ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

๖. กุฏิการสิกขาบท
ว่าด้วยการก่อสร้างกุฎี
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี
[๓๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน ที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีสร้างกุฎีด้วย เครื่องอุปกรณ์ที่ขอมาเอง ไม่มีเจ้าของสร้างให้ สร้างเป็นของส่วนตัว ไม่จำกัดขนาด กุฎีสร้างไม่เสร็จ พวกท่านก็เป็นผู้มากไปด้วยการขอ มากไปด้วยการออกปากขอ ด้วยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงให้คนงาน อุปกรณ์ก่อสร้างสำเร็จรูป โค เกวียน มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สิ่ว เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าแฝก หญ้าสามัญ ดินเหนียว” พวกชาวบ้านถูกรบกวนด้วยการขอ ด้วยการออกปากขอ พบเห็นภิกษุทั้ง หลายต่างพากันหวาดสะดุ้งบ้าง หลบหนีไปที่อื่นบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมิน หน้าหนีบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง พบเห็นแม่โคเข้าก็วิ่งหนีเพราะเข้าใจว่าเป็นภิกษุบ้าง ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจำพรรษาในเขตกรุงราชคฤห์ ออกเดินทางไป ทางเมืองอาฬวี จาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองอาฬวี ข่าวว่าท่านพระมหากัสสปะพัก อยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านครองอันตรวาสก ถือ บาตรและจีวรไปบิณฑบาตในเมืองอาฬวี พวกชาวบ้านพอเห็นท่านต่างหวาดสะดุ้งบ้าง หลบหนีไปที่อื่นบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าหนีบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านพระมหากัสสปะบิณฑบาตในเมืองอาฬวี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหาร เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนเมืองอาฬวีมีอาหารบริบูรณ์ หาอาหารได้ง่าย ภิกษุสงฆ์บิณฑบาตหาเลี้ยงชีพได้ง่าย แต่บัดนี้ เมืองอาฬวีกลับมี ข้าวยากหมากแพง อาหารหาได้ยาก ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เมืองอาฬวีนี้มีข้าวยากหมากแพง หาอาหารได้ยาก ยากที่พระอริยะ จะบิณฑบาตยังชีพได้” ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านทราบ [๓๔๓] ครั้งนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ตามพระ พุทธาภิรมย์แล้วได้เสด็จไปทางเมืองอาฬวี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองอาฬวี ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวีนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๗๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ครั้นถึง แล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอสร้างกุฎี ด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ขอมาเอง ไม่มีเจ้าของสร้างให้ สร้างเป็นของส่วนตัว ไม่จำกัด ขนาด กุฎีสร้างไม่เสร็จ พวกเธอเป็นผู้มากไปด้วยการขอ มากไปด้วยการออกปากขอ ด้วยกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลายจงให้คนงาน อุปกรณ์ก่อสร้างสำเร็จรูป โค เกวียน มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สิ่ว เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าแฝก หญ้าสามัญ ดินเหนียว’ พวกชาวบ้านถูกรบกวนด้วยการขอ ด้วยการออกปากขอ พบเห็นเธอทั้งหลายต่าง พากันหวาดสะดุ้งบ้าง หลบหนีไปที่อื่นบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าหนีบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง พบเห็นแม่โคเข้าก็วิ่งหนีเพราะเข้าใจว่าเป็นภิกษุบ้าง จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอไม่สมควร ฯลฯ ไม่ควรทำ โมฆบุรุษทั้ง หลาย ไฉนพวกเธอจึงสร้างกุฎีด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ขอมาเอง ไม่มีเจ้าของสร้างให้ สร้างเป็นของส่วนตัว ไม่จำกัดขนาด กุฎีสร้างไม่เสร็จ พวกเธอเป็นผู้มากไปด้วย การขอ มากไปด้วยการออกปากขอ ด้วยกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงให้คนงาน อุปกรณ์ก่อสร้างสำเร็จรูป โค เกวียน มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สิ่ว เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้า มุงกระต่าย หญ้าแฝก หญ้าสามัญ ดินเหนียว’ ดังนี้ โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงตำหนิพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีโดย ประการต่างๆ แล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมให้ คล้อยตามกับเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า
เรื่องฤๅษี ๒ พี่น้อง
[๓๔๔] “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤๅษีพี่น้อง ๒ คน อาศัยอยู่ ใกล้แม่น้ำคงคา ครั้งนั้น มณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤๅษีผู้น้องถึงที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

อยู่ ครั้นถึงแล้วได้พักวงขนดหางล้อมรอบฤๅษี ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกเหนือศีรษะ ฤๅษีผู้น้องกลับซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะความหวาด กลัวนาคราช ฤๅษีผู้พี่เห็นฤๅษีผู้น้องซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึง ถามว่า “เพราะเหตุไร เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง” ฤๅษีผู้น้องตอบว่า “ที่นี้มีมณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคามาหากระผม แล้วพักวงขนดหางล้อมรอบกระผม ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกเหนือศีรษะ เพราะ ความกลัวนาคราชนั้น กระผมจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง’ ฤๅษีผู้พี่ถามว่า “เธอต้องการไม่ให้นาคราชมาหาใช่ไหม” ฤๅษีผู้น้องตอบว่า “กระผมต้องการไม่ให้นาคราชนั้นมาหา” ฤๅษีผู้พี่ถามว่า “เธอเห็นนาคราชมีอะไรบ้าง” ฤๅษีผู้น้องตอบว่า “กระผมเห็นแก้วมณีประดับที่คอ” ฤๅษีผู้พี่กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงกล่าวขอแก้วมณีนาคราชว่า ท่านจงให้ แก้วมณีแก่อาตมาเถิด อาตมาอยากได้” ภิกษุทั้งหลาย ครั้นมณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤๅษีผู้น้อง ถึงที่อยู่ พักอยู่ ณ ที่สมควร ฤๅษีผู้น้องกล่าวว่า “ท่านจงให้แก้วมณีแก่อาตมา อาตมาอยากได้” นาคราชคิดว่า “ภิกษุขอแก้วมณี ภิกษุอยากได้แก้วมณี” แล้วรีบ หลีกไปทันที แม้ครั้งที่ ๒ มณีกัณฐกนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคา เข้าไปหาฤๅษีผู้น้อง ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ฤๅษีผู้น้องกล่าวว่า “ท่านจงให้แก้วมณีแก่อาตมา อาตมาอยากได้” ลำดับนั้น มณีกัณฐนาคราชกล่าวกับฤๅษีผู้น้องเป็นคาถาว่า “เพราะแก้วมณีดวงนี้เป็นเหตุ ทำให้ข้าวน้ำเกิดขึ้นแก่ ข้าพเจ้ามากมาย ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่าน เป็นคนขอเกินไป ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมท่านอีกแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ท่านขอแก้วมณีจนทำให้ข้าพเจ้าหวาดกลัว เหมือน ชายหนุ่มถือดาบคมที่ลับด้วยหินทำให้ผู้อื่นสะดุ้งกลัว ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมท่านอีกแล้ว”๑- ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้ว มณีกัณฐนาคราชจากไปพร้อมกับรำพึงว่า “ภิกษุขอ แก้วมณี ภิกษุอยากได้แก้วมณี” ไปแล้วไม่หวนกลับมาอีกเลย ต่อมาฤๅษีผู้น้อง กลับซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งยิ่งกว่าแต่ก่อนเพราะไม่ได้พบ นาคราชรูปงามน่าดู ฤๅษีผู้พี่เห็นฤๅษีผู้น้องซูบผอม ฯลฯ ถามว่า “เพราะเหตุไรเธอ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งยิ่งกว่าแต่ก่อน” ฤๅษีผู้น้องตอบว่า “กระผมซูบผอม ฯลฯ เพราะกระผมไม่เห็นนาคราชรูปงาม น่าดูนั้น” ฤๅษีผู้พี่กล่าวเป็นคาถาว่า “บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา อนึ่งเพราะ ขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง นาคราชถูกฤๅษีขอ แก้วมณี จึงไม่หวนกลับมาให้ฤๅษีเห็นอีกเลย”๒- ภิกษุทั้งหลาย การขอ การออกปากขอ ย่อมไม่เป็นที่พอใจแม้ของพวกสัตว์ ดิรัจฉานเหล่านั้น ไม่จำต้องกล่าวถึงพวกมนุษย์เลย
เรื่องนกฝูงใหญ่
[๓๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง เชิงภูเขาหิมพานต์ ไม่ไกลจากที่นั้นมีหนองน้ำใหญ่ นกฝูงใหญ่เที่ยวหาอาหารที่ หนองน้ำตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็เข้าไปอาศัยราวป่า ภิกษุนั้นรำคาญเสียงนกจึง เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ กราบไหว้เราแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร เราถามเธอว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ เธอมา จากไหน” @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๗-๘/๗๕ @ ขุ.ชา. ๒๗/๙/๗๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า แถบภูเขาหิมพานต์มีราว ป่าใหญ่ ไม่ไกลจากที่นั้น มีหนองน้ำใหญ่ นกฝูงใหญ่เที่ยวหาอาหารที่หนองน้ำ ตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็เข้าไปอาศัยราวป่า ข้าพระพุทธเจ้ารำคาญเสียงนกจึงหนี มาจากที่นั้น” “เธอต้องการไม่ให้ฝูงนกมาใช่ไหม” “ข้าพระองค์ ต้องการไม่ให้ฝูงนกมา พระพุทธเจ้าข้า” “ถ้าอย่างนั้น เธอจงกลับไปยังราวป่า แล้วเวลาปฐมยามแห่งราตรี ประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า ‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ ๑ อัน’ เวลามัชฌิมยามประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า ‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ ๑ อัน’ เวลาปัจฉิมยามก็ประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า ‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ ๑ อัน’ ต่อมา ภิกษุนั้นกลับไปยังราวป่า เวลาปฐมยามแห่งราตรี ประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า “นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ ๑ อัน” เวลามัชฌิมยาม ฯลฯ ปัจฉิมยาม ก็ประกาศเช่นนั้น ๓ ครั้งว่า “นกที่อาศัยราวป่านี้ มีเท่าใด จงฟังข้าพเจ้า ฯลฯ จงให้ขนแก่เราตัวละ ๑ อัน” ครั้นฝูงนกรู้ว่า “ภิกษุขอขน ภิกษุต้องการขน” ก็พากันบินหนีจากไปแล้วไม่หวนกลับมาอีกเลย ภิกษุทั้งหลาย การขอ การออกปากขอ ย่อมไม่เป็นที่พอใจแม้ของพวกสัตว์ ดิรัจฉานเหล่านั้น ไม่จำต้องกล่าวถึงพวกมนุษย์เลย
เรื่องรัฐบาลกุลบุตร
[๓๔๖] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บิดาของรัฐบาลกุลบุตร กล่าวเป็น คาถาว่า “ลูกรัฐบาล คนจำนวนมากพากันมาขอพ่อทั้งที่พ่อก็ ไม่รู้จัก ไฉนลูกจึงไม่ขอพ่อบ้างเล่า” รัฐบาลกุลบุตรกล่าวตอบบิดาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๖. กุฏิการสิกขาบท พระบัญญัติ

“คนขอย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ถูกขอ คนถูกขอ เมื่อ ไม่ให้ ก็ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ขอ เพราะฉะนั้น ลูกจึง ไม่ขอพ่อ อย่าให้ลูกเป็นคนน่าชังของพ่อเลย”๑- ภิกษุทั้งหลาย รัฐบาลกุลบุตรยังกล่าวกับบิดาของตนอย่างนี้ ไม่จำต้องกล่าว ถึงคนอื่นที่กล่าวกับคนอื่นเลย [๓๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติของคฤหัสถ์รวบรวมไว้ได้ยาก เมื่อได้มา ก็เก็บรกษาไว้ได้ยาก โมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อทรัพย์สมบัติที่พวกคฤหัสถ์รวบรวมไว้ ได้ยาก ทั้งเมื่อได้มาแล้วก็เก็บรักษาไว้ได้ยากเช่นนี้ เธอทั้งหลายกลับเป็นผู้มากไป ด้วยการขอ เป็นผู้มากไปด้วยการออกปากขอด้วยการกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลายจงให้ คนงาน อุปกรณ์ก่อสร้างสำเร็จรูป โค เกวียน มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สิ่ว เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าแฝก หญ้าสามัญ ดินเหนียว’ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๔๘] ก็ ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีที่ไม่มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วน ตัว ด้วยการขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ขนาด ขนาดในการสร้างนั้น ดังนี้ : ยาว ๑๒ คืบ กว้าง ๗ คืบ โดยคืบพระสุคต๒- ต้องพาภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ ภิกษุ เหล่านั้นพึงแสดงพื้นที่ไม่มีอันตราย๓- เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ถ้าภิกษุสร้าง กุฎีด้วยการขอเอาเอง ในที่ที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ไม่พา ภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงพื้นที่ให้ หรือสร้างให้เกินขนาด เป็นสังฆาทิเสส๔-
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๕๕/๑๖๙ @ มาตราวัดขนาดสิ่งของที่ใช้ในครั้งพุทธกาล ๑ คืบพระสุคต เท่ากับ ๓ คืบของคนสัณฐานปานกลาง @ สารมฺภํ อนารมฺภนฺติ สอุปทฺทวํ อนุปทฺทวํ คำว่า สารมฺภํ หมายถึงมีอันตราย คำว่า อนารมฺภํ หมายถึง @ไม่มีอันตราย (วิ.อ. ๒/๓๔๙/๖๓) @ เป็นสังฆาทิเสส ๒ กรณี คือ (๑) ไม่พาสงฆ์ไปแสดงพื้นที่ (๒) สร้างเกินขนาด เป็นทุกกฏ ๒ กรณี คือ @(๑) ที่มีอันตราย (๒) ไม่มีบริเวณโดยรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๘๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๗๘-๓๘๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=1&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=16207&Z=16375                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=494              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=494&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=1222              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=494&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=1222                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss6/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :