ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๑๒. ราสิยสูตร
ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะ
[๓๖๔] ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๑๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า ‘พระสมณโคดมทรงตำหนิ ตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่าเป็นอยู่เศร้าหมองโดย ส่วนเดียว’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมทรง ตำหนิตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นอยู่เศร้าหมอง โดยส่วนเดียว’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระ ผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่ คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้ใหญ่บ้าน สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงชี้โทษและคัดค้านผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นอยู่เศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ไม่ชื่อว่าพูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ และชื่อว่า กล่าวตู่เราด้วยคำเปล่าคำเท็จ
บรรพชิตไม่พึงเสพที่สุด ๒ อย่าง
ผู้ใหญ่บ้าน ที่สุด ๒ อย่างนี้บรรพชิตไม่พึงเสพ คือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยสุขในกามทั้งหลาย) เป็นธรรมอัน ทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ๒. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็น ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ๑- ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน @เชิงอรรถ : @ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้นเป็นอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทานั้น คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
กามโภคีบุคคล ๓ จำพวก
ผู้ใหญ่บ้าน กามโภคีบุคคล๑- ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก กามโภคีบุคคล ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำ และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่ แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ ๒. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบ ธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตน ให้อิ่มหนำสำราญ และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ @เชิงอรรถ : @ กามโภคีบุคคล หมายถึงผู้บริโภคกาม, ผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์ ในที่นี้มี ๓ จำพวก แต่ในที่อื่นมี ๑๐ จำพวก @คือ จำพวกที่ ๑-๒ แบ่งย่อยเป็น ๓ จำพวก จำพวกที่ ๓ แบ่งย่อยเป็น ๔ จำพวก (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและ ไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและ ไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ ๓. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงาน ที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ แต่เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มี ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และ แจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
กามโภคีบุคคลที่ควรติเตียนและสรรเสริญ
ผู้ใหญ่บ้าน ในบรรดากามโภคีบุคคล ๓ จำพวกนั้น กามโภคีบุคคลที่แสวงหา โภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้ อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรติเตียนโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๑) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรติเตียน โดย ๒ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คือ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ (๒) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วยการงานที่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญนี้ควรติเตียนโดย สถานเดียว ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย การงานที่ผิด’ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘แจกจ่าย และทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ (๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วย การงานที่ไม่ผิด’ ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๔) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ (๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรมด้วยการงาน ที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ทั้งแจกจ่าย และทำบุญ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่ายและทำบุญ’ ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมด้วย การงานที่ผิด’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ (๖) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญ โดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วย การงานที่ไม่ผิด’ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ (๗) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญ โดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ (๘) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ แจกจ่าย และทำบุญ แต่เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่า นั้นอยู่ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่าย และทำบุญ’ ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ (๙) กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น แสวงหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ ทั้งแจกจ่ายและทำบุญ แต่ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น อยู่ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘เลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ’ ๓. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่ายและทำบุญ’ ๔. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๔ นี้ว่า ‘ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่’ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๔ สถานนี้ (๑๐)
ผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวก
ผู้ใหญ่บ้าน บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวกนี้มีปรากฏ อยู่ในโลก บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม ไฉน หนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่บรรลุกุศลธรรม และไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ (๑) ๒. อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม ไฉนหนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุ กุศลธรรม แต่ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ (๒) ๓. อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมอง มีศรัทธา ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘ไฉนหนอเราพึงบรรลุกุศลธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

ไฉนหนอเราพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์’ เขาทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุกุศลธรรม และทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ (๓)
ผู้บำเพ็ญตบะเป็นอยู่เศร้าหมองควรถูกติเตียนและสรรเสริญ
ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่ เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่บรรลุกุศลธรรม และไม่ทำให้แจ้ง ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดย ๓ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่บรรลุกุศลธรรม’ ๓. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๑) บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุกุศลธรรม แต่ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คือ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’ ๒. ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘บรรลุกุศลธรรม’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๒. ราสิยสูตร

บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ควร สรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ (๒) บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมอง ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย บรรลุกุศลธรรม และทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์ ควรติเตียนโดยสถานเดียว ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คืออะไร คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘ทำตนให้เดือดร้อนกระวนกระวาย’ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน อะไรบ้าง คือ ๑. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘บรรลุกุศลธรรม’ ๒. ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์’ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นอยู่เศร้าหมองนี้ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ ควร สรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ (๓)
ธรรม ๓ ประการที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ผู้ใหญ่บ้าน ธรรม ๓ ประการนี้ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้มีราคะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะราคะเป็นเหตุ เมื่อละราคะได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๒. บุคคลผู้มีโทสะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะโทสะเป็นเหตุ เมื่อละโทสะได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๒๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๘. คามณิสังยุต]

๑๓. ปาฏลิยสูตร

เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๓. บุคคลผู้มีโมหะย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เพราะโมหะเป็นเหตุ เมื่อละโมหะได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง นี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด ด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ธรรม ๓ ประการนี้ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่คร่ำครึ ไม่ประกอบ ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านชื่อราสิยะได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ราสิยสูตรที่ ๑๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๔๑๙-๔๓๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=278              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=8345&Z=8580                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=629              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=629&items=20              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3721              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=629&items=20              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3721                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i586-e.php#sutta12 https://suttacentral.net/sn42.12/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :