ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปริวาร
๕. อัตตาทานวรรค
หมวดว่าด้วยการรับหน้าที่เป็นโจทก์
คุณสมบัติที่ผู้โจทก์พึงพิจารณา๑-
[๔๓๖] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณา คุณสมบัติภายในตนเท่าไร จึงจะโจทผู้อื่นได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณา คุณสมบัติภายในตน ๕ อย่างแล้วจึงจะโจทผู้อื่น ธรรม ๕ อย่าง คือ @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๙๙/๓๐๒-๓๐๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๔๔/๙๖-๙๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๑๖}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

๑. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เรามีความ ประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติ ทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติข้อนี้เรามี อยู่หรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านสำเหนียกความประพฤติ ทางกายเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ ๒. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรามี ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความ ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติ ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางวาจา บริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านสำเหนียก ความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบ โต้อย่างนี้ ๓. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรามี เมตตาจิต ไม่อาฆาตพยาบาทเพื่อนพรหมจารีหรือหนอ คุณสมบัติ ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีเมตตาจิต ไม่อาฆาต พยาบาทเพื่อนพรหมจารี ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญ ท่านมีเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้น ย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ ๔. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรา เป็นพหูสูต ทรงสุตะ มีการสั่งสมสุตะหรือหนอ เราได้สดับมาก ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงาม เบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๑๗}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

อรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่หนอ คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ได้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ มีการสั่งสมสุตะ ได้สดับมาก ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่าน ศึกษาพระปริยัติเสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ ๕. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ ‘เรา ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัด ระเบียบถูกต้อง วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ’ ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้ทรงจำปาติโมกข์ ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัดระเบียบถูกต้อง วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะ(ตามข้อ ตามอักษร) ภิกษุ ผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า ‘เชิญท่านศึกษาพระวินัยให้ชำนาญ เสียก่อนเถิด’ ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาคุณสมบัติภายในตน ๕ อย่างนี้ จึงโจทผู้อื่น”
คุณสมบัติที่โจทก์พึงตั้งไว้ในตน๑-
[๔๓๗] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง คุณสมบัติเท่าไรไว้ในตน พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง คุณสมบัติ ๕ อย่างไว้ในตน คุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๐/๓๐๔, ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๖/๓๐๖, @องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๗/๒๗๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๔๔/๙๖-๙๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๑๘}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

๑. เราจักโจทโดยกาลที่ควร จักไม่โจทโดยกาลไม่ควร ๒. เราจักโจทด้วยเรื่องจริง จักไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง ๓. เราจักโจทด้วยคำสุภาพ จักไม่โจทด้วยคำหยาบ ๔. เราจักโจทด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จักไม่โจทด้วยเรื่องที่ไม่เป็น ประโยชน์ ๕. เราจักมีเมตตาจิตโจท จักไม่มุ่งร้ายโจท อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น ควรตั้งคุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ไว้ในตนจึงโจทผู้อื่น”
โจทก์ควรใฝ่ใจถึงธรรม
[๔๓๘] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจท ผู้อื่นควรใฝ่ใจ ธรรมเท่าไรไว้ในตนแล้วโจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น ควรใฝ่ใจ ธรรม ๕ อย่าง ไว้ในตนแล้วโจทผู้อื่น ธรรม ๕ อย่าง คือ ๑. มีความการุญ ๒. มุ่งประโยชน์ ๓. มีความเอ็นดู ๔. มุ่งออกจากอาบัติ ๕. ยึดพระวินัยไว้เป็นแนวทาง อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น ควรใฝ่ใจธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตนแล้ว โจทผู้อื่น”
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรให้ทำโอกาส
[๔๓๙] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำโอกาส พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำโอกาส องค์ ๕ คือ ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๑๙}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

๔. เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ๕. ถูกซักถาม ไม่อาจตอบข้อซักถาม อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำโอกาส
องค์ของภิกษุผู้ควรให้ทำโอกาส
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ควรทำโอกาส องค์ ๕ คือ ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ๔. เป็นบัณฑิต ฉลาด ๕. ถูกซักถามเข้า อาจตอบข้อซักถาม อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ควรทำโอกาส”
องค์แห่งอธิกรณ์ที่ตนพึงรับ๑-
[๔๔๐] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับ อธิกรณ์ประกอบด้วยองค์เท่าไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่เราประสงค์ จะรับอธิกรณ์นี้ ถึงเวลาที่จะรับอธิกรณ์นี้หรือไม่ถึงหนอ’ ถ้าภิกษุ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘ยังไม่ใช่เวลาที่จะรับอธิกรณนี้ ถึงเวลาหา มิได้’ ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๙๘/๓๐๐-๓๐๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๐}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

๒. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘ถึงเวลาที่จะรับอธิกรณ์นี้ ไม่ ใช่ยังไม่ถึงเวลา’ ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า ‘ข้อที่เราประสงค์ จะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์ที่เราจะรับนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง’ ถ้า ภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘อธิกรณ์ที่จะรับนี้ไม่จริง ไม่ใช่เรื่องจริง’ ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น ๓. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ เรื่องไม่จริง’ ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า ‘ข้อที่เราประสงค์จะ รับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้มีประโยชน์หรือไม่มี’ ถ้าภิกษุพิจารณารู้ อย่างนี้ว่า ‘อธิกรณ์นี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ประกอบด้วย ประโยชน์’ ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น ๔. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์’ ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้จะได้ภิกษุผู้เคยพบเห็น เคยคบหากันมาเป็น พวกโดยชอบธรรม โดยชอบด้วยวินัยหรือไม่’ ถ้าภิกษุพิจารณารู้ อย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้เราจะไม่ได้ภิกษุผู้เคยพบเห็นเคย คบหากันมาเป็นพวกโดยชอบธรรม โดยชอบด้วยวินัย’ ก็ไม่ควร รับอธิกรณ์นั้น ๕. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ เราจะ ได้ภิกษุผู้เคยพบเห็นเคยคบหากันมาเป็นพวกโดยชอบธรรม โดยชอบ ด้วยวินัย’ ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้นจะเป็นเหตุให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาท สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์แบ่งแยก สงฆ์เป็นต่างๆ กันหรือไม่’ ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้น จะเป็นเหตุให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกัน สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์แบ่งแยก สงฆ์เป็นต่างๆ กัน’ ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๑}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้นจะไม่ เป็นเหตุให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาท สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์ แบ่งแยกสงฆ์เป็นต่างๆ กัน’ ควรรับอธิกรณ์นั้น อุบาลี อธิกรณ์ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ ที่ภิกษุรับแล้วจักไม่กระทำให้เดือดร้อน ในภายหลัง ด้วยประการฉะนี้”
องค์ของภิกษุผู้มีอุปการะมาก
[๔๔๑] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกภิกษุก่ออธิกรณ์ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้มีอุปการะ มากแก่พวกภิกษุก่ออธิกรณ์ องค์ ๕ คือ ๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย อาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใดที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ย่อมสรรเสริญพรหมจรรย์พร้อม ทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ธรรมทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นอัน เธอสดับมาก ทรงไว้ สั่งสมด้วยวาจาเข้าไปเพ่งด้วยใจ ประจักษ์ชัดดี แล้วด้วยทิฏฐิ ๓. จำปาติโมกข์ทั้ง ๒ โดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะได้ดี ๔. เป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ไม่คลอนแคลน ๕. เป็นผู้อาจชี้แจงให้คู่ต่อสู้ในอธิกรณ์ยินยอมเข้าใจ เพ่ง เห็น เลื่อมใส อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่อ อธิกรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๒}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ พวกภิกษุก่ออธิกรณ์ องค์ ๕ คือ ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ๔. เป็นบัณฑิต ฉลาด ๕. ถูกซักถาม อาจให้คำตอบข้อซักถาม อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกภิกษุก่อ อธิกรณ์ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง เป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวก ภิกษุก่ออธิกรณ์ องค์ ๕ คือ ๑. รู้วัตถุ ๒. รู้นิทาน ๓. รู้พระบัญญัติ ๔. รู้บทที่ตกหล่นในภายหลัง ๕. รู้ถ้อยคำอันเกี่ยวเนื่องกันได้ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกภิกษุ ก่ออธิกรณ์”
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม
[๔๔๒] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล ไม่ควรซักถาม พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. ไม่รู้พระสูตร ๒. ไม่รู้ข้ออนุโลมพระสูตร ๓. ไม่รู้พระวินัย ๔. ไม่รู้ข้ออนุโลมพระวินัย ๕. ไม่ฉลาดในฐานะอันควรและฐานะอันไม่ควร อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรซักถาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๓}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. รู้พระสูตร ๒. รู้ข้ออนุโลมพระสูตร ๓. รู้พระวินัย ๔. รู้ข้ออนุโลมพระวินัย ๕. ฉลาดในฐานะอันควรและฐานะอันไม่ควร อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม อีกนัยหนึ่ง
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง ไม่ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. ไม่รู้พระธรรม ๒. ไม่รู้ข้ออนุโลมพระธรรม ๓. ไม่รู้พระวินัย ๔. ไม่รู้ข้ออนุโลมพระวินัย ๕. ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. รู้พระธรรม ๒. รู้ข้ออนุโลมพระธรรม ๓. รู้พระวินัย ๔. รู้ข้ออนุโลมพระวินัย ๕. ฉลาดในคำต้นและคำหลัง อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม อีกนัยหนึ่ง
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง ไม่ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. ไม่รู้วัตถุ ๒. ไม่รู้นิทาน ๓. ไม่รู้พระบัญญัติ ๔. ไม่รู้บทที่ตกหล่นในภายหลัง ๕. ไม่รู้ถ้อยคำอันเกี่ยวเนื่องกันได้ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรซักถาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๔}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๕. อัตตาทานวรรค

องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. รู้วัตถุ ๒. รู้นิทาน ๓. รู้บัญญัติ ๔. รู้บทที่ตกหล่นในภายหลัง ๕. รู้ถ้อยคำอันเกี่ยวเนื่องกันได้ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม อีกนัยหนึ่ง
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง ไม่ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. ไม่รู้อาบัติ ๒. ไม่รู้สมุฏฐานแห่งอาบัติ ๓. ไม่รู้ประโยคแห่งอาบัติ ๔. ไม่รู้ความระงับอาบัติ ๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. รู้อาบัติ ๒. รู้สมุฏฐานแห่งอาบัติ ๓. รู้ประโยคแห่งอาบัติ ๔. รู้ความระงับอาบัติ ๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรซักถาม
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม อีกนัยหนึ่ง
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อีกอย่าง ไม่ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. ไม่รู้อธิกรณ์ ๒. ไม่รู้สมุฏฐานแห่งอธิกรณ์ ๓. ไม่รู้ประโยคแห่งอธิกรณ์ ๔. ไม่รู้ความระงับอธิกรณ์ ๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรซักถาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๖๒๕}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อุปาลิปัญจกะ]

๖. ธุดงควรรค

องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรซักถาม องค์ ๕ คือ ๑. รู้อธิกรณ์ ๒. รู้สมุฏฐานแห่งอธิกรณ์ ๓. รู้ประโยคแห่งอธิกรณ์ ๔. รู้ความระงับอธิกรณ์ ๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์ อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรซักถาม”
อัตตาทานวรรคที่ ๕ จบ
หัวข้อประจำวรรค
ภิกษุผู้มีความประพฤติทางกาย วาจาบริสุทธิ์ ภิกษุผู้กล่าวโดยกาล มีความการุญ ควรเป็นผู้โจทก์ การทำโอกาส การรับอธิกรณ์ อธิกรณ์และการรับอธิกรณ์อีกนัยหนึ่ง ภิกษุผู้รู้วัตถุ รู้พระสูตร รู้ธรรม รู้วัตถุอีกนัยหนึ่ง รู้อาบัติ รู้อธิกรณ์


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๖๑๖-๖๒๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=110              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=11178&Z=11417                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1183              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=8&item=1183&items=8              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=8&item=1183&items=8                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/brahmali#pli-tv-pvr17:87.0 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/horner-brahmali#Prv.17.5



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :