ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๗. วีมังสกสูตร
ว่าด้วยผู้ตรวจสอบ๑-
[๔๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ ผู้ตรวจสอบ มี ๓ จำพวก คือ (๑) อัตถวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น @(๒) สังขารวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาสังขารธรรม โดยลักษณะของธรรมนั่น โดยสามัญญลักษณะ และ @โดยวิภาคธรรม (๓) สัตถุวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาตรวจสอบพระศาสดา เช่น พิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่า @ศาสดาต้องมีคุณเช่นนี้ๆ ในสูตรนี้ หมายเอาสัตถุวีมังสกะ (ม.มู.อ. ๒/๔๘๗/๒๘๖, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๘๗/๓๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๗. วีมังสกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการพิจารณา ตรวจสอบตถาคตเพื่อทราบว่า ‘ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต
[๔๘๘] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึง พิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ ประการ คือ (๑) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา (๒) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอัน เศร้าหมองหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคต มิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึง รู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน๑- หรือไม่’ เมื่อพิจารณา ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ ทางหูอันเจือกัน’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้ แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบ ตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ @เชิงอรรถ : @ เจือกัน หมายถึงเป็นสิ่งผสมกัน กล่าวคือบางครั้งเป็นธรรมดำ บางคราวเป็นธรรมขาว (ม.มู.อ. ๒/๔๘๘/๒๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๗. วีมังสกสูตร

เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อตรวจสอบตถาคต นั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาล ช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่’ เพราะภิกษุ ยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมี ชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณา ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้ มีโทษบางอย่างในโลกนี้’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจาก สิ้นราคะ’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’ หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้ ท่านกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนิน ไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิส ในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘เราเป็น ผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจาก ราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๗. วีมังสกสูตร

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น
[๔๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณา รูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหู อันเศร้าหมองหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ ทางหูอันเจือกันหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’ ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ ทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่ จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง เป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา’ สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดง ธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาว แก่ภิกษุโดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว’ หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่าน ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มี พระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาว แก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๘. โกสัมพิยสูตร

ส่วนดำและส่วนขาวแก่เราโดยประการใด เราก็รู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น โดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในพระศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีไว้แล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ [๔๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในตถาคต มีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้เรากล่าวว่ามีเหตุ มีทัสสนะเป็นมูล๑- มั่นคง ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงให้หวั่นไหวได้ ภิกษุทั้งหลาย การตรวจสอบธรรมในตถาคต ย่อมมีอย่างนี้ ตถาคตเป็นผู้ที่ ภิกษุพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยธรรม อย่างนี้แล” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
วีมังสกสูตรที่ ๗ จบ
๘. โกสัมพิยสูตร
ว่าด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน
[๔๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน @เชิงอรรถ : @ มีทัสสนะเป็นมูล ในที่นี้หมายถึงมีโสดาปัตติมรรคเป็นมูลเหตุ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๐/๒๙๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๕๒๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๕๒๕-๕๒๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=9904&Z=9991                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=535              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=535&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=7327              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=535&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=7327                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i535-e1.php# https://suttacentral.net/mn47/en/sujato https://suttacentral.net/mn47/en/horner https://suttacentral.net/mn47/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :