ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
๖. สังสัปปติปริยายสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งความกระเสือกกระสน
[๒๑๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย๑- ที่แสดงเหตุแห่งความ กระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ธรรมบรรยายที่แสดงเหตุแห่งความกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร คือ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็น กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อม กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโน- กรรมของเขาคดเคี้ยว คติของเขาก็คดเคี้ยว การอุบัติของเขาก็คดเคี้ยว สำหรับผู้มีคติคดเคี้ยว มีอุบัติคดเคี้ยว เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @ ธรรมบรรยาย หมายถึงพระธรรมเทศนา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑๖/๓๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๕๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายสูตร

คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ผู้เข้าถึง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้อื่นๆ เห็นมนุษย์แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติ ด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้ ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ลักทรัพย์ ... ๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ... ๔. เป็นผู้พูดเท็จ ... ๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด ... ๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ ... ๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ... ๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ... ๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท ... ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’ บุคคลนั้น ย่อม กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโน- กรรมของเขาคดเคี้ยว คติของเขาก็คดเคี้ยว การอุบัติของเขาก็คดเคี้ยว สำหรับบุคคลผู้มีคติคดเคี้ยว มีอุบัติคดเคี้ยว เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือก กระสน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๕๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายสูตร

กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ผู้เข้าถึง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้อื่นๆ เห็นมนุษย์แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติ ด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็น กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ สรรพสัตว์อยู่ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของเขาตรง คติของเขาก็ตรง การ อุบัติของเขาก็ตรง สำหรับบุคคลผู้มีคติตรง มีอุบัติตรง เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ เป็นคนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือเป็นคนมีตระกูลสูง เช่น ตระกูลกษัตริย์มหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ มาก มีเงินทองมาก มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และ ข้าวเปลือกมาก การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้ ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ... ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ... ๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ ... ๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๕๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายาสูตร

๖. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ... ๗. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ... ๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ... ๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ... ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสน ด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของเขาตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง สำหรับบุคคลผู้มีคติตรง มีอุบัติตรง เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ เป็นคนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือเป็นคนมีตระกูลสูง เช่น ตระกูลกษัตริย์มหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ มาก มีเงินทองมาก มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือก มาก การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้น ย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นธรรมบรรยายที่แสดงเหตุแห่งความกระเสือกกระสน
สังสัปปติปริยายสูตรที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๕๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๓๕๓-๓๕๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=24&siri=191              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=6876&Z=6957                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=193              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=193&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8505              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=193&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8505                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i189-e.php#sutta6 https://suttacentral.net/an10.216/en/sujato https://suttacentral.net/an10.216/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :