ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กำลังประกอบพิธีบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นเสร็จสิ้นพิธีแล้วก็ลุกจากที่นั่ง เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครกันควรบริโภคเครื่องเซ่นที่เหลือนี้” พลันเหลือบไปเห็น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงใช้มือซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก เพราะได้สดับเสียง ฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวขึ้นว่า “นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น” ตั้งใจจะหันหลังกลับจากที่นั้น แต่แล้วได้ฉุกคิดว่า “อันที่จริง พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็หัวโล้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควร เข้าไปถามชาติตระกูล” ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กล่าวว่า “ท่านมีชาติกำเนิดอะไร” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถา ดังนี้ว่า [๔๕๘] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์ หรือคนวรรณะใดวรรณะหนึ่ง เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนทั้งหลายแล้ว ไม่มีความกังวล ประพฤติตนอยู่ในโลกด้วยปัญญา [๔๕๙] เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว ควบคุมตน สงบระงับได้ ไม่คลุกคลีกับหมู่คน เที่ยวจาริกไปในโลก การที่ท่านถามเราถึงโคตรวงศ์นั้นไม่สมควรเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

[๔๖๐] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้) พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่ [๔๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์ แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์๑- ที่มี ๓ บาท ๒๔ พยางค์ [๔๖๒] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้) ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้ อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย [๔๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก [๔๖๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้) การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้ เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์ ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์ คนอื่นๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น @เชิงอรรถ : @ สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี @คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๖๑/๒๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

[๔๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้ จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน [๔๖๖] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้) ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ แสดงธรรมแก่ท่าน” [๔๖๗] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้ แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ เป็นบุรุษอาชาไนยได้ [๔๖๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์ ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว [๔๖๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่ เหมือนกระสวยที่ไปตรง [๔๗๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น [๔๗๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก [๔๗๒] ตถาคตละกามทั้งหลายได้ มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๓] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้ เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหนๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๔] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

[๔๗๕] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใดๆ ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๖] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๗] ภวาสวะ๑- และวาจาหยาบคาย ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่ เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๒- ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๘] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้ กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๗๙] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใดๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๘๐] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา @เชิงอรรถ : @ ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (๑) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (๒) ฌานนิกันติ (ความ @ยึดติดในฌาน (๓) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒) @ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

[๔๘๑] ตถาคตมีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด ขจัดสังโยชน์อันเป็นทางแห่งราคะได้หมดสิ้น เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๘๒] ตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน๑- มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา [๔๘๓] ตถาคตไม่มีเหตุเกิดโมหะใดๆ มีปกติเห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยมอันเกษม ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ตถาคตนับว่ามีความบริสุทธิ์ที่น่าบูชา จึงควรแก่เครื่องบูชา [๔๘๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้) การบูชาของข้าพระองค์ จะเป็นการบูชาที่ถูกต้องอย่างแน่แท้ เพราะได้พบบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพรหมโดยประจักษ์ โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์ด้วยเถิด [๔๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) พราหมณ์ เราไม่บริโภคโภชนะ ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม ธรรมนั้นมิใช่ธรรมของผู้พิจารณา @เชิงอรรถ : @ เห็นตนโดยความเป็นตน หมายถึงเห็นขันธ์ ๕ ด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๘๒/๒๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๔. สุนทริกภารทวาชสูตร

พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับโภชนะ ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม เมื่อธรรมยังมีอยู่ การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่ [๔๘๖] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ เพราะว่าการบำรุงนั้น เป็นนาบุญของผู้แสวงบุญ [๔๘๗] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระผู้พระภาค ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์เข้าถึงคำสอนของพระองค์ จนรู้ชัดตามที่พระองค์ตรัสบอกแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงบุคคล ผู้ควรจะบริโภคทักษิณาทานของข้าพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพระองค์กำลังแสวงหาในเวลาบูชายัญ แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด [๔๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) บุคคลใดปราศจากการแก่งแย่งชิงดีกัน มีจิตไม่ขุ่นมัว หลุดพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย กำจัดถีนมิทธะได้แล้ว [๔๘๙] กำจัดกิเลสส่วนสุดออกได้ รู้เท่าทันชาติและมรณะ เป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ถ้าบุคคลเช่นนั้นมาถึงสถานที่บูชายัญของท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๕. มาฆสูตร

[๔๙๐] ท่านอย่าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด จงประคองอัญชลีนอบน้อม บูชาด้วยข้าวและน้ำเถิด ทักษิณาของท่านจึงจะสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้ [๔๙๑] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้) พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชาในโลกทั้งปวง เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม ย่อมควรรับเครื่องบูชา ทานที่ถวายแก่พระองค์ย่อมมีผลมาก ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ- โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมเถิด” สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงเป็นอันว่า ท่านพระสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย
สุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๐๔-๖๑๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=257              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=8535&Z=8678                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=358              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=358&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5007              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=358&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5007                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/snp3.4/en/mills https://suttacentral.net/snp3.4/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :