ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๖. อุปาลิวาทสูตร
ว่าด้วยวาทะของคหบดีชื่ออุบาลี
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาลันทา สมัยนั้นแล นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ที่ เมืองนาลันทา ต่อมา นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสี๑- ออกเที่ยวหาอาหารในเมืองนาลันทา กลับจากเที่ยวหาอาหารภายหลังเวลาอาหารแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงปาวาริกัมพวัน ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีซึ่งยืนอยู่ ที่นั้นแลว่า “ตปัสสี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงเลือกนั่ง ณ ที่ สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า @เชิงอรรถ : @ ทีฆตปัสสี หมายถึงนิครนถ์ผู้มีชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นผู้บำเพ็ญตบะมานาน (ม.ม.อ. ๒/๕๖/๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

เปรียบเทียบทัณฑะ ๓ กับกรรม ๓
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีว่า “ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตร บัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร” นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติ เป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘ทัณฑะ ทัณฑะ’ “ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ กรรมชั่วไว้เท่าไร” “ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการ ประพฤติกรรมชั่วไว้ ๓ ประการ คือ (๑) กายทัณฑะ (๒) วจีทัณฑะ (๓) มโนทัณฑะ” “ตปัสสี กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่งหรือ” “ท่านพระโคดม กายทัณฑะก็อย่างหนึ่ง วจีทัณฑะก็อย่างหนึ่ง มโนทัณฑะ ก็อย่างหนึ่ง” “ตปัสสี บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ (๑) กายทัณฑะ (๒) วจีทัณฑะ (๓) มโนทัณฑะ นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะ ไหนว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว” “ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติกายทัณฑะว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการ ประพฤติกรรมชั่ว มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ” “ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ” “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ” “ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ” “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ” “ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ” “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ” พระผู้มีพระภาคทรงให้นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสียืนยันคำพูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

[๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตปัสสี ตถาคตมิได้บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘ทัณฑะ ทัณฑะ’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม” “ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ กรรมชั่วไว้เท่าไร” “ตปัสสี เราบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้ ๓ ประการ คือ (๑) กายกรรม (๒) วจีกรรม (๓) มโนกรรม๑-” “ท่านพระโคดม กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง เท่านั้นหรือ” “ตปัสสี กายกรรมก็อย่างหนึ่ง วจีกรรมก็อย่างหนึ่ง มโนกรรมก็อย่างหนึ่ง เท่านั้น” “ท่านพระโคดม บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ (๑) กายกรรม (๒) วจีกรรม (๓) มโนกรรม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมไหนว่ามี โทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว” “ตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ เราบัญญัติ มโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว มิใช่กายกรรม หรือวจีกรรม” @เชิงอรรถ : @ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อธิบายว่า กายกรรม ได้แก่ เจตนา ๒๐ เป็นฝ่ายกามาวจรกุศล ๘ และ @เป็นฝ่ายอกุศล ๑๒ ที่ถึงการยึดถือ การรับ การปล่อย และการเคลื่อนไหวในกายทวาร วจีกรรม ได้แก่ @เจตนา ๒๐ เหล่านั้นแหละ ที่ไม่เกี่ยวกับการยึดถือเป็นต้นทางกายทวาร แต่เกี่ยวกับการเปล่งวาจาที่เกิด @ขึ้นทางวจีทวาร มโนทวาร ได้แก่ เจตนา ๒๙ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทาง @ทวารทั้ง ๒ (กายทวารและวจีทวาร) ที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร อีกนัยหนึ่ง กายกรรม หมายถึงกายทุจริต ๓ @วจีกรรม หมายถึงวจีทุจริต ๔ มโนกรรม หมายถึงมโนทุจริต ๓ (ม.ม.อ. ๒/๕๗/๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ” “ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม” “ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ” “ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม” “ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ” “ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม” นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในพระดำรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการอย่างนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่
อุบาลีอาสาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า
[๕๘] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรนั่งอยู่กับบริษัทคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านพาลกะ มีคหบดีชื่ออุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เห็นนิครนถ์ชื่อทีฆ- ตปัสสีเดินมาแต่ไกล จึงทักทายว่า “ตปัสสี เชิญทางนี้ ท่านมาจากไหนแต่วันเชียว” ทีฆตปัสสีตอบว่า “ผมมาจากสำนักของพระสมณโคดมนี้เอง ขอรับ” “ท่านได้สนทนาปราศรัยกับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่” “ก็ได้สนทนาปราศรัยบ้าง ขอรับ” “สนทนาปราศรัยกันถึงเรื่องอะไรเล่า” จากนั้น นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้เล่าเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ให้นิครนถ์ นาฏบุตรฟังทั้งหมด เมื่อนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเล่าจบ นิครนถ์ นาฏบุตร จึงกล่าวว่า “ดีละ ดีละ ตปัสสี การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรง ตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะ อันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการ ทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

[๕๙] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ดีละ ดีละ ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงดีแล้ว ถูกต้องแล้ว การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะดีงามได้ อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการทำกรรมชั่ว ในการ ประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นย่อมมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน- ทัณฑะเลย ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะในเรื่องนี้กับพระสมณโคดมเอง ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยัน เหมือนอย่างที่ท่านตปัสสียืนยันไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าจัก พูดตะล่อมวกไปวกมาหว่านล้อมให้งง เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับขนแกะที่มีขน ยาวฉุดดึงไปดึงมาหมุนจนงง หรือเปรียบเหมือนชายฉกรรจ์ผู้เป็นกรรมกรในโรงงาน สุรา ทิ้งกระสอบที่มีส่วนผสมสุราใบใหญ่ลงในบ่อหมักส่าที่ลึก แล้วจับที่มุมส่ายไป ส่ายมาสลัดออก ข้าพเจ้าจักขจัด บด ขยี้ซึ่งวาทะของพระสมณโคดมด้วยวาทะ เหมือนคนที่แข็งแรงเป็นนักเลงสุรา จับไหสุราคว่ำลง หงายขึ้น เขย่าจนน้ำสุรา สะเด็ด หรือข้าพเจ้าจักเล่นกีฬาซักป่านกับพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี ลงไปยังสระลึกเล่นกีฬาซักป่าน ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไป จักโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระ สมณโคดมเอง” “คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม” [๖๐] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้กล่าว กับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระ สมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายา เป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของอัญเดียรถีย์ได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลย๑- ที่อุบาลีคหบดีจะพึงเป็น สาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้๒- ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของอุบาลี- คหบดี คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริงเราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม” แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้เตือนนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะ พระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของอัญเดียรถีย์ได้” นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง เป็นสาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ อุบาลีคหบดี คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม” แม้ครั้งที่ ๓ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวเตือนนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน ผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของ อัญเดียรถีย์ได้” นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง เป็นสาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ อุบาลีคหบดี คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม” @เชิงอรรถ : @ เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ (เหตุ) และปฏิเสธโอกาส (ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒) @ เป็นไปได้ ในที่นี้หมายถึงยอมรับฐานะ (เหตุ) ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีรับคำนิครนถ์ นาฏบุตรแล้วลุกจากที่นั่ง ไหว้นิครนถ์ นาฏบุตร และกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ชื่อ ทีฆตปัสสีได้มาที่นี้บ้างไหม” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “มา คหบดี” “ท่านผู้เจริญ ท่านได้สนทนาปราศรัยกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีบ้างไหม” “ได้สนทนาบ้าง คหบดี” “ท่านผู้เจริญ ท่านได้สนทนาปราศรัยเรื่องอะไรกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีหรือ” จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับนิครนถ์ชื่อ ทีฆตปัสสีทั้งหมด แก่อุบาลีคหบดีทุกประการ [๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ดีละ ดีละ ท่านผู้เจริญ ทีฆตปัสสีชี้แจงดีแล้ว ถูกต้องแล้ว การที่นิครนถ์ ชื่อทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระผู้มีพระภาคฟังนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึง คำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ กรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะเลย” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี หากท่านจะพึงยึดมั่นอยู่ในคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราจึงจะสนทนาในเรื่องนี้ด้วย” อุบาลีคหบดีกราบทูลว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหา
[๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร นิครนถ์ในโลกนี้ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ถูกห้ามใช้น้ำเย็น ใช้แต่น้ำร้อน เมื่อเขา ไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติว่านิครนถ์ผู้นี้จะไปเกิด ณ ที่ไหน” อุบาลีคหบดีทูลตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหล่าเทพที่ชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ เขาย่อม เกิดในหมู่เทพนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเป็นผู้มีใจผูกพันตายไป” “คหบดี ท่านจงใส่ใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับ คำหลัง ของท่านจึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด” “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือ มโนทัณฑะเลย” [๖๓] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้นิครนถ์ นาฏบุตร พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่าง คือ ๑. เว้นน้ำดิบทุกอย่าง ๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง ๓. ล้างบาปทุกอย่าง ๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป แต่ขณะเธอก้าวไป ถอยกลับ ย่อมทำให้สัตว์เล็กๆ ตายไปเป็นอันมาก คหบดี นิครนถ์ นาฏบุตรจะบัญญัติว่า นิครนถ์ผู้นี้มีวิบากอย่างไร” “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรมที่ไม่จงใจว่ามีโทษมาก” “ถ้าเป็นกรรมที่จงใจเล่า คหบดี” “ก็เป็นกรรมมีโทษมาก ท่านผู้เจริญ” “นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติความจงใจไว้ในส่วนไหนเล่า คหบดี” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

“ในมโนทัณฑะ ท่านผู้เจริญ” “คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า จะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด” “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน- ทัณฑะเลย” [๖๔] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดม สมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น มิใช่หรือ” “ใช่ ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น” “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ชายคนหนึ่งในบ้านนาลันทานี้ เงื้อดาบขึ้นพร้อมกับพูดว่า ‘เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลาน เนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว’ ท่านเข้าใจความข้อนั้น ว่าอย่างไร เขาจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว ได้หรือไม่” “ท่านผู้เจริญ ต่อให้ชาย ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๔๐ คน ๕๐ คน ก็ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็น กองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียวได้ ชายผู้ต่ำทรามคนเดียวจะเก่งกาจอะไร ปานนั้น” “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความ เชี่ยวชาญทางจิตมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ‘เรา จักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว’ คหบดี ท่านเข้าใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว ได้หรือไม่” “ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ หลัง ๒๐ หลัง ๓๐ หลัง ๔๐ หลัง ๕๐ หลัง สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น ยังสามารถทำให้เป็น เถ้าได้ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว แล้วบ้านนาลันทาที่ทรุดโทรมหลังเดียวจะ คณนาอะไรเล่า” “คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด” “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน- ทัณฑะเลย” [๖๕] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบ ท่านได้ฟังมาแล้วมิใช่หรือ” “ใช่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว” “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบเพราะใคร” “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะได้กลายเป็นป่าทึบเพราะจิตคิดประทุษร้ายของพวกฤาษี” “คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๖๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพียงอุปมาข้อแรกข้าพระองค์ก็มีใจยินดีชื่นชม ต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะฟังปฏิภาณการชี้แจงปัญหา อันวิจิตรนี้ของพระผู้มีพระภาค ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงได้แสร้งทำเป็นเหมือนอยู่ ต่างฝ่ายกับพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” [๖๗] “คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเถิด๑- การใคร่ครวญก่อนแล้ว จึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์ อย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเถิด การใคร่ครวญก่อนแล้ว จึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน’ ข้าพระองค์ยิ่งมีใจยินดีชื่นชม ต่อพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น ด้วยว่า พวกอัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว ก็จะพึงเที่ยวประกาศไปทั่วหมู่บ้านนาลันทาว่า ‘อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพวกเรา’ @เชิงอรรถ : @ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า “ท่านควรใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเถิด” เพราะอุบาลีคหบดีเป็นผู้มี @ชื่อเสียงและเลื่อมใสพวกนิครนถ์มาช้านาน ถ้ารีบแสตงตนเป็นพุทธมามกะ คนจะครหาได้ว่า “พบนิครนถ์ @ก็ถึงนิครนถ์เป็นสรณะ พบพระก็ถึงพระเป็นที่พึ่ง” (ม.ม.อ. ๒/๖๗/๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ก็แล พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อน แล้วจึงทำเถิด การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียง เช่นท่าน’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” [๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวก นิครนถ์มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไป หาต่อไปเถิด” อุบาลีคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์ มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปหา ต่อไปเถิด’ นี้ ข้าพระองค์ยิ่งมีใจยินดีชื่นชมต่อพระผู้มีพระภาคมากยิ่งขึ้น ข้าพระองค์ ได้ฟังคำนี้มาว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘บุคคลควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น บุคคลควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่พวก สาวกของนักบวชเหล่าอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่คนเหล่าอื่น หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่ สาวกของนักบวชเหล่าอื่นหามีผลมากไม่’ แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคทรงชักชวน ให้ข้าพระองค์ให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์ ก็แล ข้าพระองค์จักทราบกาลอันสมควรใน การให้ทานนี้ต่อไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีบรรลุธรรม
[๖๙] หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา๑- แก่อุบาลีคหบดี คือ ทรงประกาศทานกถา๒- (เรื่องทาน) สีลกถา๓- (เรื่องศีล) สัคคกถา๔- (เรื่องสวรรค์) กามา- ทีนวกถา๕- (เรื่องโทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)และเนกขัมมานิสังสกถา๖- (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) เมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุบาลีคหบดี มีจิตควรบรรลุธรรม มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า(พระองค์ก่อนๆ) ทั้งหลาย ทรงยกขึ้น แสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผ้าขาวสะอาดปราศจากสิ่ง ปนเปื้อน จะพึงรับน้ำย้อมต่างๆ ได้อย่างดี แม้ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคหบดี ขณะที่นั่งอยู่นั่นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน @เชิงอรรถ : @ อนุปุพพีกถา หมายถึงเทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ จากง่าย @ไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจต่อไป ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้วควรรับน้ำย้อม @ต่างๆ ได้ด้วยดี (ม.ม.อ. ๒/๖๙/๖๘) @ ทานกถา หมายถึงกถาที่พรรณนาคุณของทานหลายนัย เช่น ทานเป็นเหตุแห่งความสุข เป็นมูลราก @แห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ก่อให้เกิดโภคสมบัติทั้งปวง อุปมาด้วยสิ่งต่างๆ ตามความหมายที่มุ่งถึง เช่น @ถ้ามุ่งถึงความหมายว่าเป็นที่ตั้ง ก็อุปมาด้วยแผ่นดินใหญ่ มุ่งถึงความหมายว่าหน่วงเหนี่ยว ก็อุปมาด้วย @เชือกโยง (ม.ม.อ. ๒/๖๙/๖๘) @ สีลกถา หมายถึงกถาที่พรรณาคุณของศีลว่าเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น @ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า เช่น สมบัติทั้งหลายในโลกนี้และโลกอื่นล้วนอาศัยศีลเป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นต้น จึงได้มา @(ม.ม.อ. ๒/๖๙/๖๙) @ สัคคกถา หมายถึงกถาที่พรรณนาคุณของสวรรค์ว่า น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ และอื่นๆ อีกเป็น @อันมาก (ม.ม.อ. ๒/๖๙/๖๙) @ กามาทีนวกถา หมายถึงกถาที่พรรณนากามว่ามีโทษมากมีคุณน้อย มีความเลวทรามมาก มีความดีน้อย @มีความเศร้าหมองมาก มีความผ่องแผ้วน้อย มีทุกข์มาก มีสุขน้อย เป็นต้น (ม.ม.อ. ๒/๖๙/๖๙-๗๐) @ เนกขัมมานิสังสกถา หมายถึงกถาที่พรรณนาคุณความดีของการไม่ติดใจเพลินอยู่ในกาม ความปลอดโปร่ง @จากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน การออกบวช เพื่อให้มีฉันทะที่จะแสวงหาความดีงาม และความสุขอันสงบที่ประณีต @ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น (ม.ม.อ. ๒/๖๙/๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

จากนั้น อุบาลีคหบดีเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความ สงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลักคำสอนของ พระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เอาเถิด บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” [๗๐] จากนั้น อุบาลีคหบดีชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วกลับไปยังที่อยู่ ของตน เรียกนายประตูมาสั่งว่า “นายประตูเพื่อนรัก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชาย และหญิง แต่เราจะเปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงบอก อย่างนี้ว่า ‘หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็น สาวกของพระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง แต่เปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หากท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคน นำมาให้ที่นี่เอง” นายประตูรับคำอุบาลีคหบดีแล้ว [๗๑] นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้ยินว่า “ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ พระสมณโคดมแล้ว” ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่แล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว” นิครนถ์ นาฏบุตรตอบว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึงเป็น สาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ อุบาลีคหบดี” แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

นิครนถ์ นาฏบุตรก็ยังพูดว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง เป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ อุบาลีคหบดี” แม้ครั้งที่ ๓ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว” นิครนถ์ นาฏบุตรก็ยังพูดด้วยความมั่นใจว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดี จะพึงเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวก ของอุบาลีคหบดี” นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไปดูให้รู้แน่ว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม จริงหรือไม่” นิครนถ์ นาฏบุตรจึงกล่าวว่า “ตปัสสี ท่านไปเถิด จะได้รู้ว่า อุบาลีคหบดีเป็น สาวกของพระสมณโคดม จริงหรือไม่”
อุบาลีคหบดีไม่ต้อนรับนิครนถ์
[๗๒] ต่อมา นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเข้าไปยังที่อยู่ของอุบาลีคหบดี นายประตู เห็นเขาเดินมาแต่ไกลจึงบอกว่า “หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็นสาวก ของพระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง แต่ เปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคนนำมาให้ที่นี่เอง” นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการอาหารหรอก” แล้วกลับจาก ที่นั้น เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เป็นความจริงทีเดียวที่อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม ข้อนั้นข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับท่านดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ‘การที่อุบาลีคหบดีจะโต้วาทะ กับพระสมณโคดมนั้นข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญเดียรถีย์ได้ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคหบดีของ ท่านคงถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว” นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง เป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ อุบาลีคหบดี” แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน ผู้เจริญ เป็นความจริงทีเดียวที่อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม ข้อนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับท่านดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ‘การที่อุบาลีคหบดีจะโต้วาทะกับพระ สมณโคดมนั้นข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายา เป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญเดียรถีย์ได้ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคหบดีของท่านคง ถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว” นิครนถ์ นาฏบุตร ก็ยังกล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดี จะพึงเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวก ของอุบาลีคหบดี เอาเถิด ตปัสสี เราจะไปดูให้รู้แน่ว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ พระสมณโคดม จริงหรือไม่” ลำดับนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากได้เข้า ไปยังที่อยู่ของอุบาลีคหบดี นายประตูเห็นนิครนถ์ นาฏบุตรเดินมาแต่ไกลจึงพูด เตือนท่านว่า “หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ พระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง แต่เปิด ประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคนนำมาให้ที่นี่เอง” นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปหา อุบาลีคหบดีแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านขอรับ นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์ เป็นจำนวนมากยืนรออยู่นอกซุ้มประตู เขาต้องการพบท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

นายประตูรับคำแล้วเข้าไปหาอุบาลีคหบดีเรียนว่า “ท่านขอรับ นิครนถ์ นาฏบุตร พร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากยืนรออยู่นอกซุ้มประตู เขาต้องการพบท่าน” อุบาลีคหบดีกล่าวว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูอาสนะไว้ที่ศาลา ประตูกลาง” นายประตูรับคำแล้ว ปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางเสร็จแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคหบดี เรียนว่า “ท่านขอรับ อาสนะปูไว้ที่ศาลาประตูกลางเสร็จแล้ว ขอท่านจงกำหนดเวลา ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” [๗๓] จากนั้น อุบาลีคหบดีเข้าไปยังศาลาประตูกลางนั่งบนอาสนะเลิศ ล้ำค่า สูงส่ง และดียิ่งนั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาสั่งว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหานิครนถ์ นาฏบุตร บอกกับเขาอย่างนี้ว่า ‘ท่านครับ อุบาลีคหบดีสั่งมา อย่างนี้ว่า ‘จงเข้าไปเถิดครับ ถ้าท่านประสงค์” นายประตูรับคำแล้วเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตร เรียนว่า “ท่านขอรับ อุบาลี- คหบดีสั่งมาอย่างนี้ว่า ‘จงเข้าไปเถิดขอรับ ถ้าท่านประสงค์” ลำดับนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากจึงเข้าไปยัง ศาลาประตูกลาง ได้ยินว่า เมื่อก่อน อุบาลีคหบดีเห็นนิครนถ์ นาฏบุตรเดินมาจะไกลแค่ไหน ก็ตาม ก็จะไปต้อนรับถึงที่นั้น เช็ดถูอาสนะเลิศ ล้ำค่า สูงส่ง และดียิ่งด้วยผ้าห่มแล้ว เชื้อเชิญให้นั่ง บัดนี้ เขากลับนั่งบนอาสนะเลิศ ล้ำค่า สูงส่ง และดียิ่งนั้นเสียเอง แล้วได้พูดกับนิครนถ์ นาฏบุตรอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด” เมื่อคหบดีกล่าวอย่างนี้ นิครนถ์ นาฏบุตรก็พูดว่า “ท่านบ้าหรือโง่กันเล่า คหบดี ท่านเองบอกกับเราว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะกับพระสมณโคดม’ ครั้นไปแล้ว ท่านเองกลับถูกสวมปากด้วยตะกร้อคือวาทะใบใหญ่เสียนี่ ชายผู้มี อัณฑะแต่ถูกควักอัณฑะออกเสียทั้ง ๒ ข้าง หรือคนมีดวงตาแต่ถูกควักดวงตาออก ทั้ง ๒ ข้าง แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน บอกว่า ‘จะไปโต้วาทะกับพระสมณโคดม’ ครั้นไปแล้ว กลับถูกสวมปากด้วยตะกร้อคือวาทะใบใหญ่ พระสมณโคดมกลับใจ ท่านด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

มายาเครื่องกลับใจ
[๗๔] อุบาลีคหบดีชี้แจงว่า “ท่านขอรับ มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ดีจริง มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้งามจริง ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า หากกลับใจได้ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าไปนานแสนนาน กษัตริย์ทั้งปวง หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเครื่อง กลับใจนี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวงไปนานแสนนาน แม้พราหมณ์ทั้งปวง ฯลฯ แพศย์ ฯลฯ ศูทรทั้งปวง หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจ นี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทรทั้งปวงไปนานแสนนาน แม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจ นี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ไปนานแสนนาน ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวก ในโลกนี้ย่อมเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ แม้ด้วยข้ออุปมา [๗๕] ท่านขอรับ เรื่องเคยมีมาแล้ว สาววัยรุ่นภรรยาของพราหมณ์แก่เฒ่า วัยชราคนหนึ่งมีครรภ์ใกล้คลอด ต่อมา ภรรยาสาวนั้นจึงพูดกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ เมื่อนาง บอกอย่างนั้น พราหมณ์นั้นก็พูดว่า ‘น้องหญิง คอยจนคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอ คลอดลูกเป็นชาย ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวผู้จากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวเมียจากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของ ลูกสาวเธอ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

แม้ครั้งที่ ๒ ภรรยาสาวก็พูดกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อ ลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ แม้ครั้งที่ ๒ พราหมณ์ก็พูดว่า ‘น้องหญิง คอยจนคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวผู้ จากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันก็จัก ซื้อลูกลิงตัวเมียจากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวเธอ’ แม้ครั้งที่ ๓ ภรรยาสาวนั้นก็พูดกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อ ลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ ก็แล พราหมณ์แก่นั้นหลงใหล รักใคร่ภรรยาสาวจึงซื้อลูกลิงจากตลาดมาแล้วบอกเธอว่า ‘ฉันซื้อลูกลิงจากตลาดมา ไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอแล้วนะ น้องหญิง’ เมื่อพราหมณ์บอกอย่างนี้แล้ว ภรรยา สาวนั้นจึงพูดว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงอุ้มลูกลิงตัวนี้ไปหาลูกช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อม แล้วบอกเขาว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมลูกลิงตัวนี้ให้สีจับ อย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’ พราหมณ์ผู้หลงใหลรักใคร่ภรรยาสาวนั้นอุ้มลูกลิงไปหาลูกนายช่างย้อมผู้ชำนาญ การย้อมแล้วบอกว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมลูกลิงตัวนี้ให้ สีจับอย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’ เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ แล้ว บุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้บอกว่า ‘ท่านผู้เจริญ ลูกลิงของท่านนี้ ควรย้อมสีเท่านั้น ไม่ควรขัดแล้วขัดอีก’ แม้ฉันใด วาทะของนิครนถ์ผู้เขลาก็ฉันนั้น เหมือนกัน ควรเป็นที่ยินดีของคนเขลาด้วยกันเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควร ซักถาม และไม่ควรพิจารณาของบัณฑิตทั้งหลาย ท่านผู้เจริญ ต่อมา พราหมณ์นั้นถือผ้าใหม่คู่หนึ่งไปหาบุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญ การย้อมแล้วบอกกับเขาว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมผ้าใหม่ คู่นี้ให้สีจับอย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’ เมื่อพราหมณ์บอก อย่างนี้แล้ว บุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมก็ได้บอกว่า ‘ท่านผู้เจริญ ผ้าใหม่ ของท่านคู่นี้ ควรย้อม ควรขัดแล้วขัดอีก’ แม้ฉันใด วาทะของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ทั้งหลายเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควรซักถาม และไม่ควรพิจารณา๑- ของคนเขลา ทั้งหลาย” นิครนถ์ นาฏบุตรถามว่า “คหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชาต่างก็รู้จักท่าน อย่างนี้ว่า ‘อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร’ เราจะจำท่านว่า เป็นสาวก ของใครเล่า” เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีลุกจากอาสนะพาดสไบ เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พูดกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟังการกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค ของข้าพเจ้าผู้เป็นสาวก” แล้วกล่าวคาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้ว่า
อุบาลีคหบดีประกาศตนเป็นพุทธสาวก
[๗๖] “ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นปราชญ์ ปราศจากโมหะ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงจิตได้ ทรงชำนะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทเจริญ มีพระปัญญาดี ทรงข้ามกิเลสอันปราศจากความเสมอ (และ)ปราศจากมลทินได้ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีความสงสัย มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้ ทรงบันเทิง ทรงเจริญสมณธรรมสำเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์ มีพระสรีระเป็นชาติสุดท้าย ทรงเป็นนระไม่มีผู้เปรียบได้ ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี @เชิงอรรถ : @ หมายความว่า พระพุทธพจน์เป็นสิ่งลึกซึ้งเปรียบเหมือนมหาสมุทร คนเขลาไม่สามารถหยั่งถึงได้ @(ม.ม.อ. ๒/๗๕/๗๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีความสงสัย ทรงเฉียบแหลม ผู้ทรงแนะนำสัตว์ ผู้เป็นสารถีผู้ประเสริฐ ผู้ยอดเยี่ยม ทรงมีธรรมงาม หมดความเคลือบแคลง ทรงให้แสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ มีพระวิริยะ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้องอาจ ไม่มีใครประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทำความเกษม มีพระญาณ ดำรงอยู่ในธรรม ทรงสำรวมพระองค์ดีแล้ว ล่วงกิเลสเครื่องข้อง หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีเสนาสนะอันสงัด สิ้นสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้ว มีพระปัญญาโต้ตอบ มีพระปัญญาหยั่งรู้ ทรงลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ เป็นผู้ฝึกแล้ว เป็นผู้ปราศจากธรรมเครื่องยึดหน่วง ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๗ ๑- ผู้ไม่ลวงโลก ทรงมีวิชชา ๓ เป็นผู้ประเสริฐ ทรงชำระกิเลสแล้ว ประสมอักษรให้เป็นบทคาถา ทรงสงบระงับ มีพระญาณแจ่มแจ้ง ทรงให้ธรรมทานก่อนผู้อื่นทั้งหมด เป็นผู้สามารถ @เชิงอรรถ : @ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๗ หมายถึงพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า @พระองค์หนึ่ง บรรดาพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ คือ @๑. พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า @๓. พระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔. พระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า @๕. พระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖. พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า @๗. พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า (ที.ปา. ๑๑/๒๗๗/๑๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นอริยะ มีพระองค์อบรมแล้ว บรรลุคุณที่ควรบรรลุ ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร มีพระสติ ทรงเห็นแจ้ง ไม่ยุบลง ไม่ฟูขึ้น ไม่ทรงหวั่นไหว เป็นผู้มีความชำนาญ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จไปดีแล้ว ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยพระทัยไปตามกระแส เป็นผู้หมดจด ไม่สะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงบอยู่ผู้เดียว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามพ้นเอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามพ้นด้วย ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้สงบแล้ว มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากความโลภ ทรงดำเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อน เสด็จไปดี ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้ละเอียด สุขุม ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ตัดตัณหาได้เด็ดขาด ผู้ตื่น ปราศจากควัน ผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิฉาบทา ผู้ควรบูชา ผู้ทรงได้รับพระนามว่ายักขะ๑- เป็นบุคคลผู้สูงสุด มีพระคุณชั่งไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ยิ่ง บรรลุยศอย่างยอดเยี่ยม” @เชิงอรรถ : @ ยักขะ ในที่นี้หมายถึงทรงแสดงอานุภาพได้ และทรงทำพระกายไม่ให้ปรากฏได้ (ม.ม.อ. ๒/๗๖/๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๗. กุกกุรวติกสูตร

[๗๗] นิครนถ์ นาฏบุตรถามว่า “คหบดี ท่านประมวลถ้อยคำสำหรับพรรณนา คุณของพระสมณโคดมไว้ตั้งแต่เมื่อไร” อุบาลีคหบดีตอบว่า “ท่านขอรับ ช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้ผู้ชำนาญ พึงร้อยดอกไม้ต่างๆ กองใหญ่ให้เป็นพวงมาลัยอันวิจิตรได้ แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณ ควรพรรณนาได้หลายร้อย ใครเล่าจักพรรณนาไม่ได้ถึงพระคุณของพระองค์ผู้ควร พรรณนา” จากนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ จึงกระอัก โลหิตอุ่นออกจากปาก ณ ที่นั้นเอง ดังนี้แล
อุปาลิวาทสูตรที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๓-๗๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=6              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1044&Z=1477                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=62              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=62&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=975              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=62&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=975                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i062-e1.php# https://suttacentral.net/mn56/en/sujato https://suttacentral.net/mn56/en/narada-mahinda



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :