ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๗. สัปปาณกวรรค ๑. สัญจิจจสิกขาบท นิทานวัตถุ

๗. สัปปาณกวรรค
หมวดว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
๑. สัญจิจจสิกขาบท
ว่าด้วยความจงใจปลงชีวิตสัตว์
เรื่องพระอุทายี
[๓๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นนักยิงธนู๑- และท่านไม่ชอบอีกา ท่านจึงยิงอีกาทั้งหลายแล้วตัดหัวมาเสียบหลาวเรียงไว้ ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ใครฆ่าอีกาเหล่านี้” ท่านพระอุทายีตอบว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมเอง กระผมไม่ชอบอีกา” บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน พระอุทายีจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า ฯลฯ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายี โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอจงใจปลงชีวิตสัตว์ จริงหรือ” ท่าน พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิ ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ @เชิงอรรถ : @ สมัยเป็นคฤหัสถ์ ท่านพระอุทายีเป็นนักแม่นธนู เชี่ยวชาญในศิลปะการใช้ธนู และเป็นอาจารย์ของนัก @แม่นธนูด้วย (วิ.อ. ๒/๓๘๒/๔๑๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๘๒/๑๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๐๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๗. สัปปาณกวรรค ๑. สัญจิจจสิกขาบท บทภาชนีย์

พระบัญญัติ
[๓๘๓] ก็ ภิกษุใดจงใจปลงชีวิตสัตว์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า จงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด ที่ชื่อว่า สัตว์มีชีวิต พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ดิรัจฉาน คำว่า ปลงชีวิต ได้แก่ ตัดทำลายชีวิตินทรีย์ ตัดความสืบต่อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๓๘๕] สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ปลงชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ไม่ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๐๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๗. สัปปาณกวรรค ๑. สัญจิจจสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๓๘๖] ๑. ภิกษุไม่จงใจจะปลงชีวิตสัตว์ ๒. ภิกษุไม่มีสติปลงชีวิตสัตว์ ๓. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว ๔. ภิกษุไม่ประสงค์จะฆ่า ๕. ภิกษุวิกลจริต ๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
สัญจิจจสิกขาบทที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๐๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๐๑-๕๐๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=97              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=12600&Z=12641                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=631              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=631&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9650              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=631&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9650                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc61/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc61/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :