ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

๒. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. เวรัญชสูตร
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงแก้ข้อสงสัยของเวรัญชพราหมณ์
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของ นเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา ครั้งนั้น๑- เวรัญชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวก พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง เรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว เพราะท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง การที่ท่านพระโคดมทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เรายังไม่เห็นผู้ที่ เราควรจะไหว้ ลุกรับ หรือเชื้อเชิญให้นั่ง เพราะตถาคตไหว้ ลุกรับ หรือเชื้อเชิญผู้ใด ให้นั่ง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องขาดตกไป” ๑. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีรส”๒- @เชิงอรรถ : @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๒-๑๕/๒-๘ @ ข้อที่พราหมณ์ตำหนิพระผู้มีพระภาคว่า เป็นคนไม่มีรส ในที่นี้พราหมณ์มุ่งถึงความเป็นคนไม่มีสัมมา- @คารวะ เช่น การกราบไหว้ การต้อนรับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ละรสได้แล้ว หมายถึง @พระองค์ทรงละอัสสาทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรส คือ ไม่ยินดี @ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๕-๑๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๑๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณ- โคดมเป็นคนไม่มีรส’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะตถาคตละรสคือรูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนไม่มีรส’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง” ๒. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะตถาคตละสมบัติคือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง” ๓. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมสอนไม่ให้ทำ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมสอนไม่ให้ทำ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหา เราว่า ‘พระสมณโคดมสอนไม่ให้ทำ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง” ๔. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมสอนให้ทำลาย” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมสอนให้ทำลาย’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ และ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมสอนให้ทำลาย’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง” ๕. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคล กล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่าน กล่าวถึง” ๖. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างกำจัด” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ ตลอดถึงแสดงธรรมเพื่อกำจัดบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคล กล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่าน กล่าวถึง” ๗. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรม ทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ เราเรียก คนที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดราก ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น ต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ’ นี้แล มีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง” ๘. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ สมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์ และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูก ตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าว หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง พราหมณ์ ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกดีแล้ว ให้ความ อบอุ่นดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลาย กระเปาะ๑- ไข่ออกมาได้โดยสวัสดีก่อน ควรเรียกมันว่า ‘เป็นตัวพี่หรือตัวน้อง” พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ควรเรียกว่า ‘พี่’ เพราะมันแก่กว่าเขา” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เช่นเดียวกันนั่นแหละ พราหมณ์ ในขณะที่หมู่ สัตว์ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชาห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียว เท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุด ของโลก พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ พราหมณ์ เรานั้นสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๒- ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ @เชิงอรรถ : @ กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่เป็นสัณฐานนูนกลม คำว่า ‘กระเปาะ‘ คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มีสัณฐาน @คล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน @พ.ศ. ๒๕๒๕) @ เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า ‘เอโกทิ’ เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานชื่อว่าเอโกทิภาวะ @เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น’ เพราะ @สมาธิชื่อว่าเอโกทินี้ มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑- ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพ นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้ว จึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึก ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล ในยามที่ ๑ แห่งราตรี ความมืดมิด คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือน แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๑ ของเรา เหมือนการเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่ @เชิงอรรถ : @ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินในที่หมายถึงไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น เพราะขจัดปัจจัยมีสุขเป็นต้นได้ ราคะเป็นต้น @ท่านเรียกว่ากิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำโน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่ @จตุตถฌานอีก เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อมจิตไป เพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขา หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน สุคติโลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพยอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้แล ในยามที่ ๒ แห่งราตรี ความมืดมิด คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๒ ของเรา เหมือน การเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้ น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๑. เวรัญชสูตร

ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ๑- เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป‘๒- พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้แล ในยามที่ ๓ แห่งราตรี ความมืดมิด คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๓ ของเรา เหมือน การเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่”
เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่าน พระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ ต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึง ท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรง จำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เวรัญชสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้ @แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) @ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ในที่นี้หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความ @สิ้นไปแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด @(ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=84              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=3510&Z=3658                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=101              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=101&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4845              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=101&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4845                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i101-e.php# https://suttacentral.net/an8.11/en/sujato https://suttacentral.net/an8.11/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :