ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๘. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยมาณพชื่อวาเสฏฐะ
[๔๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน ชื่ออิจฉานังคละ สมัยนั้น ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ มีพราหมณมหาศาลผู้มีชื่อเสียง มาพักอยู่หลายคน คือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชานุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์๑- และยังมีพราหมณมหาศาลผู้มีชื่อเสียงคน อื่นๆ อีก ครั้งนั้น เมื่อมาณพชื่อวาเสฏฐะกับมาณพชื่อภารทวาชะ เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้สนทนากันค้างไว้ อย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรบุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์” ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้มีชาติกำเนิดมาดี ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์” @เชิงอรรถ : @ จังกีพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านโอปาสาทะ ตารุกขพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านอิจฉานังคละ โปกขรสาติพราหมณ์อยู่ @ที่เมืองอุกกัฏฐะ ชาณุสโสณิพราหมณ์อยู่ที่กรุงสาวัตถี โตเทยยพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ พราหมณ์ทั้ง ๕ @เป็นพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าเสนทิโกศล (ที.สี.อ. ๑/๕๑๙/๓๓๒, ม.ม.อ. ๒/๔๕๔/๓๐๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

วาเสฏฐมาณพกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้มีศีลและถึงพร้อมด้วยวัตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์” ภารทวาชมาณพไม่อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้ ถึงวาเสฏฐมาณพก็ไม่อาจ ให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้เหมือนกัน ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้เรียกภารทวาช- มาณพมากล่าวว่า “พระสมณโคดมผู้เป็นศากยบุตรนี้ เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ อยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมี กิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ มาเถิด ท่าน ภารทวาชะ เราทั้งหลายจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับแล้วทูลถามเนื้อความนี้ พระสมณโคดมจักตรัสตอบแก่เราทั้งหลายอย่างไร เราทั้งหลายจักทรงจำเนื้อความนั้น ไว้อย่างนั้น” ภารทวาชมาณพรับคำแล้ว [๔๕๕] ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า “ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ทรงไตรเพท๑- อันอาจารย์อนุญาตแล้ว และปฏิญญาได้เองว่า ‘เป็นผู้ได้ศึกษาแล้ว’ ข้าพระองค์เป็นศิษย์ท่านโปกขรสาติพราหมณ์ มาณพผู้นี้เป็นศิษย์ท่านตารุกขพราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๘๓ (พรหมายุสูตร) หน้า ๔๗๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

ข้าพระองค์ทั้งสองรู้จบบท ที่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทบอกแล้ว เป็นผู้มีข้อพยากรณ์แม่นยำตามบท เช่นเดียวกันกับอาจารย์ในการกล่าวมนตร์ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสอง โต้เถียงกันในการกล่าวถึงชาติกำเนิด คือภารทวาชมาณพกล่าวว่า ‘บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด’ ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า ‘บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม๑-’ พระองค์ผู้มีพระจักษุขอจงทรงทราบอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้น ไม่อาจจะให้กันและกันยินยอมได้ จึงได้มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปรากฏด้วยอาการอย่างนี้ ชนทั้งหลายเมื่อจะเข้าไปประนมมือถวายบังคม ก็จักถวายอภิวาทพระโคดมได้ทั่วโลก เหมือนดวงจันทร์เต็มดวงฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระโคดม ผู้เป็นดวงจักษุอุบัติขึ้นในโลกว่า ‘บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด หรือบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม’ ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งสองผู้ไม่ทราบ โดยประการที่จะทราบถึงบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นเถิด” @เชิงอรรถ : @ กรรม หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.ม.อ. ๒/๔๕๕/๓๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

พราหมณ์ในพระพุทธศาสนา
[๔๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยคาถาว่า “วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลายตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์ เธอทั้งหลายรู้จักหญ้าและต้นไม้ แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้ หญ้าและต้นไม้เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด เพราะธรรมชาติของพวกมันต่างกัน ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลงคือตั๊กแตน ตลอดจนถึงพวกมดดำ มดแดง สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ ๔ เท้าทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน เธอทั้งหลายจงรู้จักพวกสัตว์เลื้อยคลาน ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา และสัตว์น้ำ ประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

รูปร่างสัณฐานของพวกสัตว์เหล่านี้ ต่างกันตามกำเนิดมากมาย ฉันใด แต่ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกัน ไปตามกำเนิดมากมาย ฉันนั้น คือ ผมก็ไม่แตกต่างกัน ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์ มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน ผิวพรรณ หรือเสียงก็ไม่แตกต่างกัน ในหมู่มนุษย์ จึงไม่มีรูปร่างสัณฐานตามกำเนิด แตกต่างกันมากมายเหมือนในกำเนิดอื่นๆ เลย [๔๕๗] ในหมู่มนุษย์ ในสรีระของแต่ละคน ไม่มีความแตกต่างกันเฉพาะตัว การเรียกกันในหมู่มนุษย์ เขาเรียกตามบัญญัติ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยศิลปะหลายอย่าง ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลปะ ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้คนอื่น ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยทรัพย์ที่ลักเขามาเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศร และศัสตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต ผู้นั้นเรียกว่า ผู้ประกอบพิธีกรรม ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์’ เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด เกิดในครรภ์มารดาว่า เป็นพราหมณ์ ถ้าเขายังเป็นผู้มีกิเลสเครื่องกังวลอยู่ เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่าโภวาทีเท่านั้น เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล หมดความยึดมั่นถือมั่นนั้นว่า เป็นพราหมณ์ [๔๕๘] เราเรียกผู้ตัดสังโยชน์๑- ได้ทั้งหมด ไม่หวาดสะดุ้ง พ้นจากกิเลสเครื่องข้อง ปราศจากโยคะว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกผู้ตัดชะเนาะคือความโกรธ ตัดเชือกคือตัณหา ตัดหัวเงื่อนคือทิฏฐิ ๖๒ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๖๙ (นฬกปานสูตร) หน้า ๑๙๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

พร้อมทั้งสายโยงคืออนุสัยกิเลสได้ ถอดลิ่มสลักคืออวิชชา ตรัสรู้อริยสัจแล้วว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นต่อคำด่า การทุบตี และการจองจำ มีขันติธรรมเป็นพลัง มีพลังใจเข้มแข็งว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกผู้ไม่โกรธ มีวัตรเคร่งครัด มีศีลบริสุทธิ์ ไม่มีตัณหาฟูใจขึ้นอีก ฝึกตนได้แล้ว มีสรีระเป็นชาติสุดท้ายว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกผู้ไม่ติดใจในกามทั้งหลาย เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลมนั้นว่า เป็นพราหมณ์ ในศาสนานี้ เราเรียกผู้ที่รู้ชัด ถึงภาวะสิ้นกองทุกข์ของตน ปลงขันธภาระลงได้แล้ว ปราศจากกิเลสทั้งปวงว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในทางและมิใช่ทางบรรลุอรหัตตผล ที่เป็นประโยชน์สูงสุดแล้วว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย เที่ยวจาริกไป ไร้กังวล มีความมักน้อยว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้งดเว้นจากการเบียดเบียน ทำร้ายสัตว์ทุกจำพวก ทั้งที่สะดุ้ง และที่มั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าว่า เป็นพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

เราเรียกบุคคลผู้ไม่คิดร้าย เมื่อบุคคลอื่นยังคิดร้าย ผู้สงบระงับเมื่อบุคคลอื่นยังมีอาชญาในตน ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นเมื่อบุคคลอื่น ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะ ให้ตกไปจากจิตได้ เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไป จากปลายเหล็กแหลมว่า เป็นพราหมณ์ [๔๕๙] เราเรียกบุคคลผู้เปล่งถ้อยคำไม่หยาบ ให้รู้ความกันได้เป็นคำจริง ซึ่งไม่เป็นเหตุทำใครๆ ให้ข้องอยู่ว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่ถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ในโลกนี้ ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น จะเล็กหรือใหญ่ จะสวยงามหรือไม่สวยงามก็ตามว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่มีความหวัง อยากเป็นโน่นเป็นนี่ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า หมดความทะยานอยากโดยสิ้นเชิง มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้วว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่มีความอาลัยคือตัณหา รู้แจ้งชัดจนหมดความสงสัย มีจิตน้อมไปสู่อมตธรรม จนบรรลุได้ในที่สุดว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ละบุญและบาปทั้ง ๒ ได้ ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องแล้ว หมดความเศร้าโศก ปราศจากธุลีคือกิเลส เป็นผู้บริสุทธิ์ว่า เป็นพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

เราเรียกบุคคลผู้หมดสิ้นตัณหา ที่นำไปเกิดในภพทั้ง ๓ มีจิตไม่มัวหมอง ผ่องใสบริสุทธิ์ดุจดวงจันทร์วันเพ็ญ ที่ปราศจากเมฆหมอกว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ข้ามพ้นทางอ้อมคือราคะ ทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อคือกิเลส สังสารวัฏฏ์ และโมหะได้แล้ว เป็นผู้ข้ามโอฆะไปถึงฝั่ง มีจิตเพ่งพินิจอยู่เสมอ ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัยว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลในโลกนี้ ผู้ละกามทั้งหลาย บวชเป็นบรรพชิต สิ้นภวตัณหาแล้วว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลในโลกนี้ ผู้ละตัณหาได้แล้ว บวชเป็นบรรพชิต สิ้นกามและภพแล้วว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ละโยคะที่เป็นของมนุษย์แล้ว ล่วงพ้นโยคะที่เป็นของทิพย์เสียได้ มีจิตหลุดพ้นจากโยคะทั้งหมดว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ละได้ทั้งความยินดี๑- และความยินร้าย๒- เป็นผู้สงบเยือกเย็น ปราศจากอุปธิกิเลส ครอบงำโลกคือขันธ์ทั้งหมดได้ มีความเพียรว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้รู้ชัดการจุติและการเกิด ของสัตว์ทั้งหลายโดยอาการทั้งปวง เป็นผู้ไม่ติดข้องดำเนินไปด้วยดี รู้แจ้งอริยสัจว่า เป็นพราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ความยินดี หมายถึงความพอใจอย่างยิ่ง ความยินดี ความสงบเย็นในเสนาสนะที่สงัด หรือในสภาวธรรมที่ @เป็นอกุศล เทียบกับนัยของความยินร้าย @ ความยินร้าย หมายถึงความไม่ยินดีอย่างยิ่ง ความกระสัน ความดิ้นรนในเสนาสนะที่สงัด หรือในสภาวธรรม @ที่เป็นอธิกุศล (ดู. อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๙๒๖/๕๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

เราเรียกบุคคลผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ผู้ไม่สามารถหยั่งรู้ถึงคติได้ สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน หมดความกังวล ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร แสวงหาคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ชนะมารได้แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องทำให้หวั่นไหว ชำระล้างกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งอริยสัจว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ระลึกถึงอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และนรก ถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้วว่า เป็นพราหมณ์ [๔๖๐] อันที่จริง นามและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก นามและโคตรปรากฏอยู่ได้ เพราะรู้ตามกันมา ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้นๆ นามและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้ เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานาน ของพวกคนผู้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้จึงกล่าวบุคคลว่า เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่ หรือไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่ บุคคลเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม หรือไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นช่างศิลปะก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นผู้รับใช้ก็เพราะกรรม บุคคลแม้เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นทหารอาชีพก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท มีความรู้ความเข้าใจในกรรมและผลของกรรม ย่อมพิจารณาเห็นกรรม ตามความเป็นจริงอย่างนี้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนรถมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้แล่นไปอยู่ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้ เพราะกรรมนี้ คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑- นี้ เป็นคุณธรรมสูงสุดของพราหมณ์ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ สงบ สิ้นภพใหม่แล้ว เป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่” @เชิงอรรถ : @ ชื่อว่า ตบะ เพราะมีธุดงค์เป็นตบะ ชื่อว่า พรหมจรรย์ เพราะงดเว้นจากเมถุนธรรม ชื่อว่า สัญญมะ เพราะ @มีศีล ชื่อว่า ทมะ เพราะฝึกอินทรีย์แล้ว (ม.ม.อ. ๒/๔๖๐/๓๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๙. สุภสูตร

[๔๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาช- มาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
วาเสฏฐสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๗๒-๕๘๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=11070&Z=11248                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=704              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=704&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7786              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=704&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7786                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i704-e1.php# https://suttacentral.net/mn98/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :