ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง
[๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขา- มิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์ แวดล้อม ประทับนั่งในที่แจ้ง ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่าประนมมือไปทางที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลถามเหตุอย่างหนึ่งกับพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง ประทานวโรกาสที่จะตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด” ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสแล้วนั่งบนอาสนะของตนได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ใช่ไหม คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)” “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้แล คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์”
มูลเหตุแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีอะไรเป็นมูลเหตุ” “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ” ฯลฯ “อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าอุปาทาน เป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นอย่างเดียวกันก็มิใช่ ทั้ง อุปาทานเป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการก็มิใช่ แต่ฉันทราคะใน อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้นเป็นตัวอุปาทาน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ ภิกษุนั้น ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จะพึงมีได้หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พึงมีได้ ภิกษุ” แล้วได้ตรัสต่อไปว่า “ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ มีเวทนาเช่นนี้ มีสัญญาเช่นนี้ มีสังขารเช่นนี้ มีวิญญาณเช่นนี้’ ภิกษุ ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จะพึงมีได้อย่างนี้แล”
เหตุที่เรียกว่าขันธ์
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขันธ์ จึงชื่อว่าขันธ์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์”
เหตุปัจจัยแห่งขันธ์
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็น เหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็น เหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ ปรากฏ นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ”
เหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็น พระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของ สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณา เห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างนี้”
เหตุไม่มีสักกายทิฏฐิ
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้ เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณา เห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่ พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดย ความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณใน อัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างนี้”
คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้ เป็นคุณของรูป สภาพที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็น โทษของรูป ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในรูป นี้เป็น เครื่องสลัดออกจากรูป สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น ... อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ... อาศัย สังขารเกิดขึ้น ... สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของวิญญาณ สภาพที่วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของ วิญญาณ ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็น เครื่องสลัดออกจากวิญญาณ”
ความไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไรจึง จะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวง ในภายนอก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตาม ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ภิกษุ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”
กรรมที่อนัตตากระทำถูกต้องอัตตา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงเข้าใจสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำ สอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตา กระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร’ ภิกษุทั้งหลาย เราได้แนะนำเธอทั้งหลายไว้แล้วด้วยการสอบถามในธรรม เหล่านั้นในบาลีนั้นๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๓๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือ ไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” มีภิกษุทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคในเรื่องต่อไปนี้ คือ ๑. เรื่องขันธ์ ๕ ๒. เรื่องมูลเหตุแห่งขันธ์ ๕ ๓. เรื่องฉันทราคะ ๔. เรื่องชื่อของขันธ์ ๕ ๕. เรื่องเหตุปัจจัยแห่งการบัญญัติขันธ์ ๕ ๖. เรื่องสักกายทิฏฐิ ๗. เรื่องเหตุไม่มีสักกายทิฏฐิ ๘. เรื่องคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากขันธ์ ๕ ๙. เรื่องไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ๑๐. เรื่องกรรมที่อนัตตากระทำถูกต้องอัตตา รวมปัญหาที่ทูลถาม ๑๐ ข้อด้วยกัน
ปุณณมสูตรที่ ๑๐ จบ
ขัชชนียวรรคที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสาทสูตร ๒. สมุทยสูตร ๓. ทุติยสมุทยสูตร ๔. อรหันตสูตร ๕. ทุติยอรหันตสูตร ๖. สีหสูตร ๗. ขัชชนียสูตร ๘. ปิณโฑลยสูตร ๙. ปาลิเลยยสูตร ๑๐. ปุณณมสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๓๔-๑๔๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=82              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2228&Z=2356                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=182              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=182&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7412              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=182&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7412                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i149-e.php#sutta10 https://suttacentral.net/sn22.82/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.82/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :