ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
ว่าด้วยอัจฉริยัพภูตธรรมของพระพุทธองค์
[๑๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันในหอฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้น ในระหว่างการประชุมว่า @เชิงอรรถ : @ แก่นสาร หมายถึงมรรคและผล แต่ในที่นี้แม้โลกิยคุณก็ประสงค์ว่า “แก่นสาร” (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๖/๑๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมี ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัด ปปัญจธรรม๑- ได้แล้ว ทรงตัดตอแห่งวัฏฏะ๒- ครอบงำวัฏฏะ ล่วงทุกข์ทั้งปวง ได้แล้ว ทรงทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีพระชาติอย่างนี้เพราะ เหตุนี้บ้าง มีพระนามอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีโคตรตระกูลอย่างนี้เพราะเหตุนี้ บ้าง ทรงมีศีลอย่างนี้๓- เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีธรรมอย่างนี้๔- เพราะเหตุนี้บ้าง ทรง มีปัญญาอย่างนี้๕- เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีวิหารธรรมอย่างนี้๖- เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมี วิมุตติอย่างนี้๗- เพราะเหตุนี้บ้าง” เมื่อภิกษุเหล่านั้นสนทนากันอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับภิกษุ เหล่านั้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตาถคตทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย ปรากฏ และประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ” เรื่องนี้แลที่ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันค้างไว้ [๑๙๘] ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จไปที่ หอฉัน ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แล้วได้รับสั่งเรียกภิกษุเหล่านั้นมา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้” @เชิงอรรถ : @ ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลส ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ตอแห่งวัฏฏะ หมายถึงกัมมวัฏฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ทรงมีศีลอย่างนี้ หมายถึงทรงมีศีลทั้งที่เป็นโลกิยะและเป็นโลกุตตระ (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ทรงมีธรรมอย่างนี้ หมายถึงทรงมีธรรมอันเป็นไปเพื่อสมาธิ คือ ทรงมีสมาธิทั้งที่เป็นโลกิยะและเป็น @โลกุตตระ (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ทรงมีปัญญาอย่างนี้ หมายถึงทรงมีปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ทรงมีวิหารธรรมอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงทรงมีนิโรธสมาบัติเป็นวิหารธรรม (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) @ ทรงมีวิมุตติอย่างนี้ หมายถึงทรงมีวิมุตติ ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิมุตติ ได้แก่ สมาบัติ ๘ @เพราะพ้นจากนิวรณ์เป็นต้น (๒) ตทังควิมุตติ ได้แก่ อนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น เพราะ @สลัดพ้นจากนิจจสัญญาเป็นต้น (๓) สมุจเฉทวิมุตติ ได้แก่ อริยมรรค ๔ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย @ที่ตนถอนขึ้นแล้ว (๔) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ได้แก่ สามัญญผล ๔ เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบระงับ @กิเลสด้วยอานุภาพมรรค (๕) นิสสรณวิมุตติ ได้แก่ นิพพาน เพราะเป็นที่สลัดกำจัดออกตั้งอยู่ในที่ไกล @จากกิเลสทั้งปวง (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๗/๑๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่ง ประชุมกันในหอฉัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรง ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดปปัญจธรรมได้แล้ว ทรงตัด ตอแห่งวัฏฏะ ครอบงำวัฏฏะ ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว จักทรงทราบว่า ‘พระผู้มี พระภาคเหล่านั้น มีพระชาติอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง มีพระนามอย่างนี้ ... มี โคตรตระกูลอย่างนี้ ... ทรงมีศีลอย่างนี้ ... ทรงมีธรรมอย่างนี้ ... ทรงมีปัญญา อย่างนี้ ... ทรงมีวิหารธรรมอย่างนี้ ... ทรงมีวิมุตติอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แล้ว ท่าน พระอานนท์ได้กล่าวกับข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคต ทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ และประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มี พระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๒๐ ประการ
[๑๙๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอจงอธิบายธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ ตถาคตให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปเถิด” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ๑. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระโพธิสัตว์๑- มีสติสัมปชัญญะ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต’ แม้ ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ พระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ โพธิสัตว์ หมายถึงผู้ฉลาด ผู้จะตรัสรู้ ผู้บำเพ็ญมรรค ๔ เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. ๒/๑๗/๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๒. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จึงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต’ แม้ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ พระผู้มีพระภาค [๒๐๐] ๓. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตจนตลอดอายุ’ แม้ข้อที่พระ โพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตตลอดอายุนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๔. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะตลอดตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจน ถึงลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา’ แม้ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ตลอดตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงลงสู่พระครรภ์ของพระมารดานี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ พระผู้มีพระภาค [๒๐๑] ๕. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต๑- แล้วลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดา ทั้งหลาย แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้น เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย เพราะแสงสว่างนั้น สัตว์ ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดใน @เชิงอรรถ : @ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต หมายถึงเทวดาก่อนจะจุติ จะเกิดบุพนิมิต ๕ ประการ คือ (๑) ดอกไม้เหี่ยว @(๒) ผ้าเศร้าหมอง (๓) เหงื่อออกจากรักแร้ (๔) กายเริ่มเศร้าหมอง (๕) ไม่ยินดีการดำรงอยู่บน @อาสนะของตน (ม.อุ.อ. ๓/๒๐๐/๑๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ๑- นี้ สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มี พระภาค [๒๐๒] ๖. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เทพบุตร ๔ องค์๒- เข้าไปอารักขาพระโพธิสัตว์นั้นประจำทั้ง ๔ ทิศ ด้วยตั้งใจว่า ‘มนุษย์ หรืออมนุษย์ใดๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดา ของพระโพธิสัตว์เลย’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค [๒๐๓] ๗. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดา มีปกติทรงศีล คือ เว้นจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เว้น จากอทินนาทาน(การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) เว้นจาก กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) เว้นจากมุสาวาท(การ พูดเท็จ) เว้นจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน(การเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท)’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ พระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ คำว่า “สหัสสีโลกธาตุ” บางที่ใช้ว่าโลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (ที.ม. ๑๐/๓๓๑/๒๑๖) @ตอนหนึ่งว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุ อนึ่ง ๑๐ โลกธาตุ @ในที่นี้เท่ากับหมื่นจักรวาลซึ่งตรงกับ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. ๒/๓๓๑/๒๙๓) และดู @รายละเอียดใน องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๕-๓๐๗ @ เทพบุตร ๔ องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช ๔ องค์ คือ (๑) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศ @ตะวันออก (๒) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (๓) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก @(๔) ท้าวเวสวัณ จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. ๒/๒๙๔/๒๖๐, ที.ม.ฏีกา ๑๙/๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๘. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ พระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิต กำหนัดใดๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มี พระภาค ๙. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ พระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอ อยู่ด้วยกามคุณ ๕’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค [๒๐๔] ๑๐. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ พระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใดๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบาก พระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีอวัยวะ สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบ แก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘นี้คือ แก้วไพฑูรย์ อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใส เป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ แม้ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่ พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความ เจ็บป่วยใดๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็น พระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์มีอวัยวะสมบูรณ์ มีอินทรีย์ ไม่บกพร่อง ฉันนั้นเหมือนกัน’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำ ได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

[๒๐๕] ๑๑. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระองค์สวรรคต ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่า เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๑๒. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปซึ่ง จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือน หรือ ๑๐ เดือน ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อทรงพระครรภ์ ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่า เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๑๓. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปซึ่ง จะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ประทับยืนประสูติเท่านั้น’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๑๔. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ในตอน แรกเทพทั้งหลายจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของ มนุษย์’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค [๒๐๖] ๑๕. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ยังไม่ทัน สัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคองพระโพธิสัตว์ ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า ‘โปรดพอ พระทัยเถิดพระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็น ผู้มีศักดิ์ใหญ่’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรม อันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๑๖. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จ ออกอย่างบริสุทธิ์แท้ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำเมือก เลือด หรือสิ่ง ไม่สะอาดใดๆ จึงเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด เปรียบเหมือนแก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่ ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้ว มณีแปดเปื้อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของบริสุทธิ์หมดจด แม้ฉันใด เวลาที่ พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ย่อมประสูติ อย่างบริสุทธิ์แท้ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำเมือก เลือด หรือสิ่งไม่ สะอาดใดๆ เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด ฉันนั้นเหมือนกัน’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย ปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๑๗. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา มีธารน้ำ ปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็น และธารน้ำอุ่น เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้า พระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้ มีพระภาค [๒๐๗] ๑๘. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนอย่างมั่นคงด้วย พระบาททั้งสองที่เสมอกันบนพื้นปฐพี ทรงผินพระพักตร์ไปทาง ทิศเหนือ เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตร ตามเสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศทั้งปวง แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา (พูดอย่างองอาจ)ว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุดของ โลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’ แม้ข้อนี้ ฯลฯ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค ๑๙. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่าง เจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ในช่องว่างระหว่างโลก ซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้า หาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นเกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย เพราะแสงสว่างนั้น สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกันและ กันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุนี้ สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ก็ ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย‘๑- แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย ปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค” [๒๐๘] ๒๐. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำ ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของตถาคตนี้ไว้เถิด ในเรื่องนี้ เวทนาของตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึง ความดับไป สัญญาของตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ... วิตกของ ตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไป อานนท์ เธอจงจำธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของตถาคตนี้ไว้เถิด” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อที่เวทนาของพระ ผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไป สัญญาของ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๗-๓๒/๑๑-๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น ... วิตกของพระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไปนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า” ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ภิกษุเหล่านั้น มีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของท่านพระอานนท์ ดังนี้แล
อัจฉริยัพภูตธัมมสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๓๓-๒๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=5090&Z=5281                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=357              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=357&items=23              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3077              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=357&items=23              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3077                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i357-e.php# https://suttacentral.net/mn123/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :