ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๑. ปัพพตวรรค ๖. กุณฑลิยสูตร

๖. กุณฑลิยสูตร
ว่าด้วยกุณฑลิยปริพาชก
[๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน สถานที่ พระราชทานอภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้งนั้น กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก ถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปหาบริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว ในเวลาหลังอาหารเดินเที่ยวไปทางอารามสู่อาราม ทางอุทยานสู่อุทยาน ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งกำลังกล่าวกถาซึ่งมีวิธีเปลื้องวาทะเป็น อานิสงส์และมีวิธีโต้วาทะเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์” “ท่านพระโคดม ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชาและ วิมุตติให้บริบูรณ์” “กุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์” “ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์” “กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์” “ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำ สติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์” “กุณฑลิยะ สุจริต ๓ ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์” “ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๑. ปัพพตวรรค ๖. กุณฑลิยสูตร

“กุณฑลิยะ อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสุจริต ๓ ประการ ให้บริบูรณ์ อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปที่น่าชอบใจทางตาแล้ว ไม่หลงใหล ไม่เพลิด เพลินรูปที่น่าชอบใจ ไม่ให้เกิดความกำหนัด กายของเธอก็คงที่ และจิตที่คงที่ใน ภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจทางตาแล้ว ก็ไม่ เก้อเขิน มีจิตไม่ติดอยู่ ไม่เสียใจ มีใจไม่พยาบาท ทั้งกายของเธอก็คงที่ และจิต ที่คงที่ในภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่น่าชอบใจทางใจแล้ว ไม่หลงใหล ไม่เพลิดเพลิน ไม่ให้เกิดความกำหนัด กายของเธอก็คงที่ และจิตที่คงที่ในภายในก็ มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจทางใจแล้ว ก็ไม่ เก้อเขิน มีจิตไม่ติดอยู่ ไม่เสียใจ มีใจไม่พยาบาท ทั้งกายของเธอก็คงที่ และจิต ที่คงที่ในภายในก็มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้ว เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว มีกายคงที่ และมีจิตที่คงที่ในภายใน มั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้วในรูปทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ ทางใจแล้ว มีกายคงที่ และมีจิตที่คงที่ในภายในมั่นคงดี หลุดพ้นดีแล้วในธรรมที่ น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ อินทรียสังวรที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ประการนั้นที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำ สติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญ วจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๑. ปัพพตวรรค ๖. กุณฑลิยสูตร

สุจริต ๓ ประการที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำ สติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ประการที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สติปัฏฐาน ๔ ประการที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ประการที่บุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ ฯลฯ ๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ โพชฌงค์ ๗ ประการที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว กุณฑลิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๑. ปัพพตวรรค ๗. กูฏาคารสูตร

ยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงาย ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและ พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
กุณฑลิยสูตรที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๒๐-๑๒๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=79              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=2334&Z=2401                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=394              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=394&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=4606              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=394&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=4606                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn46.6/en/sujato https://suttacentral.net/sn46.6/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :