ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๘. อุตตรวิปัตติสูตร
ว่าด้วยพระอุตตระแสดงธรรมเรื่องวิบัติ
[๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุตตระอยู่ที่วฏชาลิกาวิหาร๑- ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระอุตตระเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึง พิจารณาเห็นสมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติ ของผู้อื่นตามกาลอันควร” สมัยนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่างเสด็จจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ได้สดับเสียงของท่านพระอุตตระผู้กำลังแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็น สมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นตาม กาลอันควร” ครั้งนั้นแล ท้าวเวสวัณมหาราชได้หายจากวฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก @เชิงอรรถ : @ วฏชาลิกาวิหาร หมายถึงวิหารที่ตั้งอยู่ในป่าไทรย้อย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๘/๒๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๑. เมตตาวรรค ๘. อุตตรวิปัตติสูตร

หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึง ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลท้าวสักกะจอมเทพดังนี้ว่า “ขอเดชะท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์ โปรดทรงทราบว่า ‘ท่านอุตตระนี้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ในวฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึง พิจารณาเห็นความวิบัติของตนตามกาลอันควร ฯลฯ ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณา เห็นสมบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร” ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงหายจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ ต่อหน้าท่านพระอุตตระ ที่วฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ครั้นแล้วจึงเสด็จเข้าไปหา ท่านพระอุตตระถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ตรัสถามท่านพระ อุตตระดังนี้ว่า “จริงหรือ ท่านผู้เจริญ ทราบว่า ท่านพระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นความวิบัติของ ตนตามกาลอันควร ฯลฯ ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นตามกาล อันควร” ท่านพระอุตตระได้ถวายพระพรว่า “อย่างนั้น ท่านจอมเทพ” “ท่านผู้เจริญ ข้อความนี้เป็นปฏิภาณส่วนตัวของท่านพระอุตตระเอง หรือว่า เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” “ท่านจอมเทพ ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกข้ออุปมาให้พระองค์สดับ วิญญูชน บางพวกในโลกนี้จะรู้อรรถแห่งภาษิตได้ ท่านจอมเทพ มีข้าวเปลือกกองใหญ่อยู่ใน ที่ไม่ไกลจากบ้าน หรือนิคม หมู่ชนเป็นอันมากพึงขนข้าวเปลือก จากข้าวเปลือก กองใหญ่นั้นด้วยหาบบ้าง ด้วยตะกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง กอบด้วยมือบ้าง ท่านจอมเทพ หากมีบุคคลเข้าไปถามหมู่ชนเป็นอันมากนั้นอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านขน ข้าวเปลือกนี้มาจากไหน’ ท่านจอมเทพ หมู่ชนเป็นอันมากนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะ ชื่อว่าตอบได้อย่างถูกต้อง” “ท่านผู้เจริญ หมู่ชนเป็นอันมากนั้น เมื่อจะตอบให้ถูกต้องควรตอบว่า ‘พวกเรา ขนมาจากข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๑. เมตตาวรรค ๘. อุตตรวิปัตติสูตร

“ท่านจอมเทพ ทำนองเดียวกันนั่นแล พระดำรัสที่เป็นสุภาษิตทั้งหมด เป็น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อาตมภาพและ สาวกเหล่าอื่นย่อมกล่าวโดยถือเอาจากสุภาษิตทั้งหมดนั้น” “ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านพระอุตตระกล่าวเรื่องนี้ไว้ดี ยิ่งนักว่า ‘พระดำรัสที่เป็นสุภาษิตทั้งหมด เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อาตมภาพและสาวกเหล่าอื่นย่อมกล่าวโดย ถือเอาจากสุภาษิตทั้งหมดนั้น’ ท่านอุตตระผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตจากไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง ปรารภพระเทวทัต รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุ พึงพิจารณาเห็นสมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติ ของผู้อื่นตามกาลอันควร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิด ในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เทวทัตถูกลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดใน นรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๒. เทวทัตถูกความเสื่อมลาภครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ ๓. เทวทัตถูกยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ ๔. เทวทัตถูกความเสื่อมยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ ๕. เทวทัตถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ ๖. เทวทัตถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ ๗. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๑. เมตตาวรรค ๘. อุตตรวิปัตติสูตร

๘. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการนี้แล ครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ทางที่ดี ภิกษุพึง ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... พึงครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความ เร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะ และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความ เสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความ ปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ ความคับแค้นพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและ ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๑. เมตตาวรรค ๙. นันทสูตร

เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมี มิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย จักครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อม ยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนา ชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียก อย่างนี้แล’ ท่านอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ในหมู่มนุษย์ บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยาย๑- นี้หาได้ตั้งมั่นอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ขอท่านอุตตระโปรดเรียนธรรมบรรยายนี้ โปรดจดจำธรรมบรรยายนี้ โปรดทรง จำธรรมบรรยายนี้ไว้เถิด เพราะธรรมบรรยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์๒-”
อุตตรวิปัตติสูตรที่ ๘ จบ
๙. นันทสูตร
ว่าด้วยพระนันทะ
[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘กุลบุตร’ เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘ผู้มีกำลัง’ เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘ผู้น่ารัก‘๓- เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘ผู้มีราคะจัด‘๔- @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๕๑ หน้า ๘๕ ในเล่มนี้ @ เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่รวมลงในสิกขา ๓ (ศีล สมาธิ ปัญญา) @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๘/๒๑๖) @ ผู้น่ารัก ในที่นี้หมายถึงผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๙/๒๑๖) @ ผู้มีราคะจัด ในที่นี้หมายถึงมีราคะมาก (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๙/๒๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๑๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๐๙-๒๑๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=81              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=3333&Z=3404                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=98              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=98&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4811              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=98&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4811                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i091-e.php#sutta8 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an08/an08.008.than.html https://suttacentral.net/an8.8/en/sujato https://suttacentral.net/an8.8/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :