ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๗. เมถุนสูตร
ว่าด้วยเมถุนสังโยค
[๕๐] ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมยังปฏิญญาว่าตนเป็นพรหมจารีอยู่หรือ”๑- พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงผู้ใดผู้หนึ่งว่า ‘เขาประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย @เชิงอรรถ : @ สาเหตุที่พราหมณ์ทูลถามเช่นนี้ เพราะคิดว่า ‘พราหมณ์ เมื่อจะเรียนเวทยังต้องประพฤติพรหมจรรย์ใช้ @ระยะเวลาถึง ๔๘ ปีเลย แต่พระสมณโคดมเคยอยู่ครองเรือน อภิรมย์ในปราสาท ๓ หลัง ท่ามกลางเหล่า @นางฟ้อนนางรำ แล้วไฉนบัดนี้จึงมาพูดว่าตนประพฤติพรหมจรรย์’ ทั้งนี้เพราะยึดติดรูปแบบกฎเกณฑ์ @และเวลาการประพฤติพรหมจรรย์ตามลัทธิอื่น ดู ข้อ ๔๒-๔๓ หน้า ๖๒-๖๖ ในเล่มนี้ประกอบ @(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๔-๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๗.เมถุนสูตร

บริสุทธิ์ บริบูรณ์’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงเรานั้นแล เพราะเรา ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์”๑- พราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรเล่าชื่อว่าเป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง ความพร้อยแห่งพรหมจรรย์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสอง๒- กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการ ลูบไล้ การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม เขาชอบใจ ติดใจ และถึงความปลื้มใจกับการทำเช่นนั้น แม้นี้ก็ชื่อว่า เป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง และความพร้อยแห่งพรหมจรรย์ พราหมณ์ ผู้นี้เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วย เมถุนสังโยค ย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความ คับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสองกับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีการลูบไล้ การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยัง สัพยอก๓- เล่นหัว๔- หัวเราะร่ากับมาตุคาม ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ การที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้มีนัยให้รู้ว่า ‘ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่พระองค์บำเพ็ญเพียรในขณะที่ @ยังมีกิเลสอยู่นั้น แม้เพียงแต่ความคิดคำนึงถึงความสุขในราชสมบัติ หรือความพรั่งพร้อมด้วยนางฟ้อนใน @ปราสาทนั้น มิได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลยแม้แต่น้อย’ ซึ่งเป็นพระดำรัสตอบที่สามารถสยบพราหมณ์ได้ ดุจ @การใช้มนตร์จับงูเห่า และดุจการใช้เท้าเหยียบที่คอหอยศัตรู ฉะนั้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕) @ กิจสองต่อสอง ในที่นี้หมายถึงกิจที่คนสองคนซึ่งมีความรักใคร่กำหนัดหมกมุ่นเหมือนกันทำร่วมกัน เป็น @ชื่อของเมถุนธรรมที่เป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจ @ที่ต้องทำในที่ลับ (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๑, ๕๕/๒๗๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๕๐-๕๑/๒๑๑) @และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๓๙/๒๘, ๕๕/๔๒ @ สัพยอก ในที่นี้หมายถึงพูดเรื่องน่าหัวเราะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕) @ เล่นหัว ในที่นี้หมายถึงการพูดล้อเล่น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๗.เมถุนสูตร

๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่สัพยอก เล่นหัว หัวเราะร่ากับมาตุคาม แต่ยังเพ่งจ้องตามาตุคาม ฯลฯ ๔. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่เพ่งจ้องตามาตุคาม แต่ยังฟังเสียงของมาตุคามผู้หัวเราะ ผู้พูด ผู้ขับร้อง หรือผู้ร้องไห้ อยู่นอกฝาหรือนอกกำแพง ฯลฯ ๕. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่ฟังเสียงของมาตุคาม ผู้หัวเราะ ผู้พูด ผู้ขับร้อง หรือผู้ร้องไห้อยู่นอกฝาหรือนอกกำแพง แต่ยังคอยนึกถึงการที่เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม ฯลฯ ๖. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่คอยนึกถึงการที่ เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม แต่ยังดูคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฯลฯ ๗. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่ดูคหบดีหรือบุตร คหบดีผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ แต่ยัง ประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนาเป็นเทพเจ้าหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง’ เขาชอบใจ ติดใจ และถึงความปลื้มใจกับการทำเช่นนั้น แม้นี้ก็ ชื่อว่าเป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง และความพร้อยแห่ง พรหมจรรย์ พราหมณ์ ผู้นี้เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์ พราหมณ์ ตราบใด เรายังเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในตนที่ยังละไม่ได้ ตราบนั้น เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๘. สังโยคสูตร

สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ แต่เมื่อใดเราไม่เห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งในตนที่ยังละไม่ได้ เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา- สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ‘วิมุตติ ของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี’ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เมถุนสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๘๒-๘๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=1221&Z=1297                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=47              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=47&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4114              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=47&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4114                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i041-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/an7.50/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :