ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

๔. ราชวรรค
หมวดว่าด้วยพระราชา
๑. ฆฏิการสูตร
ว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทางแล้วได้ทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคต๑- ทั้งหลายย่อมไม่ทรงแย้ม พระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมอัญชลีไปทาง ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้ทูลถามพระองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคมมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง หนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่า ที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนาม ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มี พระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสสอน ภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๐ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับ นั่ง ณ ที่นี้เถิด ภาคพื้นส่วนนี้จักเป็นส่วนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ทรงใช้สอย” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้รับสั่งเรียกท่าน พระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนาม ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่า ที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้ [๒๘๓] อานนท์ ในเวคฬิงคนิคม ได้มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากผู้เลิศ ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมาณพ ชื่อโชติปาละเป็นสหายที่รักกันของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า ‘มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่า การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับโชติปาลมาณพว่า ‘มาเถิด โชติปาละ เพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้พระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็น พระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจึงกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เรานำจุรณ ถูตัว๑- ไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำกันเถิด’ โชติปาลมาณพรับคำแล้ว ลำดับนั้น ช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้นำจุรณถูตัวไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ [๒๘๔] อานนท์ ต่อมา ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ได้เรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกล จากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนาม ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็น พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็น ความดี’ แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพก็กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็น พระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’ @เชิงอรรถ : @ จุรณถูตัว หมายถึงเครื่องหอมที่เป็นผงละเอียด อาจทำให้เป็นก้อนเก็บไปใช้ได้ทุกเวลา (ที.ม.อ. ๒/๓๗๙/๓๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้จับชายพกของโชติปาลมาณพแล้วกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ ลำดับนั้น โชติปาลมาณพให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วกล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะนั้นจับที่ผมของโชติปาละมาณพผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้วกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ ต่อมา โชติปาลมาณพได้คิดว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่ช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะผู้มีสกุลรุนชาติต่ำ บังอาจมาจับผมของเราผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว การที่ เราจะไปด้วยนี้ เห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย’ แล้วได้กล่าวกับช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก การที่เพื่อนทำความพยายามตั้งแต่พูดชักชวน จับที่ชายพก จนล่วงเลยถึงบังอาจจับที่ผมของเรานั้น ก็เพื่อจะชวนให้ไปในสำนักของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เท่านั้นเองหรือ’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘เท่านั้นเอง โชติปาละเพื่อนรัก จริงอย่างนั้น การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’ โชติปาลมาณพกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ปล่อยเราเถิด พวกเรา จักไปด้วยกัน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

[๒๘๕] อานนท์ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ ประทับ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ส่วนโชติปาลมาณพได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือโชติปาละมาณพผู้เป็น สหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมแก่โชติปาลมาณพนี้เถิด’ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพเห็นชัด ชวนใจให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา๑- จากนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทำประทักษิณ แล้วจากไป [๒๘๖] อานนท์ ครั้งนั้น โชติปาลมาณพได้ถามช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ท่านเมื่อฟังธรรมนี้ หลังจากนี้จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต หรือไม่’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะตอบว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ท่านก็รู้อยู่มิใช่หรือว่า ‘เราต้อง เลี้ยงดูมารดาบิดาซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา’ @เชิงอรรถ : @ ธรรมีกถา ในที่นี้หมายถึงธรรมีกถาที่เกี่ยวข้องกับขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในชาติก่อนเพื่อการได้สติ @(ม.ม.อ. ๒/๒๘๕/๒๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

โชติปาลมาณพจึงกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เราจักออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตเอง’ ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือ โชติปาลมาณพ ผู้เป็นสหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงบวช ให้โชติปาลมาณพนี้ด้วยเถิด’ โชติปาลมาณพได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนาม ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรื่องพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
[๒๘๗] อานนท์ ครั้งนั้น เมื่อโชติปาลมาณพอุปสมบทได้ไม่นานประมาณ กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในเวคฬิงคนิคมตามควรแก่อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางเขตกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปแล้วโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี อานนท์ ได้ยินว่า ในคราวนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง พาราณสี พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงสดับข่าวว่า ‘ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงกรุงพาราณสี ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน’ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกี รับสั่งให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคัน ทรงขึ้นยานพาหนะคันงามเสด็จจาก เขตกรุงพาราณสีพร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จด้วยราชานุภาพอย่าง ยิ่งใหญ่ เพื่อทรงเยี่ยมพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จไปจนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้ จึงเสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

สมควร พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา พระเจ้ากาสี ทรงพระนามว่ากิกีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของ หม่อมฉันในวันพรุ่งนี้เถิด’ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับ นิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทรงลุกจากที่ ประทับ ถวายอภิวาท ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป เมื่อล่วงราตรีนั้นไป พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้รับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ล้วนเป็น ข้าวสาลีซึ่งอ่อนละมุน เก็บกากออกหมดแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ในพระราช- นิเวศน์ของท้าวเธอ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า’ [๒๘๘] อานนท์ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยัง พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วย พระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีก็เลือกประทับนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

ผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด พระสงฆ์ จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด พระสงฆ์จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’ ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเสียพระทัย ทรงโทมนัสว่า ‘พระผู้มี พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์ การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของเรา’ จากนั้น ได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ มีใครอื่นที่เป็นผู้อุปัฏฐากยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ พระพุทธเจ้าข้า’
พระกัสสปพุทธเจ้าทรงสรรเสริญช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘มหาบพิตร มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐาก ผู้เลิศของอาตมภาพ’ พระองค์ทรงเสียพระทัย มีความโทมนัสว่า ‘พระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ในกรุงพาราณสีของเรา’ แต่ความเสียใจและความโทมนัสนั้นย่อมไม่มี และจักไม่มีแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เพราะช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์ เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เว้นขาดจากอทินนาทาน(การ ลักทรัพย์) เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) เว้นขาดจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

มุสาวาท(การพูดเท็จ) เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน(การเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท) ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธเจ้า เป็นผู้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรม เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคง ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะรักใคร่ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้หมดความ สงสัยในทุกข์ เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขสมุทัย เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธ เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บริโภคภัตรมื้อเดียว เป็นพรหมจารี มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่ใช้แก้วมณีและทองคำเป็นเครื่องประดับ ปราศจากการใช้ ทองและเงิน มหาบพิตร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ไม่ใช้พลั่วและมือของตนขุดแผ่นดิน หาบแต่ดิน ริมตลิ่งที่พังหรือขุยหนูมาใช้ทำเป็นภาชนะ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการภาชนะ สำหรับใส่ข้าวสาร ใส่ถั่วเขียว ใส่ถั่วดำ ขอให้นำภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด’ ช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะเลี้ยงดูมารดาบิดา ซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา (หลังจากตายแล้ว) ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นอีก [๒๘๙] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดา ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปที่ไหนเสียเล่า’ มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐาก ของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง เสวยเถิด’ ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้ว ได้ถามว่า ‘ใครมารับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้วลุกจากอาสนะ จากไป’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง เสวย แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป’ มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน [๒๙๐] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดาของ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปไหนเสียเล่า’ มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐาก ของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับขนมกุมมาสจากกระเช้านี้ รับแกงจาก หม้อแกงเสวยเถิด’ ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ‘ใครมารับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป’ มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงเสวย แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว’ มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

[๒๙๑] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ขณะนั้น กุฏิรั่วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปดูว่าในเรือน ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีหญ้าหรือไม่‘’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น(ไปดูกลับมาแล้ว)ได้กล่าวกับ อาตมภาพว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะไม่มีหญ้า มีแต่ หญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขาเท่านั้น’ อาตมภาพจึงได้สั่งภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไป รื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ’ ภิกษุเหล่านั้นได้ไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า ‘พวกใครเล่ามารื้อ หญ้ามุงหลังคาเรือน’ ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ‘คุณโยม กุฏิของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’ มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘นำไปเถิดเจ้าข้า นำไปตาม สะดวกเถิด พระคุณเจ้า’ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วถามว่า ‘พวกใคร เล่ามารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือน’ มารดาบิดาตอบว่า ‘ลูกเอ๋ย ภิกษุทั้งหลายบอกว่า ‘กุฏิของพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’ ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคย อย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑. ฆฏิการสูตร

มหาบพิตร ครั้งนั้น เรือนที่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอาศัยอยู่หลังนั้น มีอากาศเป็น หลังคาอยู่ตลอด ๓ เดือน ถึงฝนตกก็ไม่รั่ว ช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีคุณเช่นนี้’ พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภ ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะหนอ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ [๒๙๒] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงให้ราชบุรุษส่งเกวียน บรรทุกข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิกสาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกง พอสมควรกับข้าวสารนั้นไปพระราชทานแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ราชบุรุษทั้งหลาย เข้าไปหาช่างหม้อชื่อฆฏิการะแล้วได้กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ นี้ข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิก- สาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกงพอสมควรกับข้าวสารนั้น พระเจ้า กิกีกาสีทรงส่งมาพระราชทานแก่ท่านแล้ว จงรับของพระราชทานเหล่านั้นไว้เถิด’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘พระราชามีพระราชกิจมาก มีพระราชกรณียกิจ มาก สิ่งของที่พระราชทานมานี้อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด’ อานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น โชติปาลมาณพคงเป็นคนอื่นเป็นแน่ แต่เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราก็คือโชติปาลมาณพนั่นเอง” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ฆฏิการสูตรที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๓๗-๓๔๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=31              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6596&Z=6824                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=403              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=403&items=20              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5108              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=403&items=20              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5108                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i403-e1.php# https://suttacentral.net/mn81/en/sujato https://suttacentral.net/mn81/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :