ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๙. ปฐมอปุตตกสูตร
ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร สูตรที่ ๑
[๑๓๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแต่ยังวัน ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิ- โกศลดังนี้ว่า “เชิญเถิด มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนี้ ถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรนั้นมาไว้ ในพระราชวังแล้วจึงมาเข้าเฝ้า เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๘,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องเงินนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

ไม่ต้องพูดถึง อนึ่ง คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้บริโภคอาหารเช่นนี้ คือ บริโภค ปลายข้าวกับน้ำผักดอง ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่นนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัด เป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเช่นนี้ คือ ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น อสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ไม่ทำตนให้มีความสุขสำราญ ไม่ทำ มารดาและบิดาให้ได้รับความสุขสำราญ ไม่ทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุขสำราญ ไม่ทำทาสและกรรมกรให้ได้รับความสุขสำราญ ไม่ทำมิตรและอำมาตย์๑- ให้ได้รับ ความสุขสำราญ ไม่ตั้งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีผลอันดี มีวิบากเป็นสุข และเป็นไปเพื่อสวรรค์ไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้ สอยโดยชอบอย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบไปบ้าง โจรทั้งหลายปล้นไปบ้าง ไฟ ไหม้บ้าง น้ำพัดไปบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักนำไปบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบ ย่อมเสียไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย มหาบพิตร ในถิ่นอมนุษย์ มีสระโบกขรณีซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท ใสสะอาด มีท่าน้ำดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนไม่ตักเอาไป ไม่ดื่ม ไม่อาบ หรือไม่ทำตามที่ต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่ไม่ได้ใช้สอยโดยชอบนั้น พึงเสียไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย แม้ฉันใด มหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ไม่ทำตนให้ได้รับความสุข สำราญ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบ ย่อมเสีย ไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย ฉันนั้นเหมือนกัน มหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ทำตนให้ได้รับความสุขสำราญ ทำมารดาและบิดาให้ได้รับความสุขสำราญ ทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุขสำราญ ทำทาสและกรรมกรให้ได้รับความสุขสำราญ ทำมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข สำราญ ตั้งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีผลอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ @เชิงอรรถ : @ มิตร หมายถึงคนรู้จักกันเพราะการใช้ของในเรือนร่วมกัน เช่น ให้ของแก่กันและกันหรือรับของจากกัน @อำมาตย์ หมายถึงผู้ทำกิจร่วมกัน เช่น ปรึกษาหารือกัน ไปด้วยกัน นั่งด้วยกันเป็นต้น @(สํ.สฬา.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๗๖/๖๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

ไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยโดยชอบอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายก็ริบไปไม่ได้ โจรทั้งหลายก็ปล้นเอาไปไม่ได้ ไฟก็ไหม้ไม่ได้ น้ำก็พัดไปไม่ได้ ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักก็นำไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะ เหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยอยู่โดยชอบ ย่อมมีการใช้สอย ไม่เสียไปเปล่า มหาบพิตร ในที่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน หรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท ใสสะอาด มีท่าน้ำดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนตักไปบ้าง ดื่มบ้าง อาบบ้าง ทำตามที่ต้องการบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่ใช้สอยอยู่โดยชอบนั้น ชื่อว่ามีการใช้สอย ไม่เสียไปเปล่า แม้ฉันใด มหาบพิตร สัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ทำตนให้ได้รับ ความสุขสำราญ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยอยู่โดยชอบ ย่อมมีการใช้สอย ไม่เสียไปเปล่า ฉันนั้นเหมือนกัน” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า น้ำเย็นในถิ่นอมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้สอย ย่อมเหือดแห้งไป ฉันใด ทรัพย์ที่คนชั่วได้แล้ว ตนเองไม่ได้ใช้ และไม่ให้คนอื่นใช้ ก็เสียไปเปล่า ฉันนั้น ส่วนวิญญูชนผู้มีปัญญานั้น ได้โภคะแล้ว ย่อมใช้สอยและประกอบกิจการงาน เขาเป็นคนอาจหาญ เลี้ยงดูหมู่ญาติ ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์
ปฐมอปุตตกสูตรที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๕๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๕๕-๑๕๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=130              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2867&Z=2926                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=386              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=386&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3967              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=386&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3967                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i354-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.019.than.html https://suttacentral.net/sn3.19/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :