ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. เทวตาวรรค ๗. ทานสูตร

๗. ทานสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน
[๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสิกาชื่อนันทมาตา ชาวเมือง เวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ในหมู่ภิกษุมีพระสารีบุตรและ พระโมคคัลลานะเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นอุบาสิกาชื่อนันทมาตา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นแล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาชื่อนันทมาตาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น ถวายทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ในหมู่ภิกษุมีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประธาน ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างไร คือ ฝ่ายทายก(ผู้ให้)มีองค์ ๓ ประการ ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) มีองค์ ๓ ประการ องค์ ๓ ประการ ของทายก อะไรบ้าง คือ ทายกในธรรมวินัยนี้ ๑. ก่อนให้ก็มีใจดี ๒. กำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส ๓. ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน นี้คือองค์ ๓ ประการ ของทายก องค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก อะไรบ้าง คือ ปฏิคาหกในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ นี้คือองค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก องค์ ๓ ประการ ของทายก องค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก มีด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. เทวตาวรรค ๗. ทานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ๑- มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ เปรียบเหมือนการกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือน้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง น้ำในมหาสมุทร นั้นถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลของทักษิณานั้น ถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันนั้น ทายก ก่อนให้ก็มีใจดี เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ๒- ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้ @เชิงอรรถ : @ มีอารมณ์ดีเลิศ ในที่นี้หมายถึงให้กามคุณ ๕ ประการ มีรูปเป็นต้นที่เลิศ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๑/๓๔๘) @ ยัญ ในที่นี้หมายถึงทาน หรือเครื่องไทยธรรม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๑, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘) @และดู ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๓๐๕/๒๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๘๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. เทวตาวรรค ๘. อัตตการีสูตร

ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมาก เพราะตน (ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก) เป็นบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา มีใจพ้นแล้ว๑- บูชายัญอย่างนี้ ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียนเป็นสุข
ทานสูตรที่ ๗ จบ
๘. อัตตการีสูตร
ว่าด้วยอัตตการ
[๓๘] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ (มีตนเป็นตัวการ) ไม่มีปรการ๒- (มีสิ่งอื่นเป็นตัวการ)’ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่เคยได้เห็นไม่เคยได้ฟังคำของบุคคล ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้เลย ก็บุคคลเมื่อก้าวไปข้างหน้าเองได้ ถอยกลับ เองได้ ไฉนจึงจักกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ ไม่มีปรการ’ พราหมณ์ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร อารัพภธาตุ๓- มีอยู่หรือไม่” @เชิงอรรถ : @ มีใจพ้นแล้ว หมายถึงมีใจพ้นจากความตระหนี่ลาภเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘) @ พราหมณ์พูดตามลัทธิมักขลิโคศาลที่ถือว่าสัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมองเอง ไม่ใช่ตัวเองเป็นตัวการ @และไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นเป็นตัวการ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๘/๕๔-๕๖, ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖ คำว่า อัตตการ @และปรการนี้ บางทีใช้ในความหมายเดียวกับสยังกตา ปรังกตา ดู สํ.นิ. ๑๖/๑๗/๑๙, สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๐ @ อารัพภธาตุ หมายถึงความเพียรริเริ่มในการทำความดี เป็นธรรมเครื่องป้องกันถีนมิทธะ(ความหดหู่ @และเซื่องซึม) มิให้เกิดขึ้นและกำจัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๘/๑๑๘, @องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๓๘-๔๑/๑๓๓) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๕/๒๒๕, องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๑๘/๔ ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๘๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๘๖-๔๘๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=288              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=7909&Z=7947                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=308              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=308&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2639              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=308&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2639                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i302-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an06/an06.037.than.html https://suttacentral.net/an6.37/en/sujato https://suttacentral.net/an6.37/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :