ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

๓. สาธุสูตร
ว่าด้วยผลสำเร็จแห่งทาน
[๓๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกาจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ เพราะความตระหนี่และความประมาท บุคคลจึงให้ทานอย่างนี้ไม่ได้ บุคคลผู้หวังบุญรู้แจ้งอยู่จึงให้ทานได้ ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง อนึ่ง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ คนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ได้ พวกหนึ่งมีของมากกลับแบ่งให้ไม่ได้ ทักษิณาที่ให้จากของน้อย นับว่าเท่ากับของเป็นพัน ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทานกับการรบเสมอกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

พวกวีรบุรุษแม้มีน้อยก็เอาชนะคนขี้ขลาดที่มากกว่าได้ ถ้าบุคคลมีศรัทธา ย่อมให้สิ่งของแม้มีน้อยได้ เพราะเหตุนั้น ทายกนี้จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้แม้แก่บุคคลผู้ได้ธรรม๑- แล้วก็ยิ่งเป็นการดี บุคคลใดให้ทานแก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้ว ผู้มีความขยันหมั่นเพียรอันตนบรรลุแล้ว บุคคลนั้นข้ามพ้นนรกแห่งยมราชได้แล้วเข้าถึงฐานะอันเป็นทิพย์ ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้วก็ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง แม้ทานที่บุคคลเลือกให้ก็เป็นทานให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่บุคคลเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่าใด ควรแก่ทักษิณามีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์นี้ ทานทั้งหลายที่บุคคลเลือกให้แล้วในบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก เหมือนพืชทั้งหลายที่บุคคลหว่านลงในนาชั้นดี ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ บุคคลผู้ได้ธรรม หมายถึงอริยบุคคลผู้บรรลุธรรม (สํ.ส.อ. ๑/๓๓/๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้วก็ยิ่งเป็นการดี ทานที่บุคคลเลือกให้ก็ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายก็ยิ่งเป็นการดี บุคคลใดไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ไม่ทำบาปเพราะคำติเตียนจากผู้อื่น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ซึ่งเป็นคนกลัวบาป แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาปนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาป เพราะกลัวบาปอย่างแท้จริง ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ- ผู้มีพระภาค คำของใครหนอเป็นสุภาษิต” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำพูดของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยอ้อม แต่ขอ พวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง ความจริง ทานที่ให้ด้วยศรัทธาบัณฑิตสรรเสริญมาก แต่บทแห่งธรรม๑- ประเสริฐกว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญา ในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนโน้นก็ดี ได้บรรลุนิพพานนั่นเอง
สาธุสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ บทแห่งธรรม หมายถึงนิพพาน (สํ.ส.อ. ๑/๓๓/๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๔๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๔๐-๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=583&Z=647                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=94              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=94&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1568              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=94&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1568                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i078-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/sn1.33/en/sujato https://suttacentral.net/sn1.33/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :