ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ

๒๐. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้) [๒๗๓] บรรดามรรค มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาสัจจะ อริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรม วิราคธรรม๑- ประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้า๒- ตถาคตผู้มีจักษุ๓- ประเสริฐที่สุด๔- [๒๗๔] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง [๒๗๕] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย [๒๗๖] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่ จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้๕- @เชิงอรรถ : @ วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙) @ สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙) @ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗) @ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๒/๔๙๖ @ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๔. อนัตตลักขณวัตถุ

๒. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๗๗] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา๑- ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
๓. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๗๘] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
๔. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๗๙] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์๒- @เชิงอรรถ : @ เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๑) @ ข้อ ๒๗๗-๒๗๙ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๗๖-๖๗๘/๔๕๕, อภิ.ก. ๓๗/๗๕๓/๔๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๖. สูกรเปตวัตถุ

๕. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๘๐] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ๑- ปราศจากความเพียร เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง๒- ด้วยปัญญา
๖. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๘๑] บุคคลพึงรักษาวาจา๓- พึงสำรวมใจ๔- และไม่พึงทำความชั่วทางกาย๕- พึงชำระกรรมบถทั้ง ๓ ประการนี้ให้หมดจด จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ @เชิงอรรถ : @ มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก @(ขุ.ธ.อ. ๗/๖๕) @ ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๕) @ รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก @การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๐) @ สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๐) @ ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุจริต ๓ อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ

๗. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้) [๒๘๒] ปัญญา๑- เกิดเพราะการประกอบ๒- และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง ๒ ทางนี้แล้ว บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น
๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า๓- แต่อย่าตัดต้นไม้ เพราะภัย๔- ย่อมเกิดจากป่า เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว๕- จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด @เชิงอรรถ : @ ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา @(ขุ.ธ.อ. ๗/๗๓, อภิธา.ฏีกา ๑๕๒-๑๕๔/๑๒๑) @ การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม ๓๘ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๓) @ ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๕) @ ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๖) @ หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่นๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อๆ ไป (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ

[๒๘๔] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น
๙. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้) [๒๘๕] เธอจงตัดความรักของตน เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ๑- เท่านั้น เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว
๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้) [๒๘๖] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน” ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย๒- ที่จะมาถึงตน @เชิงอรรถ : @ ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๐) @ อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๒. ปฏาจาราวัตถุ

๑๑. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้) [๒๘๗] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์ มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่างๆ๑- ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น
๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้) [๒๘๘] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้ บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้ พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้ แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้ [๒๘๙] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ ๒๐ จบ
@เชิงอรรถ : @ มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่างๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๓-๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๒๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๑๗-๑๒๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=29              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=986&Z=1034                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=30&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1155              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=30&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1155                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i030-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i030-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.20.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.20.budd.html https://suttacentral.net/dhp273-289/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp273-289/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp273-289/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :