ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. โยธาชีวรรค ๑. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร

๓. โยธาชีววรรค
หมวดว่าด้วยนักรบอาชีพ
๑. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเจโตวิมุตติเป็นผล สูตรที่ ๑
[๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ที่บุคคล เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุตติเป็นผล มีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมี ปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่ ๒. กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร ๓. กำหนดความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง ๔. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๕. เข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี เจโตวิมุตติเป็นผล มีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เมื่อใด ภิกษุมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ‘เป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ถอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๑๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. โยธาชีวรรค ๑. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร

เสาระเนียดขึ้นได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ถอดกลอนออกได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้๑- ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ’ บ้าง ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละอวิชชาได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละชาติสงสารซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละตัณหาได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ธง ในที่นี้หมายถึงมานะ(ความถือตัว) ภาระ ในที่นี้หมายถึงขันธมาร(มารคือขันธ์ ๕) อภิสังขารมาร(มารคือ @อภิสังขาร = เครื่องปรุงแต่งกรรม) และกิเลสมาร(มารคือกิเลส) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๗๑/๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. โยธาชีวรรค ๒. ทุติยเจโตวิมุตติผลสูตร

ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบ ด้วยวัฏฏะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละอัสมิมานะ๑- ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ เป็นอย่างนี้แล
ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยเจโตวิมุตติผลสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเจโตวิมุตติเป็นผล สูตรที่ ๒
[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุตติเป็นผล มีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร) ๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยง แห่งสังขาร) ๓. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์) @เชิงอรรถ : @ อัสมิมานะ หมายถึงความถือตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มี ๙ ประการ คือ (๑) เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่า @เลิศกว่าเขา (๒) เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา (๓) เป็นผู้เลิศว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๔) เป็นผู้ @เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๕) เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา (๖) เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา @(๗) เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๘) เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา (๙) เป็นผู้ด้อยกว่า @เขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (ตามนัย องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๔/๔๗๓) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๘/๕๐๘, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๖๒/๖๑๖-๖๑๗ @แต่ในที่นี้หมายถึงความสำคัญ ความพอใจ ความเข้าใจว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ @เป็น ‘เรา’ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๗๑-๗๒/๓๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๘๓/๕๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๒๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๑๑๙-๑๒๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=71              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1959&Z=1992                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=71              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=71&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=762              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=71&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=762                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i071-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an5.71/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :