ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก
จูฬวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๕. ขุททกวัตถุขันธกะ
ขุททกวัตถุ
ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับต้นไม้
[๒๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน ที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์๑- สรงน้ำขัดสีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้ เหมือน พวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า”๒- @เชิงอรรถ : @ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้แก่ พวกภิกษุผู้ชอบประพฤติผิดมี ๖ รูป คือ พระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ อยู่ในกรุง @สาวัตถี พระเมตติยะ พระภุมมชกะ อยู่ในกรุงราชคฤห์ พระอัสสชิ พระปุนัพพสุกะ เป็นคณาจารย์อยู่ @ประจำในกีฏาคีรีชนบท แคว้นกาสี (ม.ม.อ. ๓/๑๗๕/๑๓๘) @ มลฺลมุฏฺฐิกาติ มุฏฺฐิกมลฺลา คำว่า มลฺลมุฏฺฐิกา ได้แก่ พวกนักมวยปล้ำ คามปูฏวาติ ฉวิราคมณฺฑนา- @นุยุตฺตา นาคริกมนุสฺสา, คามโปตกาติ ปาโฐ. คำว่า คามปูฏวา คือ พวกมนุษย์ชาวเมืองผู้หมกมุ่นอยู่กับ @การประดับ ย้อมผิว จะหมายถึงพวกลูกหลานชาวบ้านก็ได้ (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงสรงน้ำ ขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้เล่า”๑- ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่อง นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสี กาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษ เหล่านั้นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควร ทำเลย ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่ เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริงกลับ จะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลาย เป็นอื่นไป” พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วได้ ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ @เชิงอรรถ : @ บาลีเป็นประโยคเปยยาล แปลเต็มตามนัยแห่งวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ๑/๓๙/๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียรโดยประการต่างๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตามกับเรื่อง นั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกาย กับต้นไม้ รูปใดขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับเสา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสา คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะ เชื้อสายศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสา เหมือนพวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสี กาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกายกับเสา รูปใดขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับฝา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะ เชื้อสายศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝา เหมือนพวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำ ขัด สีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ เหล่านั้นจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝาเล่า ภิกษุ ทั้งหลาย การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่ แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกายกับฝา รูปใด ขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำในที่ไม่สมควร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อสรงน้ำ สรงน้ำในที่ไม่สมควร๑- คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำในที่ที่ ไม่สมควร จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงสรงน้ำในที่ที่ไม่สมควรเล่า ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงสรงในที่ที่ไม่สมควร รูปใดสรง ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำ๒- ฯลฯ คน ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” @เชิงอรรถ : @ ที่ไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงเสาถูตัวคือต้นไม้ที่เขาถากเรียบคล้ายแผ่นกระดาน สกัดเป็นรอยดังกระดาน @หมากรุก ปัก ฝังไว้ที่ท่าอาบน้ำ พวกชาวบ้านนำจุรณมาโรยที่เสาถูตัวนั้นแล้วถูกายที่เสานั้น @(วิ.อ. ๓/๒๔๓/๓๐๒, วิ.สงฺคห. ๒๑/๔๙๕) @ คนฺธพฺพหตฺถก คือ มือที่ทำด้วยไม้ ได้แก่ มือที่ทำด้วยไม้ซึ่งเขาวางไว้ที่ท่าอาบน้ำ คนทั้งหลายใช้มือนั้น @ตักจุรณขัดสีกาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถู กายสรงน้ำ รูปใดใช้สรง ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำโดยใช้เชือกชุบจุรณศิลาสีเหมือนพลอย แดง(ถูตัว) คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสรงน้ำโดยใช้เชือกชุบจุรณ ศิลาสีเหมือนพลอยแดง(ถูกาย) รูปใดใช้สรง ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ต่างทำบริกรรมให้แก่กันและกัน๑- คนทั้งหลายจึง ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำบริกรรมให้แก่กันและกัน รูปใดถู ตัองอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกรถูกายสรงน้ำ คน ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟัน มังกรถูกายสรงน้ำ รูปใดถู ต้องอาบัติทุกกฏ” @เชิงอรรถ : @ ทำบริกรรมแก่กันและกันในน้ำ ในที่นี้หมายถึงการขัดถูร่างกายให้กัน (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เรื่องภิกษุเป็นโรคหิด
[๒๔๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นโรคหิด ขาดไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกร ย่อม ไม่มีความสบาย ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้บังเวียนที่ไม่จักเป็นฟัน มังกรแก่ภิกษุผู้เป็นไข้”
เรื่องภิกษุทุพลภาพเพราะชรา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งทุพลภาพเพราะชรา เมื่อสรงน้ำ ไม่สามารถจะถูกาย ตนได้ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลียวผ้า”
ทรงอนุญาตให้ใช้มือถูหลัง
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยำเกรงที่จะถูหลัง ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มือถูหลัง”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑-๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=1&Z=91                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=1&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=6814              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=1&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=6814                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :