ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๕. ทันตภูมิสูตร
ว่าด้วยภูมิของผู้ได้รับการฝึกแล้ว
[๒๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สมณุทเทสชื่ออจิรวตะ อยู่ในกระท่อมใกล้ป่า ครั้งนั้น พระราชกุมารนามว่าชยเสน๑- ทรงดำเนินเล่นไปโดยลำดับ เข้าไปหาอจิรวตะ สมณุทเทสถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ชยเสนราชกุมารได้รับสั่งกับอจิรวตะ สมณุทเทสว่า “ท่านอัคคิเวสสนะ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงบรรลุจิตเตกัคคตา(สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว)ได้’ จริงหรือ” อจิรวตะ สมณุทเทสถวายพระพรว่า “พระราชกุมาร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึง บรรลุจิตเตกัคคตาได้” “ดีละ ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษา มาแก่ข้าพเจ้าเถิด” “พระราชกุมาร อาตมภาพไม่สามารถแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษามา เพราะถ้าอาตมภาพจะแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษามา แต่พระองค์ไม่ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพ ข้อนั้น จะเป็นความยาก จะเป็นความลำบากแก่อาตมภาพ” @เชิงอรรถ : @ พระราชกุมารนามว่าชยเสน เป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร (ม.อุ.อ. ๓/๒๑๓/๑๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

“ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ ศึกษามา บางทีข้าพเจ้าอาจทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะก็ได้” “พระราชกุมาร อาตมภาพจะแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา ตามที่ ได้ศึกษามา ถ้าพระองค์ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพได้ นั่นแหละเป็น ความดี ถ้าไม่ทรงทราบ ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในภาวะของพระองค์เถิด อย่าได้ ซักถามอาตมภาพในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไปเลย” “ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ ศึกษามา ถ้าข้าพเจ้าทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะได้ นั่นเป็นความดี ถ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าจะดำรงตนอยู่ในภาวะของตน ข้าพเจ้าจักไม่ซักถามท่าน อัคคิเวสสนะในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไป” [๒๑๔] ลำดับนั้น อจิรวตะ สมณุทเทสได้แสดงธรรมแก่ชยเสนราชกุมาร ตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษามา เมื่ออจิรวตะ สมณุทเทสกล่าวอย่างนั้นแล้ว ชยเสนราชกุมารได้ตรัสว่า “ท่านอัคคิเวสนะผู้เจริญ เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงบรรลุจิตเตกัคคตาได้” ต่อจากนั้น ชยเสนราชกุมารทรงประกาศความเป็นไปไม่ได้แก่อจิรวตะ สมณุทเทส ทรงลุกขึ้นจากที่ประทับแล้วเสด็จจากไป ครั้งนั้น เมื่อชยเสนราชกุมารเสด็จจากไปแล้วไม่นาน อจิรวตะ สมณุทเทสได้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่ได้สนทนาปราศรัยกับชยเสนราชกุมารทั้งหมดนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค เมื่ออจิรวตะ สมณุทเทสกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้ว่า “อัคคิเวสสนะ ชยเสนราชกุมารพึงได้ประโยชน์จากข้อความนั้นในภาษิตของเธอนี้ แต่ที่ไหน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมาร ผู้ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหา กามอยู่ จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้งจิตเตกัคคตาที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้ง ด้วยเนกขัมมะ๑- ได้ @เชิงอรรถ : @ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงคุณคือการบรรพชาอันเป็นเครื่องสลัดออกจากกาม (ม.อุ.อ. ๓/๒๑๔/๑๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๑๕] อัคคิเวสสนะ ช้างที่ควรฝึกคู่หนึ่ง ม้าที่ควรฝึกคู่หนึ่ง หรือโคที่ควร ฝึกคู่หนึ่ง ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว (กับ) ช้างที่ควรฝึกอีกคู่หนึ่ง ม้าที่ควรฝึก อีกคู่หนึ่ง หรือโคที่ควรฝึกอีกคู่หนึ่ง ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเลย เธอเข้าใจความ ข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว นั่นแหละ จะเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว พึงสำเร็จภูมิที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว ได้ไหม” “ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ส่วนช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด แล้วเหล่านั้นนั่นแหละ จะเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว จะสำเร็จภูมิที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว เหมือนช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว เหล่านั้นได้ไหม” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมารผู้ยังอยู่ ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกาม แผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากามอยู่ จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้ แจ้งจิตเตกัคคตาที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้ง ด้วยเนกขัมมะได้ [๒๑๖] อัคคิเวสสนะ มีภูเขาใหญ่อยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม สหาย ๒ คน ออกจากบ้านหรือนิคมนั้นแล้วจูงมือกันเข้าไปยังที่ที่ภูเขาตั้งอยู่ สหายคนหนึ่งยืนอยู่ ที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง สหายคนหนึ่งขึ้นไปบนภูเขา สหายคนที่ยืนอยู่ที่เชิงภูเขาเบื้อง ล่างจึงกล่าวกับสหายผู้ยืนอยู่บนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านยืนอยู่บนภูเขา นั้น มองเห็นอะไรบ้าง’ สหายผู้ยืนอยู่บนภูเขานั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรา ยืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิ ประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์’ สหายผู้ยืนอยู่ที่เชิงภูเขาเบื้องล่างนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เป็นไปไม่ได้ ที่ท่านยืนอยู่บนภูเขาแล้วจะพึงมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิ ประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’ สหายผู้ยืนอยู่บนภูเขา จึง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

ลงมายังเชิงภูเขาเบื้องล่างแล้วจูงแขนสหายคนนั้นให้ขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ให้พัก เหนื่อยครู่หนึ่งแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านยืนอยู่บนภูเขานั้น มอง เห็นอะไรบ้าง’ สหายคนนั้นตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรายืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมอง เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระ โบกขรณีอันน่ารื่นรมย์’ สหายผู้ที่ขึ้นไปก่อนแล้วนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรารู้คำที่ท่านกล่าว แล้วอย่างนี้บัดนี้เองว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เป็นไปไม่ได้ที่ท่านยืนอยู่บนภูเขาแล้ว จะพึงมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’ และสหายผู้ขึ้นไปทีหลังนั้นกล่าวว่า ‘เรารู้คำที่ ท่านกล่าวอย่างนี้บัดนี้เหมือนกันว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรายืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมอง เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระ โบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’ สหายผู้ที่ขึ้นไปก่อนแล้วนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ความเป็นจริง เรา ถูกภูเขาใหญ่ลูกนี้กั้นไว้ จึงมองไม่เห็นสิ่งที่ควรเห็น’ อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมาร ผู้ถูก กองอวิชชาใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้นกั้นไว้ ปิดบังไว้ รึงรัดไว้ ห่อหุ้มไว้ ยังอยู่ ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกาม แผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้งด้วยเนกขัมมะได้ อัคคิเวสสนะ ถ้าเธอพึงอธิบายอุปมา ๒ ข้อนี้ให้แจ่มแจ้งแก่ชยเสน ราชกุมารได้ ชยเสนราชกุมารจะพึงเลื่อมใสเธออย่างน่าอัศจรรย์ และชยเสน ราชกุมารผู้เลื่อมใสแล้ว จะพึงแสดงอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสแก่เธอ” อจิรวตะ สมณุทเทสกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอธิบายอุปมา ๒ ข้อนี้ที่น่าอัศจรรย์ ที่ข้าพระองค์ยังไม่เคยได้สดับมาก่อน ให้แจ่มแจ้งแก่ชยเสนราชกุมาร เหมือนพระผู้มีพระภาคได้อย่างไรเล่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ กษัตราธิราชผู้ได้รับ มูรธาภิเษก๑- แล้ว รับสั่งเรียกพรานผู้ชำนาญป่าที่ช้างอาศัยอยู่มาแล้วตรัสว่า ‘มา เถิดพ่อพรานช้างเพื่อนยาก ท่านจงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวงเถิด’ พรานป่าผู้เป็นควาญช้าง รับพระราชโองการ แล้ว จึงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จึงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวง ช้างหลวงจึงนำช้างป่านั้นออกมาสู่ที่กลางแจ้งได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ช้างป่าจึงมา อยู่กลางแจ้ง ความจริงช้างป่าทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือดงช้างอยู่ พรานป่าผู้เป็น ควาญช้างจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่กษัตราธิราชว่า ‘ขอเดชะ ช้างป่าของพระองค์มาอยู่ ที่กลางแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า’ ลำดับนั้น กษัตราธิราชจึงรับสั่งเรียกควาญช้างมาตรัสว่า ‘มาเถิดพ่อ ควาญช้าง ท่านจงฝึกช้างป่า จงไปเพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสน ของสัตว์ป่า และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจ ของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ ต้องการเถิด’ ควาญช้างรับพระราชโองการแล้ว จึงฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน ล่ามคอ ช้างป่าไว้อย่างมั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสนของสัตว์ป่า และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ต้องการ ควาญช้าง ร้องเรียกช้างป่านั้นด้วยคำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ เพราะช้างป่าถูกควาญช้างร้องเรียกอยู่ด้วยคำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจเห็นปานนั้น ช้างจึงตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะเรียนรู้ ควาญช้างจึงเพิ่มอาหาร คือหญ้าและน้ำให้ ช้างนั้นยิ่งขึ้น @เชิงอรรถ : @ มูรธาภิเษก หมายถึงการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์เหนือพระเศียรในงานราชาภิเษกหรืองานพระราชพิธี @(ม.ม.อ. ๒/๙/๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

อัคคิเวสสนะ เพราะช้างป่ารับอาหาร คือหญ้าและน้ำของควาญช้าง ควาญ ช้างจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ช้างป่าจักดำรงชีพอยู่ได้ละ’ จึงให้ช้างป่านั้น ฝึกยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘รับไป พ่อ วางลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการรับและการวาง ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง ขึ้นด้วยสั่งว่า ‘เดินไป พ่อ ถอยกลับ พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับทำ ตามโอวาทของควาญช้างในการเดินไปและการถอยกลับ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึก ยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘ยืนขึ้น พ่อ หมอบลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับ ทำตามโอวาทของควาญช้างในการยืนและการหมอบ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง ขึ้นจนถึงขั้นที่ชื่อว่าอาเนญชะ(ไม่หวั่นไหว)คือผูกโล่ใหญ่ไว้ที่งวงช้างนั้น จัดบุรุษถือหอกซัด นั่งบนคอช้าง จัดบุรุษถือหอกซัดหลายคนยืนล้อมรอบ ส่วนควาญช้างถือของ้าวยาว ยืนอยู่ข้างหน้า ช้างนั้นได้รับการฝึกถึงขั้นอาเนญชะอยู่ จึงไม่ขยับเท้าหน้า ไม่ขยับ เท้าหลัง ไม่เขยื้อนกายไปข้างหน้า ไม่เขยื้อนกายไปข้างหลัง ไม่โคลงหัว ไม่กระดิกหู ไม่เหวี่ยงงา ไม่แกว่งหาง ไม่ขยับงวง เป็นช้างหลวงผู้อดทนต่อการถูกหอกทิ่มแทง ถูกดาบฟัน ถูกลูกศรเสียบแทง และถูกเครื่องประหารของศัตรูอื่น อดทนต่อเสียง อึกกระทึกแห่งกลองศึก มโหระทึก สังข์ และกลองเล็ก กำจัดนิสัยดื้อรั้นทุกอย่าง และหมดพยศ จึงนับว่า ‘เป็นช้างสมควรแก่พระราชา อันพระราชาควรใช้สอย เป็นองค์สมบัติของพระราชา’ แม้ฉันใด [๒๑๘] อัคคิเวสสนะ ตถาคต๑- ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๒- ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๓- ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด๔- ประกาศพรหมจรรย์๕- พร้อมทั้ง @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๑๙ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๒๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใดตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาใน ตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทาง มาแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต๑- ด้วยเหตุเพียง เท่านี้แล เขาชื่อว่าเป็นอริยสาวก อยู่ในที่แจ้ง ความจริง เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือกามคุณ ๕ อยู่ ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม ด้วยอาจาระและโคจร จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย’ อัคคิเวสสนะ เพราะอริยสาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้ ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ฯลฯ [๒๑๙] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ นี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็น เครื่องทอนปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๑๙๐-๑๙๒/๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ อัคคิเวสสนะ ควาญช้างฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน ล่ามคอช้างป่าไว้อย่าง มั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสนของสัตว์ป่า และแก้ไขความ กระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้น ยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ต้องการ แม้ฉันใด อริยสาวกก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าผูกใจไว้แล้วกับสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อแก้ไขปกติที่ยังผูกพัน อยู่กับเรือน๑- แก้ไขความสับสนที่ยังผูกพันอยู่กับเรือน แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจที่ผูกพันอยู่กับเรือน เพื่อบรรลุญายธรรม๒- เพื่อ ทำให้แจ้งนิพพาน [๒๒๐] ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘มาเถิดภิกษุ เธอจงพิจารณา เห็นกายในกายอยู่เถิด แต่อย่าตรึกถึงวิตกที่เกี่ยวข้องกับกายเลย จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เถิด ฯลฯ จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เถิด ... จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เถิด แต่อย่าตรึกถึงวิตกที่เกี่ยวข้อง กับธรรมเลย เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุนั้นย่อมบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ ชีวประวัติอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ปกติที่ยังผูกพันอยู่กับเรือน ในที่นี้หมายถึงปกติที่อาศัยกามคุณ ๕ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ @โผฏฐัพพะ) (ม.อุ.อ. ๓/๒๑๙/๑๔๔) @ ญายธรรม ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (ม.อุ.อ. ๓/๒๑๙/๑๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๒๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทน คือ มีชาติของผู้อดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ต่อสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์ เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำที่กล่าวร้าย ถ้อยคำที่ใส่ร้าย ต่อทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อน อันมีในสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อความไม่สำราญ ต่อความ ไม่ชอบใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนั้นกำจัดราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงและกำจัด กิเลสเพียงดังน้ำฝาดได้แล้ว เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก๑- [๒๒๒] อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ควาญช้างยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้ม ลง(ตาย) ย่อมถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงแก่ล้มอย่างไม่ได้ฝึก’ ถ้าช้างหลวงรุ่นกลาง ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๑/๒๘๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๕. ทันตภูมิสูตร

ถ้าช้างหลวงรุ่นหนุ่มที่ควาญช้างยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้มลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงหนุ่มล้มอย่างไม่ได้ฝึก’ แม้ฉันใด ถ้าภิกษุปูนเถระยังไม่สิ้นอาสวะมรณภาพลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ภิกษุปูนเถระ มรณภาพลงอย่างไม่ได้ฝึก’ ถ้าภิกษุปูนมัชฌิมะ ฯลฯ ถ้าภิกษุปูนนวกะยังไม่สิ้นอาสวะมรณภาพลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ภิกษุ ปูนนวกะมรณภาพลงอย่างไม่ได้ฝึก’ ฉันนั้นเหมือนกัน อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ควาญช้างฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว ล้มลง ย่อม ถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงแก่ล้มอย่างฝึกแล้ว’ ถ้าช้างหลวงรุ่นกลาง ฯลฯ ถ้าช้างหลวงหนุ่มที่ควาญช้างฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว ล้มลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงหนุ่มล้มอย่างฝึกแล้ว’ แม้ฉันใด ถ้าภิกษุปูนเถระผู้สิ้นอาสวะแล้วมรณภาพลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ภิกษุปูนเถระ มรณภาพลงอย่างฝึกแล้ว’ ถ้าภิกษุปูนมัชฌิมะ ฯลฯ ถ้าภิกษุปูนนวกะผู้เป็นขีณาสพมรณภาพลง ย่อมถึงการนับว่า ‘ภิกษุ ปูนนวกะมรณภาพลงอย่างฝึกแล้ว’ ฉันนั้นเหมือนกัน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว อจิรวตะ สมณุทเทสมีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ทันตภูมิสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๕๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๔๖-๒๕๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=25              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=5375&Z=5608                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=388              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=388&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3634              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=388&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3634                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i388-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i388-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.125.horn.html https://suttacentral.net/mn125/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :