ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๙. โลหิจจสูตร
ว่าด้วยโลหิจจพราหมณ์
[๑๓๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ กุฎีป่า เขตเมืองมักกรกฏะ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น มาณพผู้หาฟืนซึ่งเป็นศิษย์ของโลหิจจพราหมณ์จำนวนมาก เข้าไปยังกุฎีป่าของท่านพระมหากัจจานะ เที่ยวเดินไปมารอบๆ กุฎี เล่นกระโดด ปล้ำกัน ส่งเสียงอื้ออึงเซ็งแซ่ว่า “สมณะศีรษะโล้นเหล่านี้ เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร) เกิด จากบาทของท้าวมหาพรหมอันชาวภารตะ๑- เหล่านี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม” ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะออกจากที่อยู่แล้วได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้น ดังนี้ว่า “มาณพทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียงดัง เราจักกล่าวธรรมแก่เธอ ทั้งหลาย” เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็นิ่งเฉย ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า @เชิงอรรถ : @ ภารตะ หมายถึงพวกกุฎุมพี (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๒/๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๙. โลหิจจสูตร

“พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมดั้งเดิมได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีศีลสูงสุด เก่าแก่กว่า พราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครอง รักษาทวารทั้งหลายดีแล้ว เพราะครอบงำความโกรธได้ พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมดั้งเดิมได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ยินดีในธรรมและฌาน๑- อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายละเลยธรรมเหล่านี้ สำคัญว่า ‘เราสาธยายมนตร์’ เมาเพราะโคตร ถูกความโกรธครอบงำ มีอาชญาในตนมาก ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลายทั้งที่สะดุ้งกลัวและไม่สะดุ้งกลัว จึงประพฤติไม่สม่ำเสมอ การสมาทานวัตรทั้งปวง คือ การไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของพราหมณ์ผู้ไม่คุ้มครองทวารย่อมไร้ผล เหมือนคนได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจในความฝันฉะนั้น หนังเสือที่หยาบ การมุ่นผม การไม่ชำระฟัน มนตร์ ศีลและพรตเป็นตบะ (ของพราหมณ์) การหลอกลวง ไม้เท้าที่คด และการใช้น้ำลูบหน้า ข้อวัตรที่พรรณนามาเหล่านี้ พวกพราหมณ์ทำเพราะต้องการอามิส ส่วนจิตที่ตั้งมั่นดีแล้วย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว อ่อนโยนในสัตว์ทั้งปวง นั้นเป็นทางเพื่อถึงความเป็นพรหม” ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นโกรธเคือง ไม่พอใจ ได้เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ ถึงที่อยู่แล้วกล่าวกับโลหิจจพราหมณ์ดังนี้ว่า “ขอท่านผู้เจริญโปรดทราบ พระ มหากัจจานะข้อนขอด คัดค้านมนตร์ของพราหมณ์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว” เมื่อ มาณพเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้วโลหิจจพราหมณ์ก็โกรธเคือง ไม่พอใจ @เชิงอรรถ : @ ธรรมและฌาน ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และสมาบัติ ๘ (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๒/๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๙. โลหิจจสูตร

ทีนั้น โลหิจจพราหมณ์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เป็นการไม่สมควรเลยที่เราจะพึงด่า เหน็บแนม บริภาษพระมหากัจจานะ เพราะฟังคำของพวกมาณพแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ทางที่ดี เราควรเข้าไปถาม” ต่อมา โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึง ที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ สมควร ได้เรียนถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านกัจจานะ มาณพผู้หาฟืน ซึ่งเป็นศิษย์ของข้าพเจ้าจำนวนมากได้มาในที่นี้หรือ” ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า “พราหมณ์ มาณพผู้หาฟืนซึ่งเป็นศิษย์ของ ท่านจำนวนมาก ได้มาในที่นี้” “ท่านกัจจานะได้สนทนาอะไรบ้างกับมาณพเหล่านั้น” “พราหมณ์ อาตมภาพได้สนทนาบางอย่างกับมาณพเหล่านั้นเหมือนกัน” “ท่านกัจจานะได้สนทนากับมาณพเหล่านั้นอย่างไร” “พราหมณ์ อาตมภาพได้สนทนากับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมดั้งเดิมของพราหมณ์ได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีศีลสูงสุด เก่าแก่กว่า ฯลฯ อ่อนโยนในสัตว์ทั้งปวง นั้นเป็นทางเพื่อถึงความเป็นพรหม’ พราหมณ์ อาตมภาพได้สนทนากับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้แล” “ท่านกัจจานะได้กล่าวว่า ‘บุคคลชื่อว่าไม่คุ้มครองทวาร’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร หนอ บุคคลจึงชื่อว่าไม่คุ้มครองทวาร” “พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปทางตาแล้วย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิต๑- อยู่ และไม่รู้ชัด @เชิงอรรถ : @ ปริตตจิต หมายถึงอกุศลจิต (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๙. โลหิจจสูตร

เจโตวิมุตติ๑- และปัญญาวิมุตติ๒- ตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วย่อมยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมยินร้าย ในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัด เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น พราหมณ์ บุคคลชื่อว่าไม่คุ้มครองทวารเป็นอย่างนี้แล” พราหมณ์กล่าวว่า “ท่านกัจจานะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน กัจจานะเรียกบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวารแล้วแลว่า ‘ไม่คุ้มครองทวาร’ ท่านกัจจานะ ได้กล่าวว่า ‘บุคคลชื่อว่าคุ้มครองทวาร’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่า คุ้มครองทวาร” “พราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมไม่ยินดีใน รูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิต๓- อยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ แห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ เจโตวิมุตติ หมายถึงผลอันเกิดจากสมาธิ คือความหลุดพ้นด้วยสมถกัมมัฏฐาน @(สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๒/๕๑, องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒) @ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงผลอันเกิดจากปัญญา คือความหลุดพ้นด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน @(สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๒/๕๑, องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒) @ อัปปมาณจิต หมายถึงโลกุตตรจิต (ม.มู.อ. ๒/๔๑๐-๔/๒๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๑๐. เวรหัญจานิสูตร

ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ย่อมไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้าย ในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัด เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น พราหมณ์ บุคคลชื่อว่าคุ้มครองทวารเป็นอย่างนี้แล” “ท่านกัจจานะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านกัจจานะเรียกบุคคลผู้ คุ้มครองทวารแล้วแลว่า ‘คุ้มครองทวาร’ “ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านกัจจานะ ภาษิตของ ท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านกัจจานะประกาศธรรมโดยประการต่างๆ เปรียบ เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็น อุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต อนึ่ง ขอท่านกัจจานะจงเข้า ไปสู่โลหิจจตระกูลเหมือนดังที่เข้าไปสู่ตระกูลอุบาสกทั้งหลายในเมืองมักกรกฏะเถิด เหล่ามาณพหรือมาณวิกาในโลหิจจตระกูลจักไหว้ ลุกรับ ถวายอาสนะหรือน้ำแก่ ท่าน ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน”
โลหิจจสูตรที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๑๖๐-๑๖๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=112              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=3051&Z=3150                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=205              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=205&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=1037              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=205&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=1037                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i191-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.132.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.132/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.132/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :