่า “เนยใสที่ท้าวเธอเสวยแล้ว เมื่อย่อย ไปจะทำให้เรอ พระราชาพระองค์นี้ทรงพิโรธก็จะพึงรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ทางที่ดีเราควร กราบทูลลาไว้เสียก่อน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๙๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ

วันต่อมา ชีวกโกมารภัจจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปัชโชตถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์เป็นหมอ จะเก็บรากไม้ จะรวบรวมยา โดยกาลชั่วครู่หนึ่ง ในขณะนั้นๆ๑- ขอประทานวโรกาสเถิด พระองค์โปรดรับสั่ง เจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า หมอชีวกจงเดินทางด้วยยานที่ ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ในเวลาที่ต้องการ” พระเจ้าปัชโชตมีรับสั่งเจ้าพนักงานในโรงพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า “หมอชีวก จงเดินทางด้วยยานที่ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ใน เวลาที่ต้องการ” ก็สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ ชีวกโกมารภัจทูลถวายเนยใสแด่พระเจ้าปัชโชตนั้นกราบทูลว่า “พระองค์โปรด เสวยน้ำฝาด” เมื่อให้ท้าวเธอเสวยเนยใสแล้วก็ไปที่โรงช้าง ขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไป ครั้งนั้น เนยใสที่ท้าวเธอเสวยกำลังย่อยจึงทำให้ทรงเรอขึ้น ทันใดนั้นพระเจ้า ปัชโชตจึงรับสั่งคนทั้งหลายว่า “เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจง ค้นหามันมาให้ได้” คนทั้งหลายกราบทูลว่า “หมอชีวกขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไปจากกรุงแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีทาสชื่อกากะซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วัน ละ ๖๐ โยชน์ จึงรับสั่งว่า “นายกากะ เจ้าจงไปตามหมอชีวกกลับมา โดยบอกว่า พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ ธรรมดาพวกหมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก เจ้าอย่าไปรับ สิ่งไรของเขานะ” ครั้นทาสกากะเดินไปทันชีวกโกมารภัจผู้กำลังรับประทานอาหารเช้าในระหว่างทาง กรุงโกสัมพี จึงบอกว่า “ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ” @เชิงอรรถ : @ แปลมาจากคำว่า ตาทิเสน มุหุตฺเตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๙๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ

ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “กากะ ท่านโปรดรออยู่ชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเถิด” ทาสกากะตอบว่า “อย่าเลย ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งว่า ธรรมดาพวก หมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก อย่าไปรับสิ่งไรๆ ของเขา” ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจได้แทรกยาทาเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ แล้วร้องเชิญทาสกากะว่า “เชิญท่านกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำด้วยกันเถิด” ทาสกากะคิดว่า “แพทย์คนนี้กำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ คงไม่มีโทษ อะไร” จึงเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้นได้ระบายท้อง ให้ถ่ายอุจจาระออกมาในที่นั้นทีเดียว ต่อมาทาสกากะถามชีวกโกมารภัจว่า “ท่านอาจารย์ ผมจะยังมีชีวิตอยู่หรือ” ชีวกโกมารภัจตอบว่า “อย่ากลัวไปเลย ท่านไม่มีอันตราย แต่พระราชาทรง พิโรธก็จะรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ดังนั้นเราไม่กลับละ” แล้วมอบช้างภัททวดีให้ทาสกากะ เดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “เจ้าไม่กลับไปก็เป็นการกระทำที่ดี เพราะพระราชาพระองค์นั้นเหี้ยมโหดพึงสั่งให้ฆ่าเจ้าก็ได้” เมื่อพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวรจึงทรงส่งราชทูตไปถึงชีวกโกมารภัจว่า “เชิญหมอชีวกมา เราจะให้พร” ชีวกโกมารภัจกราบทูลตอบไปว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรง ระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระองค์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๙๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา

๒๐๘. สิเวยยกทุสสยุคกถา
ว่าด้วยการพระราชทานผ้าสิไวยกะ ๑ คู่๑-
[๓๓๕] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตได้รับผ้าสิไวยกะ ๑ คู่ เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐสุดซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าหลายร้อย คู่ผ้า หลายพัน คู่ผ้าหลายแสน ต่อมาพระเจ้าปัชโชตจึงทรงส่งผ้าสิไวยกะนั้น ๑ คู่ไป พระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจ ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระเจ้าปัชโชตทรงส่งผ้าสิไวยกะ ๑ คู่นี้อันเป็น ผ้าเนื้อดีเลิศซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าตั้งหลายร้อย คู่ผ้าหลายพัน คู่ผ้าหลายแสน นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐแล้ว ไม่มีใครอื่นเหมาะที่จะใช้คู่ผ้านี้เลย”
๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย ๓๐ ครั้ง
เรื่องสรงพระกายพระผู้มีพระภาค
[๓๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระองค์ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ ตถาคตมีกายหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตประสงค์จะฉันยาถ่าย” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาชีวกโกมารภัจถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้ กล่าวกับชีวกโกมารภัจดังนี้ว่า “ท่านชีวก พระตถาคตมีพระวรกายหมักหมมด้วย สิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตประสงค์จะฉันพระโอสถถ่าย” @เชิงอรรถ : @ ผ้าสิไวยกะ เป็นผ้าที่ชาวแคว้นอุตตรกุรุใช้ห่อศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า พวกนกหัสดีลิงค์คาบซากศพพร้อมทั้ง @ผ้านั้นไปที่ยอดเขาหิมาลัย ดึงผ้าออกแล้วกินซากศพ พวกนายพรานเห็นผ้านั้น จึงนำมาถวายพระเจ้า @ปัชโชต (วิ.อ. ๓/๓๓๕/๒๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๙๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๙๑-๑๙๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3514&Z=3586                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=134              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=134&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4606              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=134&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4606                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:1.23.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.1.23



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :