ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
ว่าด้วยภิกษุควรละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบ
[๓๖๒] (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) ข้าพระองค์ขอทูลถามพระมุนีผู้มีปัญญามาก ทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรินิพพาน มีพระทัยมั่นคง ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร

[๓๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๖๔] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์ ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๖๕] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว พึงละความโกรธ ความตระหนี่ ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๖๖] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหนๆ หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๖๗] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย๑- ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ใครๆ พึงชักนำไปไม่ได้ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ @เชิงอรรถ : @ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๗/๑๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร

[๓๖๘] ภิกษุผู้ไม่ผิดพลาดทางกาย วาจา และใจ รู้แจ้งซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๖๙] ภิกษุรู้จักเคารพนบไหว้ ไม่ถือตัว ถึงถูกด่าว่าก็ไม่โกรธ ได้ภัตตาหารที่ผู้อื่นถวายประจำแล้วก็ไม่ประมาทมัวเมา ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๐] ภิกษุละความโลภและกามภพเป็นต้นได้แล้ว เว้นขาดจากการฆ่าฟัน และการจองจำผู้อื่น ตัดความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสดุจลูกศร ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๑] ภิกษุผู้รู้ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ตน รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริง ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทุกชนิด ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๒] ภิกษุไม่มีอนุสัยกิเลสใดๆ ถอนรากอกุศลธรรมได้หมดสิ้น ไม่มีความหวัง ปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิง ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๓] ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ละมานะได้เด็ดขาด ล่วงพ้นทางแห่งราคะ๑- ทั้งหมด ฝึกตนได้ ดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ดำรงตนมั่นคง ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ @เชิงอรรถ : @ ทางแห่งราคะ หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๓/๑๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร

[๓๗๔] ภิกษุมีศรัทธามั่นคง เป็นผู้ได้สดับอย่างดี เห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นนักปราชญ์ ผู้ไม่คล้อยตามไปในฝักฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ ขจัดโลภะ โทสะคือความขุ่นเคืองใจได้ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๕] ภิกษุเอาชนะกิเลสได้ด้วยอรหัตตมรรคที่หมดจดดี ไม่มีกิเลสเครื่องปิดบัง เชี่ยวชาญในธรรมทั้งหลาย๑- เป็นผู้ถึงฝั่ง หมดตัณหาอันทำให้หวั่นไหว มีความฉลาดในญาณเป็นที่ดับสังขาร ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๖] ภิกษุล่วงพ้นความกำหนดที่ถือว่าเป็นของเรา ในเบญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต มีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นจากอายตนะทั้งปวงได้เด็ดขาด ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ [๓๗๗] ภิกษุรู้แจ้งสภาวะที่ควรเข้าถึง จนได้บรรลุธรรม เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ๒- ไม่ติดข้องอยู่ในภพไหนๆ เพราะอุปธิทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๑๘๕) @ วิวฏะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๗/๑๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๔. ธัมมิกสูตร

[๓๗๘] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ ๑๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๘๔-๕๘๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=252              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=8220&Z=8274                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=331              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=331&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=3830              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=331&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=3830                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i314-e.php#sutta13 https://suttacentral.net/snp2.13/en/mills https://suttacentral.net/snp2.13/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :