ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๓. โอวาทวรรค ๙. ปริปาจิตสิกขาบท นิทานวัตถุ

๓. โอวาทวรรค
๙. ปริปาจิตสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๙๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีชื่อถุลลนันทาเป็นผู้ใกล้ชิดตระกูล ของตระกูลหนึ่งรับภัตตาหารประจำ คหบดีนั้นนิมนต์ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปไว้ ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุณีชื่อถุลลนันทาครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปถึงตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับคหบดีนั้นดังนี้ว่า “คหบดี ทำไมท่าน จึงเตรียมของเคี้ยวของฉันไว้มากมาย” คหบดีตอบว่า “แม่เจ้า กระผมนิมนต์พระเถระทั้งหลายไว้ ขอรับ” ภิกษุณีชื่อถุลลนันทาถามว่า “คหบดี พระเถระเหล่านั้น ใครบ้าง” คหบดีตอบว่า “คือ พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ พระ คุณเจ้ามหากัจจายนะ พระคุณเจ้ามหาโกฏฐิตะ พระคุณเจ้ามหากัปปินะ พระคุณเจ้า มหาจุนทะ พระคุณเจ้าอนุรุทธะ พระคุณเจ้าเรวตะ พระคุณเจ้าอุบาลี พระคุณเจ้า อานนท์ พระคุณเจ้าราหุล” ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “คหบดี เมื่อมีพระเถระผู้ใหญ่ ทำไมท่านจึงนิมนต์ พระผู้น้อยเล่า” “พระเถระผู้ใหญ่ของท่าน มีใครบ้าง ขอรับ” “พระคุณเจ้าเทวทัต พระคุณเจ้าโกกาลิกะ พระคุณเจ้ากตโมรกติสสกะ๑- พระ คุณเจ้าขัณฑเทวีบุตร พระคุณเจ้าสมุทททัต” @เชิงอรรถ : @ วินัยปิฎกเล่ม ๑ เป็น กฏโมรกติสสกะ (วิ.มหา. ๑/๔๐๙/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๕๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๓. โอวาทวรรค ๙. ปริปาจิตสิกขาบท พระบัญญัติ

ในขณะที่ภิกษุณีชื่อถุลลนันทากล่าวค้างอยู่นี้ พอดีกับที่พระเถระเหล่านั้นเข้า มา นางกลับพูดว่า “ถูกแล้ว คหบดี ท่านนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ทั้งนั้น” คหบดีกล่าวว่า “เมื่อสักครู่นี่เอง ท่านกล่าวว่าพระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นพระ ผู้น้อย แต่เดี๋ยวนี้กลับกล่าวว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่” จึงขับนางออกจากเรือนและงด ภัตตาหารที่ถวายประจำ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พระเทวทัตรู้อยู่จึงฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียมเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น ตำหนิพระเทวทัตโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอรู้อยู่ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะ นำให้จัดเตรียม จริงหรือ” พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่จึงฉันบิณฑบาตที่ ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียมเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่ เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๕๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๓. โอวาทวรรค ๙. ปริปาจิตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๑๙๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งบวชจากกรุงราชคฤห์ ได้เดินทางไปตระกูลญาติ พวกชาวบ้านถวายภัตตาหารด้วยความดีใจว่า นานๆ พระคุณเจ้าจึงมา ภิกษุณีผู้ ใกล้ชิดตระกูลของตระกูลนั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวาย ภัตตาหารแก่พระคุณเจ้า” ทีนั้น ภิกษุนั้นมีความยำเกรงว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุผู้รู้อยู่ฉัน บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม จึงไม่ยอมรับประเคน ไม่สามารถไปเที่ยว บิณฑบาต ได้อดอาหาร ครั้นไปอารามจึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน เราอนุญาตให้ภิกษุ ผู้รู้อยู่ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียมได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๙๔] อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๙๕] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๕๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๓. โอวาทวรรค ๙. ปริปาจิตสิกขาบท บทภาชนีย์

คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง ผู้อื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้ หรือภิกษุณีบอก ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ที่ชื่อว่า แนะนำให้จัดเตรียม คือ เขาไม่ประสงค์จะถวาย หรือไม่ประสงค์ จะกระทำแต่แรก ภิกษุณีกล่าวว่า “พระคุณเจ้าเป็นนักสวด พระคุณเจ้าเป็นพหูสูต พระคุณเจ้าเป็นผู้ชำนาญพระสูตร พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงวินัย พระคุณเจ้าเป็น ธรรมกถึก ท่านทั้งหลายจงถวายแก่พระคุณเจ้า จงทำถวายแก่พระคุณเจ้า” อย่างนี้ ชื่อว่าแนะนำให้จัดเตรียม ที่ชื่อว่า บิณฑบาต ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน คือ ยกเว้นที่คฤหัสถ์ ริเริ่มไว้ ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ปรารภไว้ คือ เขาเป็นญาติ เป็นผู้ปวารณาภิกษุไว้ หรือ ของเขาจัดแจงไว้ตามปกติ [๑๙๖] ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่าจะฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
บทภาชนีย์
บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าภิกษุณีแนะนำให้จัด เตรียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุไม่แน่ใจ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม ฉัน ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๓. โอวาทวรรค ๙. ปริปาจิตสิกขาบท อนาปัตติวาร

ภิกษุฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียวแนะนำให้จัดเตรียม ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน บิณฑบาตที่ภิกษุณีไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าภิกษุณีแนะนำให้ จัดเตรียม ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ บิณฑบาตที่ภิกษุณีไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุไม่แน่ใจ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ บิณฑบาตที่ภิกษุณีไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๑๙๗] ๑. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ๒. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่สิกขมานาแนะนำให้จัดเตรียม ๓. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่สามเณรีแนะนำให้จัดเตรียม ๔. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะ ๕ ๑- ๕. ภิกษุวิกลจริต ๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปริปาจิตสิกขาบทที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ (ดู ข้อ ๒๓๙ หน้า ๓๙๗ ในเล่มนี้) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๕๖-๓๖๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=65              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10037&Z=10127                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=461              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=461&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8033              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=461&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8033                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc29/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :