ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร
ว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ปฏิปทาอันให้สำเร็จความปรารถนา
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้นแห่งสังขารแก่ เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า [๑๖๑] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความ เป็นผู้อยู่ร่วมกับขัตติยมหาศาล’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรม๑- เหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อ ความเกิดขึ้นในขัตติยมหาศาลนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในขัตติยมหาศาลนั้น [๑๖๒] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความ เป็นผู้อยู่ร่วมกับพราหมณมหาศาล ฯลฯ หรือพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับคหบดี @เชิงอรรถ : @ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรม ๕ ประการ มีศรัทธาเป็นต้นที่เป็นไปกับความปรารถนา @(ม.อุ.อ. ๓/๑๖๑/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๐๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

มหาศาล’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรม เหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในคหบดี มหาศาลนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในคหบดีมหาศาลนั้น [๑๖๓] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพชั้นจาตุมหาราชมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ภิกษุนั้นมี ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ ร่วมกับเทพชั้นจาตุมหาราช’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขาร และวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิด ขึ้นในเทพชั้นจาตุมหาราชนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น จาตุมหาราชนั้น [๑๖๔] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ฯลฯ เทพชั้นดุสิต ฯลฯ เทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ หรือเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงถึงความ เป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความ เกิดขึ้นในเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้นปรนิมมิต วสวัตดีนั้น [๑๖๕] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘สหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ สหัสสพรหมน้อมจิต แผ่ไปตลอด ๑,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นสหัสสพรหมนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางผลละหุ่งผลหนึ่งไว้ในมือแล้ว พิจารณาดู แม้ฉันใด สหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงถึงความ เป็นผู้อยู่ร่วมกับสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและ วิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้น ในชั้นสหัสสพรหมนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสหัสสพรหมนั้น [๑๖๖] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘ทวิสหัสสพรหม ฯลฯ ติสหัสสพรหม ฯลฯ จตุสหัสสพรหม ฯลฯ หรือ ปัญจสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ปัญจสหัสสพรหม ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอด ๕,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น ปัญจสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางผล ละหุ่ง ๕ ผลไว้ในมือแล้วพิจารณาดู แม้ฉันใด ปัญจสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๕,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ชั้นปัญจสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับปัญจสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอ เจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นปัญจสหัสสพรหมนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นปัญจสหัสส- พรหมนั้น [๑๖๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘ทสสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ทสสหัสสพรหม น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

ทสสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์แปดเหลี่ยม งามโชติช่วง อันเขาเจียระไนดีแล้ว วางไว้แล้วบนผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสง เรืองไพโรจน์ แม้ฉันใด ทสสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมน้อมจิตแผ่ไป ตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นทสสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับทสสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นทสสหัสสพรหมนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นทสสหัสส- พรหมนั้น [๑๖๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘สตสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขเป็นกำลัง’ สตสหัสส- พรหมน้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑๐๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ชั้นสตสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุทที่เขา หลอมด้วยความชำนาญดีในเบ้าของช่างทองผู้ฉลาดแล้ววางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงเรืองไพโรจน์ แม้ฉันใด สตสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมน้อม จิตแผ่ไป๑- ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น สตสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสตสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้ มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสตสหัสสพรหมนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสตสหัสส- พรหมนั้น @เชิงอรรถ : @ น้อมจิตแผ่ไป ในที่นี้หมายถึงการแผ่ไป ๕ อย่าง คือ (๑) การแผ่ไปด้วยจิต คือการรู้จิตของหมู่สัตว์ @ใน ๑,๐๐๐ โลกธาตุ (๒) การแผ่ไปด้วยกสิณ คือการแผ่กสิณไปใน ๑,๐๐๐ โลกธาตุ (๓) การแผ่ @ไปด้วยทิพพจักขุ คือการขยายแสงสว่างออกไปดู ๑,๐๐๐ โลกธาตุ (๔) การแผ่ไปด้วยแสงสว่าง @คือการแผ่ไปด้วยทิพพจักขุนั่นเอง (๕) การแผ่ไปด้วยสรีระ คือการแผ่รัศมีของสรีระออกไป @(ม.อุ.อ. ๓/๑๖๘/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

[๑๖๙] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพชั้นอาภา ฯลฯ เทพชั้นปริตตาภา ฯลฯ เทพชั้นอัปปมาณาภา ฯลฯ หรือ เทพชั้นอาภัสสรามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขเป็นกำลัง’ ภิกษุนั้นมี ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ ร่วมกับเทพชั้นอาภัสสรา’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและ วิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นใน พรหมชั้นอาภัสสรานั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในพรหมชั้น อาภัสสรานั้น [๑๗๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพชั้นสุภา ฯลฯ เทพชั้นปริตตสุภา ฯลฯ เทพชั้นอัปปมาณสุภา ฯลฯ หรือ เทพชั้นสุภกิณหามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น สุภกิณหานั้น [๑๗๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพชั้นเวหัปผลา ฯลฯ เทพชั้นอวิหา ฯลฯ เทพชั้นอตัปปา ฯลฯ เทพชั้นสุทัสสา ฯลฯ เทพชั้นสุทัสสี ฯลฯ หรือเทพชั้นอกนิฏฐามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขเป็นกำลัง’ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจาก ตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นอกนิฏฐา’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้ มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้นอกนิฏฐานั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น อกนิฏฐานั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

[๑๗๒] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภูมิมีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุ นั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็น ผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภูมิ’ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง อากาสานัญจายตนภูมินั้น [๑๗๓] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภูมิมีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุ นั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็น ผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภูมิ’ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง วิญญาณัญจายตนภูมินั้น [๑๗๔] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า ‘เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภูมิ ฯลฯ เทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อ ความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมินั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภูมินั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๑๗๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เพราะอาสวะสิ้นไป เราพึงทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เพราะอาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในภพไหนๆ อีก” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
สังขารูปปัตติสูตรที่ ๑๐ จบ
อนุปทวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนุปทสูตร ๒. ฉวิโสธนสูตร ๓. สัปปุริสสูตร ๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ๕. พหุธาตุกสูตร ๖. อิสิคิลิสูตร ๗. มหาจัตตารีสกสูตร ๘. อานาปานัสสติสูตร ๙. กายคตาสติสูตร ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร เกิดขึ้นในวันเพ็ญ ๒ วันเพ็ญ คราวที่ดวงจันทร์บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเป็นธรรมอันมิใช่กิจของพระองค์ รวมกันขึ้นเป็นวรรคอันสำคัญชื่อว่าอนุปทวรรคที่ ๒ มีพระธรรมเทศนาอันประเสริฐที่ชนเป็นอันมากเสพแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๑๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๐๘-๒๑๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4497&Z=4713                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=318              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=318&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2682              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=318&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2682                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i318-e.php# https://suttacentral.net/mn120/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :