ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๒. สัทธาพลสูตร

๔. จตุตถปัณณาสก์
๑. อินทริยวรรค
หมวดว่าด้วยอินทรีย์
๑. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้ อินทรีย์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา) ๒. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ) ๓. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ) ๔. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา) ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้แล
อินทริยสูตรที่ ๑ จบ
๒. สัทธาพลสูตร
ว่าด้วยสัทธาพละ
[๑๕๒] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้ พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา) ๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ๓. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ) ๔. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา) ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
สัทธาพลสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๕. ปฏิสังขานพลสูตร

๓. ปัญญาพลสูตร
ว่าด้วยปัญญาพละ
[๑๕๓] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้ พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา) ๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ) ๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์) ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
ปัญญาพลสูตรที่ ๓ จบ
๔. สติพลสูตร
ว่าด้วยสติพละ
[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สติพละ (กำลังคือสติ) ๒. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ) ๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ) ๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์) ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
สติพลสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฏิสังขานพลสูตร
ว่าด้วยปฏิสังขานพละ
[๑๕๕] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๖. กัปปสูตร

๑. ปฏิสังขานพละ (กำลังคือการพิจารณา) ๒. ภาวนาพละ (กำลังคือการเจริญ) ๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ) ๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์) ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
ปฏิสังขานพลสูตรที่ ๕ จบ
๖. กัปปสูตร
ว่าด้วยกัป
[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้ อสงไขยกัป ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ในเวลาที่สังวัฏฏกัป๑- ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้ หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือ จำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ๒. ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัป๒- ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี @เชิงอรรถ : @ คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลา @ยาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึง @ช่วงระยะเวลาที่โลกเสื่อม มี ๓ อย่าง คือ (๑)อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อม @เพราะน้ำนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (๒)เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้ @นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (๓)วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลาย @นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๖/๓๘๔, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕) @ สังวัฏฏฐายีกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกอยู่ถัดจากความเสื่อมไป หรือหมายถึงตั้งแต่เปลวไฟที่ให้กัป @พินาศดับลงจนถึงมีมหาเมฆเต็มบริบูรณ์ใน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิจักรวาล (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, @วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๗. โรคสูตร

๓. ในเวลาที่วิวัฏฏกัป๑- ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวน เท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ๔. ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัป๒- ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้แล
กัปปสูตรที่ ๖ จบ
๗. โรคสูตร
ว่าด้วยโรค
[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. โรคทางกาย ๒. โรคทางใจ สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปี บ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจ ตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ โรค ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ @เชิงอรรถ : @ วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญ หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิด @จนถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕) @ วิวัฏฏฐายีกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกอยู่ถัดความเจริญไป หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่มหาเมฆซึ่งให้ @กัปพินาศเกิดอีก จนถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดอีก ในคำทั้ง ๔ นี้ หมายถึงเตโชสังวัฏฏกัปเท่านั้น @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๖/๓๘๔, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๘. ปริหานิสูตร

๒. เธอเมื่อมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ย่อมตั้งความปรารถนา ชั่วเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง ๓. เธอวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ ลาภสักการะและชื่อเสียง ๔. เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย นั่งกล่าวธรรม กลั้นอุจจาระและ ปัสสาวะเพื่อให้เขานับถือ ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักไม่ เป็นคนมักมาก ไม่เป็นคนมีจิตคับแค้น ไม่เป็นคนไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ เราจักไม่ตั้งความปรารถนาชั่ว เพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวาย ไม่พยายามเพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักอดทนต่อ ความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่างๆจักเป็นผู้ อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต” ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โรคสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
[๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้เลยว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๙. ภิกขุนีสูตร

๑. ความเป็นผู้มีราคะหนา ๒. ความเป็นผู้มีโทสะหนา ๓. ความเป็นผู้มีโมหะหนา ๔. ไม่มีปัญญาจักษุ๑- ในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง ๒. ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง ๓. ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง ๔. มีปัญญาจักษุในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า ไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ปริหานิสูตรที่ ๘ จบ
๙. ภิกขุนีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณี
[๑๕๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่ง เรียกชายคนหนึ่งมาบอกว่า “พ่อหนุ่มผู้เจริญ มานี่ ท่านจงเข้าไปหา พระคุณเจ้าอานนท์ถึงที่อยู่ กราบเท้าท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา เรียนว่า @เชิงอรรถ : @ หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนและสอบถามบ้าง ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณา @และรู้แจ้งแทงตลอดบ้าง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๘/๓๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๑๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๙. ภิกขุนีสูตร

‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า พระคุณเจ้าอานนท์’ และจงเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอ พระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณีด้วยเถิด” บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า พระคุณเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า” และเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอ โอกาส ขอพระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของ ภิกษุณีด้วยเถิด” ท่านพระอานนท์รับโดยดุษณีภาพ ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๑- เข้าไปหา ภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณี ภิกษุณีนั้นเห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล นอนคลุม ศีรษะอยู่บนเตียง ลำดับนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นถึงที่อยู่ นั่งบน อาสนะที่ปูลาดไว้ ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัยอาหาร๒- แล้วพึงละอาหาร๓- เสีย กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัยตัณหา๔- แล้วพึงละตัณหา๕- เสีย กายนี้เกิดขึ้น เพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการ ฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว @เชิงอรรถ : @ ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระอานนท์มิได้นุ่งสบง มิใช่ว่า พระอานนท์ @ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึงพระอานนท์ผลัดเปลี่ยนสบง หรือ @ขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย คือ ห่มจีวร @อุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, อุทาน.อ. ๖/๖๕) @ อาหาร ในที่นี้หมายถึงกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) ในปัจจุบัน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕) @ อาหาร ในที่นี้หมายถึงอาหารคือกรรมในกาลก่อนหรือในอดีต (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕) @ ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นขณะนี้ ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ให้ความอยากเกิดขึ้นในวิโมกข์อัน @ยอดเยี่ยม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา. ๒/๑๕๙/๔๒๒) @ ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เป็นมูลรากในวัฏฏะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๙. ภิกขุนีสูตร

น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคล อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่ ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์ พรหมจรรย์โดยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา’ เธออาศัย อาหารแล้วภายหลังจึงละอาหารเสียได้ น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัย อาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๑- ปัญญาวิมุตติ๒- อันไม่มี อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิด อย่างนี้ว่า ‘เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธออาศัยตัณหา แล้วภายหลังจึงละตัณหาเสียได้ น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัย มานะแล้วพึงละมานะเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิด อย่างนี้ว่า ‘ก็ท่านผู้มีอายุนั้นทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ไฉนเราจักทำให้แจ้ง บ้างไม่ได้’ เธออาศัยมานะแล้วภายหลังจึงละมานะเสียได้ @เชิงอรรถ : @ เจโตวิมุตติ หมายถึงผลสมาธิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๒/๘๔) @ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงผลปัญญา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๒/๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะ แล้วพึงละมานะเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว” ลำดับนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกจากเตียง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลง แทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า “ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระคุณเจ้า อานนท์โปรดยกโทษให้ดิฉันผู้ทำอย่างนี้ เพื่อให้สำรวมระวังต่อไป” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ช่างเถอะ น้องหญิง เธอเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอผู้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เรายกโทษให้เธอ น้องหญิง การที่บุคคลเห็นโทษแล้วทำคืนตาม ธรรม สำรวมระวังต่อไปนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”
ภิกขุนีสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สุคตวินยสูตร
ว่าด้วยพระสุคตและวินัยของพระสุคต
[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย พระสุคต๑- หรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลก พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก๒- เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระสุคต คือใคร คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง @เชิงอรรถ : @ พระสุคต หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายหลายนัย ดังนี้ คือ (๑) เสด็จไปงาม คือ @บริสุทธิ์ ได้แก่ ดำเนินไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) เสด็จไปยังสถานที่ดี คือ อมตนิพพาน (๓) เสด็จ @ไปโดยชอบ คือ ไม่กลับมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๔) ตรัสไว้โดยชอบ คือ ตรัสพระวาจาที่ควรในฐานะ @ที่ควรเท่านั้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๘) @ เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก หมายถึงพระสุคตเมื่อดำรงอยู่ในโลก ทำให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้สมบัติ ๓ @อย่าง คือ (๑) มนุษยสมบัติ สมบัติในมนุษย์ (๒) เทวสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (๓) นิพพานสมบัติ @สมบัติคือพระนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕๓/๕๘, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๕๓/๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ ผู้มีพระภาค๑- ภิกษุทั้งหลาย นี้คือพระสุคต วินัยของพระสุคต เป็นอย่างไร คือ พระสุคตนั้นย่อมทรงแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ พยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวินัยของพระสุคต ภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลกอย่างนี้ พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาผิดลำดับโดยบทพยัญชนะที่ สืบทอด กันมาไม่ดี๒- แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี ก็เป็น การสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ๒. เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์๓- ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตร ก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็น ไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๓ (สีหสูตร) หน้า ๕๒ ในเล่มนี้ @ หมายถึงบทบาลีที่สืบทอดกันผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘) @ เรียนจบคัมภีร์ (อาคตาคมา) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้แก่ @ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

๔. เป็นเถระ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมน- ธรรม๑- ทอดธุระ๒- ในปวิเวก๓- ไม่ปรารภความเพียร๔- เพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความ เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อม เป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป แห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาดีโดยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดีก็เป็นการสืบทอดขยาย ความดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ โอกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม (๒) พยาบาท ความ @คิดร้าย (๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ (๕) วิจิกิจฉา @ความลังเลสงสัย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ทอดธุระ หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวกคือสภาวะอันเป็นที่ตั้ง ที่ทรงไว้แห่งทุกข์ คือ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ @อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ไม่ปรารภความเพียร หมายถึงไม่ทำความเพียร ๒ อย่าง คือ ความเพียรทางกายและความเพียรทางจิต @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๕/๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๑. อินทริยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๒. เป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรก็ไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ๔. เป็นเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระใน โอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้ แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็น ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
สุคตวินยสูตรที่ ๑๐ จบ
อินทริยวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อินทริยสูตร ๒. สัทธาพลสูตร ๓. ปัญญาพลสูตร ๔. สติพลสูตร ๕. ปฏิสังขานพลสูตร ๖. กัปปสูตร ๗. โรคสูตร ๘. ปริหานิสูตร ๙. ภิกขุนีสูตร ๑๐. สุคตวินยสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๑๔-๒๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=132              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=3884&Z=4082                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=151              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=151&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8828              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=151&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8828                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i151-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i151-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.159.than.html https://suttacentral.net/an4.151/en/sujato https://suttacentral.net/an4.152/en/sujato https://suttacentral.net/an4.153/en/sujato https://suttacentral.net/an4.154/en/sujato https://suttacentral.net/an4.155/en/sujato https://suttacentral.net/an4.156/en/sujato https://suttacentral.net/an4.157/en/sujato https://suttacentral.net/an4.159/en/sujato https://suttacentral.net/an4.158/en/sujato https://suttacentral.net/an4.159/en/sujato https://suttacentral.net/an4.159/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.160/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :