ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๗. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ควรพิจารณาเนืองๆ
[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ ที่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ต้องพิจารณาเนืองๆ ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณา เนืองๆ ว่า ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร

๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้จะเป็น กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความแก่ เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความเป็น หนุ่มสาวซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้ โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความแก่ เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความไม่ มีโรคซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่ว ด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้น ได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในชีวิตซึ่ง เป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขา พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้ เบาบางลงได้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๐๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร

สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีความตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เราจะต้องพลัด พรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในของรักของชอบใจซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วย วาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความ กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในของรักของชอบใจนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบา บางลงได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เราจะต้อง พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อม เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำ ให้เบาบางลงได้’ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผล ของกรรมนั้น’ ผลแห่งการพิจารณาฐานะ ๕ ประการ ภิกษุทั้งหลาย ๑. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้น ที่มี ความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ แท้จริง สัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร

ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรค๑- ย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ๒- เจริญ ทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์๓- ได้ อนุสัย๔- ย่อมสิ้นไป ๒. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มี ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ แท้จริง สัตว์ ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนมีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณา ฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละ สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป @เชิงอรรถ : @ มรรค ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรค ได้แก่ อริยมรรค ๔ คือ โสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค @และอรหัตตมรรค (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) @ เสพในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง การรู้ การเห็น การพิจารณา การอธิษฐานจิต การน้อมใจเชื่อ ประคอง @ความเพียร ตั้งสติไว้ ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละ @ธรรมที่ควรละ เจริญธรรมที่ควรเจริญ ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๓/๖๓) @เจริญ หมายถึงบำเพ็ญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น และตามรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้มีอยู่ตลอดไป @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๔-๕๕/๖๓, ๔๑๘/๔๔๘, ๔๕๓/๔๖๙) @ทำให้มาก หมายถึงทำบ่อยๆ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๖๐๐-๖๑๑/๔๘๐) @ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ หรือธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ, @วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, @อุทธัจจะ, อวิชชา (สํ.ม. ๑๙/๑๘๐-๑๘๑/๕๖-๕๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๓/๒๑, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๔๐/๕๙๒) @ อนุสัย หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมี ๗ ประการ คือ (๑) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) @(๒) ปฏิฆะ (ความขัดใจ) (๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๕) มานะ (ความถือตัว) @(๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (๗) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, @องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร

๓. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีความ ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ แท้จริง สัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่ เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้ มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ๔. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้น ที่จะ ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น แท้จริง สัตว์ทั้งปวงที่มี การมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนจะต้องพลัดพรากจากของ รักของชอบใจทั้งสิ้น’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่ง มรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัย ย่อมสิ้นไป ๕. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็น เผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือ กรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น แท้จริง สัตว์ทั้งปวงที่ มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้ รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่ เนืองๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ เจริญ ทำให้ มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป สัตว์ทั้งหลาย มีความแก่ มีความเจ็บ และมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมเป็นไปตามธรรม พวกปุถุชนย่อมเกลียด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. นีวรณวรรค ๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร

ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น ในสัตว์ทั้งหลายผู้มีธรรมอย่างนั้น ข้อนั้นไม่สมควรแก่เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้ เรานั้นดำรงอยู่อย่างนี้ รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส๑- เห็นเนกขัมมะ๒- ว่า เป็นธรรมเกษม ครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค ในความเป็นหนุ่ม สาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้วแก่เราผู้เห็นแจ้งนิพพาน บัดนี้ เราไม่ควรเสพกาม จักประพฤติไม่ถอยหลัง๓- มุ่งประพฤติพรหมจรรย์๔-
ฐานสูตรที่ ๗ จบ
๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีกุมาร
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตหลังจาก เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อน กลางวัน ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง @เชิงอรรถ : @ ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) @ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงบรรพชา (การบวช) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) @ ประพฤติไม่ถอยหลัง ในที่นี้หมายถึงไม่ถอยหลังจากบรรพชา จากการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ @และจากพระสัพพัญญุตญาณ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นโลกุตตระ @(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๙๙-๑๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=57              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1649&Z=1741                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=57              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=57&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=691              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=57&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=691                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i051-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an05/an05.057.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/05/an05-057.html https://suttacentral.net/an5.57/en/sujato https://suttacentral.net/an5.57/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :