ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๓. อุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่อาศัยกัน
[๒๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อรู้เห็น จึงกล่าวถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เราเมื่อไม่รู้เห็น จึงไม่กล่าวถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เมื่อรู้เห็นอะไร ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายจึงมี คือ เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ สัญญาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ สังขารเป็นอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง วิญญาณเป็นอย่างนี้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๓. อุปนิสสูตร

เราเมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายจึงมี เมื่อธรรมเป็นที่สิ้นไป๑- มีอยู่ ขยญาณ(ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป) แม้ใด ย่อมมี เรากล่าวว่าขยญาณแม้นั้นมีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งขยญาณ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘วิมุตติ‘๒- เรากล่าวว่าแม้วิมุตติก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งวิมุตติ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘วิราคะ‘๓- เรากล่าวว่าแม้วิราคะก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งวิราคะ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘นิพพิทา‘๔- เรากล่าวว่าแม้นิพพิทาก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งนิพพิทา สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ยถาภูตญาณทัสสนะ‘๕- เรากล่าวว่าแม้ยถาภูตญาณทัสสนะก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไร เล่าเป็นที่อาศัยแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘สมาธิ’ เรากล่าวว่าแม้สมาธิก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งสมาธิ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘สุข’ เรากล่าวว่าแม้สุขก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งสุข สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ปัสสัทธิ‘๖- เรากล่าวว่าแม้ปัสสัทธิก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งปัสสัทธิ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ปีติ’ @เชิงอรรถ : @ ธรรมเป็นที่สิ้นไป ในที่นี้หมายถึงมรรคและผล (สํ.นิ.อ. ๒/๒๓/๖๐-๖๑) @ วิมุตติ ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (๒/๒๓/๖๑) @ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค คือ ธรรมเครื่องกำจัดกิเลส (สํ.นิ.อ. ๒/๒๓/๖๑) @ นิพพิทา ในที่นี้หมายถึงนิพพิทาญาณ คือ ญาณที่พิจารณาเห็นสังขารว่ามีโทษจนเกิดความเบื่อหน่าย @(สํ.นิ.อ. ๒/๒๓/๖๑) @ ยถาภูตญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงญาณที่พิจารณาเห็นสังขารตามความเป็นจริง (๒/๒๓/๖๒) @ ปัสสัทธิ คือธรรมที่สงบระงับความกระวนกระวาย อันเป็นปัจจัยแห่งความสุขที่เป็นเบื้องต้นแห่งสมาธิที่แน่วแน่ @(สํ.นิ.อ. ๒/๒๓/๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๓. อุปนิสสูตร

เรากล่าวว่าแม้ปีติก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งปีติ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ปราโมทย์’ เรากล่าวว่าแม้ปราโมทย์ก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งปราโมทย์ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ศรัทธา’ เรากล่าวว่าแม้ศรัทธาก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งศรัทธา สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ทุกข์’ เรากล่าวว่าแม้ทุกข์ก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งทุกข์ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ชาติ’ เรากล่าวว่าแม้ชาติก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งชาติ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ภพ’ เรากล่าวว่าแม้ภพก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่อาศัย แห่งภพ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘อุปาทาน’ เรากล่าวว่าแม้อุปาทานก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งอุปาทาน สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ตัณหา’ เรากล่าวว่าแม้ตัณหาก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่าเป็นที่ อาศัยแห่งตัณหา สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘เวทนา’ ฯลฯ สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘ผัสสะ’ ... สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘สฬายตนะ’ ... สิ่งนั้นควร เรียกว่า ‘นามรูป’ ... สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘วิญญาณ’ ... สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘สังขาร ทั้งหลาย’ เรากล่าวว่าแม้สังขารทั้งหลายก็มีที่อาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีที่อาศัย อะไรเล่า เป็นที่อาศัยแห่งสังขารทั้งหลาย สิ่งนั้นควรเรียกว่า ‘อวิชชา’ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อาศัย วิญญาณมี สังขารเป็นที่อาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อาศัย สฬายตนะมีนามรูปเป็นที่อาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อาศัย ชาติมีภพเป็นที่อาศัย ทุกข์ มีชาติเป็นที่อาศัย ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อาศัย ปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อาศัย ปีติมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๔. อัญญติตถิยสูตร

ปราโมทย์เป็นที่อาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อาศัย สมาธิ มีสุขเป็นที่อาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อาศัย นิพพิทามียถาภูต- ญาณทัสสนะเป็นที่อาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อาศัย ขยญาณมีวิมุตติเป็นที่อาศัย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนยอดภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา ลำธารและห้วยทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ทำหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำเต็มเปี่ยมแล้ว ทำบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้ว ทำแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อย เต็มแล้ว ทำแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ก็ทำมหาสมุทรให้เต็ม แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่ อาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อาศัย สฬายตนะมีนามรูปเป็นที่อาศัย ผัสสะมี สฬายตนะเป็นที่อาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อาศัย ชาติมีภพเป็นที่อาศัย ทุกข์ มีชาติเป็นที่อาศัย ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อาศัย ปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อาศัย ปีติมี ปราโมทย์เป็นที่อาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อาศัย สมาธิมีสุข เป็นที่อาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นที่อาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อาศัย ขยญาณมี วิมุตติเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน
อุปนิสสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๔๐-๔๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=16&siri=19              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=704&Z=784                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=68              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=68&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1328              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=68&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1328                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i064-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.023.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.023.bodh.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.023x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn12.23/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.23/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :