ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร
ว่าด้วยการเจริญอินทรีย์
[๔๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวัน๑- กัชชังคลานิคม ครั้งนั้นแล อุตตรมาณพ ศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุตตรมาณพ ศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ว่า “อุตตระ ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือไม่” อุตตรมาณพกราบทูลว่า “แสดง ขอรับ” “แสดงอย่างไร” “พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์ แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘สาวกของเราอย่าดูรูปทางตา อย่าฟังเสียงทางหู’ ดังนี้เป็นต้น ขอรับ” “อุตตระ เมื่อเป็นเช่นนั้น สาวกผู้เจริญอินทรีย์แล้วตามคำของปาราสิริยพราหมณ์ ก็จักเป็นคนตาบอด เป็นคนหูหนวกแน่นอน เพราะคนตาบอดย่อมไม่เห็นรูปทางตา คนหูหนวกย่อมไม่ได้ยินเสียงทางหู” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุตตรมาณพศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ ก็นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่า อุตตรมาณพศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงรับสั่งเรียกท่านพระ อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ปาราสิริยพราหมณ์ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์แก่ สาวกทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง แต่การเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัยเป็น อย่างหนึ่ง” @เชิงอรรถ : @ เวฬุวัน ในที่นี้หมายถึงสวนรุกขชาติซึ่งเต็มไปด้วยไม้ไผ่ (ไม่ใช่พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์) @(ม.อุ.อ. ๓/๔๕๓/๒๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรแล้ว ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคพึงแสดงการเจริญ อินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จัก ทรงจำไว้” “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องนี้ว่า [๔๕๔] “การเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว จึงเกิดความชอบใจ เกิดความ ไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจนี้ แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกันและกัน เกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้น ที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้นจึงดับไป อุเบกขา ย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนบุรุษมีตาดีกระพริบตา แม้ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็วพลันทันที โดยไม่ยากอย่างนี้ อุเบกขาย่อม ดำรงมั่น อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาอันยอดเยี่ยม ในอริยวินัย [๔๕๕] อานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุได้ยินเสียงทางหูแล้วจึงเกิดความ ชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้น รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจ และความไม่ชอบใจนี้แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้นจึงดับไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

อุเบกขาย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังดีดนิ้วมือได้โดยไม่ยาก แม้ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วแก่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็วพลันทันที โดยไม่ยาก อย่างนี้ อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูอันยอดเยี่ยม ในอริยวินัย [๔๕๖] อีกประการหนึ่ง ภิกษุดมกลิ่นทางจมูกแล้วจึงเกิดความชอบใจ เกิด ความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจทั้งความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ ชอบใจนี้แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้น ที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้นจึงดับไป อุเบกขา ย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนหยาดน้ำกลิ้งไปบนใบบัวที่เอียงนิดหน่อย ย่อมไม่ติดอยู่ แม้ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิด ขึ้นแล้วแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็วพลันทันที โดย ไม่ยากอย่างนี้ อุเบกขาย่อมดำรงมั่น อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกอันยอดเยี่ยม ในอริยวินัย [๔๕๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุลิ้มรสทางลิ้นแล้วจึงเกิดความชอบใจ เกิด ความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ ชอบใจนี้แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้น ที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้นจึงดับไป อุเบกขา ย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังตะล่อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วถ่ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

ไปโดยไม่ยาก แม้ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็ว พลันทันที โดยไม่ยากอย่างนี้ อุเบกขาย่อมดำรงมั่น อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นอันยอดเยี่ยม ในอริยวินัย [๔๕๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้วจึงเกิดความ ชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้น รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจ และความไม่ชอบใจนี้แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้นจึงดับไป อุเบกขาย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า แม้ ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้น แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็วพลันทันที โดยไม่ยาก อย่างนี้ อุเบกขาย่อมดำรงมั่น อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย [๔๕๙] อานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วจึงเกิด ความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิด ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจนี้แล้ว ความชอบใจเป็นต้นนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต คือ อุเบกขา’ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่ ภิกษุนั้นจึงดับไป อุเบกขาย่อมดำรงมั่น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เอาหยดน้ำ ๒ หยด หรือ ๓ หยดใส่ลงในกะทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน น้ำที่หยดลงยังช้าไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

ที่แท้หยดน้ำนั้นจะระเหยแห้งไปเร็วพลันทันที แม้ฉันใด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมดับไปอย่างเร็วพลันทันที โดยไม่ยากอย่างนี้ อุเบกขาย่อมดำรงมั่น อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจอัน ยอดเยี่ยมในอริยวินัย อานนท์ การเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย เป็นอย่างนี้แล [๔๖๐] พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว จึงเกิดความชอบใจ เกิดความ ไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ เพราะความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ภิกษุนั้นจึงอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ ฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว จึงเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และ เกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ เพราะความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความ ชอบใจและความไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ภิกษุนั้นจึงอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ อานนท์ พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ เป็นอย่างนี้แล [๔๖๑] พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว จึงเกิดความชอบใจ เกิดความ ไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ถ้าเธอหวังว่า ‘เราพึงมี ความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่‘๑- ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูล นั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ @เชิงอรรถ : @ หมายความว่า หมายรู้ด้วยการแผ่เมตตา หรือเทียบเคียงโดยความเป็นธาตุ (ม.อุ.อ. ๓/๔๖๑/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๑๐. อินทริยภาวนาสูตร

ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่’ ก็มี ความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่๑- ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลอยู่’ ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ ปฏิกูลอยู่’ ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า ‘เราพึงเว้นสิ่งที่ปฏิกูลและสิ่งที่ไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น แล้วมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่’ ก็เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่๒- [๔๖๒] อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงทางหูแล้ว ... ภิกษุดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... ภิกษุลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว จึงเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ และเกิดทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ถ้าเธอยังหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ ในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่’ ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่’ ก็มี ความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลอยู่’ ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ @เชิงอรรถ : @ หมายความว่า หมายรู้ด้วยการแผ่อสุภะ หรือเทียบเคียงโดยอนิจจลักษณะ (ม.อุ.อ. ๓/๔๖๑/๒๕๗) @ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๗/๕๗๐-๕๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ถ้าหวังว่า ‘เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ ปฏิกูลอยู่’ ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า ‘เราพึงเว้นสิ่งที่ปฏิกูลและสิ่งที่ไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น แล้วมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่’ ก็เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ อานนท์ พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างนี้แล [๔๖๓] อานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัยไว้แล้ว แสดงพระเสขะผู้กำลังปฏิบัติไว้แล้ว แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์ไว้แล้ว ด้วย ประการอย่างนี้ กิจที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความ อนุเคราะห์แล้วพึงทำแก่สาวกทั้งหลายได้ เราก็ได้ทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว อานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อินทริยภาวนาสูตรที่ ๑๐ จบ
สฬายตนวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ๒. ฉันโนวาทสูตร ๓. ปุณโณวาทสูตร ๔. นันทโกวาทสูตร ๕. จูฬราหุโลวาทสูตร ๖. ฉฉักกสูตร ๗. สฬายตนวิภังคสูตร ๘. นครวินเทยยสูตร ๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ๑๐. อินทริยภาวนาสูตร
อุปริปัณณาสก์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๕๑๐}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎกที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๕๐๔-๕๑๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=52              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=10912&Z=14939                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=853              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=853&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6519              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=853&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6519                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i853-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i853-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.152.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn152.html https://suttacentral.net/mn152/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :