ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๗. วสลสูตร
ว่าด้วยลักษณะคนเลว
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ที่บ้าน อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ มีการจุดไฟเตรียมทำพิธีบูชาไฟ พระผู้มีพระภาคเสด็จ เที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับตรอก ในกรุงสาวัตถี จนเสด็จเข้าไปถึงนิเวศน์ของ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าว ดังนี้ว่า “หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนเลว”๑- เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จัก คนเลว หรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวหรือไม่” @เชิงอรรถ : @ เหตุที่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์พูดคำหยาบเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการเห็นสมณะในเวลาที่มีงานมงคล @ถือว่าเป็นอวมงคล และมีความเชื่อว่า คนที่มีศีรษะโล้น เป็นคนไม่บริสุทธิ์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๑๖/๑๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๗. วสลสูตร

อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนเลวหรือ ธรรมที่ทำให้เป็นคนเลว ดีละ ถ้าท่านพระโคดมรู้ ก็จงแสดงธรรมให้ข้าพเจ้ารู้จัก คนเลวหรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวบ้าง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว” อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๑๑๖] คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น เห็นผิดเป็นชอบ มีมายา พึงทราบว่าเป็นคนเลว๑- [๑๑๗] คนผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทุกจำพวกในโลกนี้ ไม่มีความเอ็นดูในเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๑๘] คนผู้ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม ถูกประณามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๑๙] คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทอง ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๐] คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หลบหนีไปเสีย พึงทราบว่าเป็นคนเลว @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๕๐/๒๒๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๗. วสลสูตร

[๑๒๑] คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สมบัติ เพราะความอยากได้ทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยของเขา พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๒] คนถูกเขาอ้างเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะตนเป็นเหตุ เพราะผู้อื่นเป็นเหตุ หรือเพราะทรัพย์เป็นเหตุ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๓] คนที่ประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ หรือของเพื่อน จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๔] คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้ แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน ผู้แก่ชรา ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๕] คนผู้ทุบตี ดุด่ามารดาบิดา พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๖] คนที่ถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๗] คนทำบาปกรรมไว้แล้ว ปรารถนาว่า คนอื่นอย่าพึงรู้ว่าเราทำ ปกปิดการกระทำไว้ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๒๘] คนไปบ้านผู้อื่น ถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น พึงทราบว่าเป็นคนเลว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๗. วสลสูตร

[๑๒๙] คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์ หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่นๆ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๐] คนที่เมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๑] ในโลกนี้คนถูกโมหะครอบงำ อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น ก็พูดจาหลอกลวงเขาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๒] คนผู้ชอบยกตน และดูหมิ่นคนอื่น ประพฤติเลวทราม เพราะความถือตัวจัดของตน พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๓] คนโหดร้าย มีจิตใจคับแคบ ปรารถนาชั่ว มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๔] คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก ของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ พึงทราบว่าเป็นคนเลว [๑๓๕] คนไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก พึงทราบว่าเป็นคนเลวทรามต่ำช้าที่สุด [๑๓๖] คนที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเรียกว่าเป็นคนเลว คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๗. วสลสูตร

แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม [๑๓๗] ท่านจงรู้ข้อนั้นตามที่เราแสดงนี้ คือ บุตรคนจัณฑาลผู้ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ ผู้ปิ้งสุนัขรับประทาน [๑๓๘] ต่อมา นายมาตังคะได้รับยศศักดิ์ใหญ่ซึ่งได้แสนยาก ทั้งกษัตริย์และพราหมณ์จำนวนมาก ต่างมาสู่ที่บำรุงของเขา [๑๓๙] เขาขึ้นยานอันประเสริฐ๑- ไปตามทางใหญ่๒- ที่ไม่มีฝุ่นละออง๓- ละกามราคะได้แล้ว ไปเกิดในพรหมโลก ชาติกำเนิดห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้ [๑๔๐] พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนตร์ มีหน้าที่ร่ายมนตร์ แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำบาปกรรมอยู่เป็นประจำ [๑๔๑] พราหมณ์พวกนั้นถูกตำหนิในชาติปัจจุบันตายแล้วก็ต้องไปทุคติ ชาติกำเนิดห้ามพวกเขาจากทุคติหรือจากการติเตียนไม่ได้ [๑๔๒] คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน @เชิงอรรถ : @ ยานอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๓๙/๑๙๒) @ ไปตามทางใหญ่ หมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๓๙/๑๙๒) @ ฝุ่นละออง หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๓๙/๑๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๘. เมตตสูตร

พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วสลสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๒๘-๕๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=234              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7292&Z=7379                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=305              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=305&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=4276              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=305&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=4276                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.07.piya.html https://suttacentral.net/snp1.7/en/mills https://suttacentral.net/snp1.7/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :