ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๒. สอุปาทิเสสสูตร
ว่าด้วยสอุปาทิเสสบุคคล
[๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังกรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ต่อมา ท่านพระสารีบุตร ได้มีความคิดดังนี้ว่า “การเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควร เข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไป ยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น พอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นเอง อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันดังนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสอุปาทิเสส๑- (ยังมีอุปาทิเหลือ) เมื่อตายไป ล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจาก อบาย ทุคติ และวินิบาต @เชิงอรรถ : @ สอุปาทิเสส ในที่นี้หมายถึงมีอุปาทานเหลืออยู่ (องฺ.นวก.อ. ๓/๑๒/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๕๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๒. สอุปาทิเสสสูตร

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนัก ของพระผู้มีพระภาค” ครั้นท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครอง อันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิด ดังนี้ว่า ‘การเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ยังเช้านัก ทางที่ดี เราควรเข้าไปยัง อารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก’ ครั้นแล้ว ข้าพระองค์จึงเข้าไปยังอารามของ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับอัญเดียรถีย์เหล่านั้น พอเป็นที่ บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมกันสนทนากันดังนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ล้วนไม่พ้น จากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต’ ข้าพระองค์ไม่ยินดีไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากมาด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระ ผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้เขลาไม่เฉียบแหลม เป็นพวกไหน และพวกไหนจักรู้จักบุคคลผู้เป็นสอุปาทิเสสว่าเป็นสอุปาทิเสส หรือ จักรู้จักบุคคลผู้เป็นอนุปาทิเสส๑- ว่าเป็นอนุปาทิเสส สารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานได้ พ้นจากเปรตวิสัยได้ พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาตได้ @เชิงอรรถ : @ อนุปาทิเสส หมายถึงไม่มีอุปาทานเหลืออยู่ ได้แก่ ปราศจากความถือมั่น(นิคคหณะ) @(องฺ.นวก.อ. ๓/๑๒/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๕๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๒. สอุปาทิเสสสูตร

บุคคล ๙ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ ให้บริบูรณ์ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นอันตราปรินิพพายี นี้เป็นบุคคลจำพวก ที่ ๑ ผู้เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ พ้นจากกำเนิด สัตว์ดิรัจฉานได้ พ้นจากเปรตวิสัยได้ พ้นจากอบาย ทุคติ และ วินิบาตได้ ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ ให้บริบูรณ์ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นอุปหัจจปรินิพพายี ฯลฯ ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอสังขารปรินิพพายี ฯลฯ ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นสสังขารปรินิพพายี ฯลฯ ๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี ฯลฯ ๖. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ พอประมาณ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง เขาจึงเป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้เป็น บุคคลจำพวกที่ ๖ ผู้เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ ฯลฯ พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาตได้ ๗. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ พอประมาณ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นเอกพีชี เกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๗ ผู้เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ ฯลฯ พ้นจากอบาย ทุคติ และ วินิบาตได้ ๘. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ พอประมาณ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์ ๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สีหนาทวรรค ๒. สอุปาทิเสสสูตร

ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นโกลังโกละ ท่องเที่ยวไปสู่ตระกูล ๒ หรือ ๓ ตระกูล ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๘ ผู้เป็น สอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ ฯลฯ พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาตได้ ๙. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ มีปกติทำสมาธิ พอประมาณ มีปกติทำปัญญาพอประมาณ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นสัตตักขัตตุปรมะ ท่องเที่ยวไปในเทวดา และมนุษย์อย่างมาก ๗ ครั้ง ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้เป็นบุคคล จำพวกที่ ๙ ผู้เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ พ้นจาก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานได้ พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาตได้ สารีบุตร พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม เป็นพวกไหน และ พวกไหนจักรู้จักบุคคลผู้เป็นสอุปาทิเสสว่าเป็นสอุปาทิเสส หรือจักรู้จักบุคคลผู้เป็น อนุปาทิเสสว่าเป็นอนุปาทิเสส สารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้แล เป็นสอุปาทิเสส เมื่อตายไป ก็พ้นจากนรกได้ พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานได้ พ้นจากเปรตวิสัยได้ พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาตได้ สารีบุตร ธรรมบรรยายนี้ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก่อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะประสงค์ว่า ชนทั้งหลายฟังธรรมบรรยายนี้แล้ว อย่านำมาซึ่งความประมาท อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวธรรมบรรยายนี้โดยมุ่งถึงปัญหา”
สอุปาทิเสสสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๔๕๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๔๕๕-๔๕๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=175              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=8018&Z=8096                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=216              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=216&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6605              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=216&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6605                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i215-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an9.12/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :