ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๖. กัณหเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกัณหโคตร
(โรหิไณยอำมาตย์กราบทูลว่า) [๒๐๗] พระองค์ผู้กัณหโคตร๑- ขอพระองค์เสด็จลุกขึ้นเถิด จะมัวบรรทมอยู่ทำไม จะมีประโยชน์อะไรต่อพระองค์ด้วยการบรรทมอยู่เล่า พระเกสวะ (บัดนี้) พระภาดาร่วมพระอุทรของพระองค์ ซึ่งเป็นดังพระหทัยและนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์ ทรงมีลมกำเริบ เพ้อคลั่งอยู่ [๒๐๘] พระเจ้าเกสวะทรงสดับคำของโรหิไณยอำมาตย์นั้นแล้ว ได้ทรงอึดอัดเพราะความโศกถึงพระภาดา จึงรีบเสด็จลุกขึ้นทันที (ทรงจับมือทั้งสองของฆฏบัณฑิตไว้มั่น เมื่อจะทรงปราศรัย จึงตรัสว่า) [๒๐๙] เหตุไรหนอ เธอจึงเป็นดังคนบ้า เที่ยวบ่นเพ้ออยู่ทั่วพระนครทวารกะนี้ ว่า กระต่ายๆ เธอต้องการกระต่ายเช่นไร @เชิงอรรถ : @ โคตรดำ เป็นคำร้องเรียกถึงโคตรหรือเหล่ากอของพระวาสุเทพ (ซึ่งเป็นชื่อของพระนารายณ์ปาง @พระกฤษณะ) (ขุ.เป.อ. ๒๐๗/๑๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๖. กัณหเปตวัตถุ

[๒๑๐] ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี กระต่ายโลหะ กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์ กระต่ายศิลา กระต่ายแก้วประพาฬ ให้เธอ [๒๑๑] แม้กระต่ายอื่นๆ ที่เที่ยวหากินอยู่ในป่ายังมีอยู่ ฉันจักให้นำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เธอ เธอต้องการกระต่ายเช่นไร (ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า) [๒๑๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการกระต่ายที่อยู่บนแผ่นดิน ข้าพระองค์ต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์ พระเกสวะ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดนำกระต่ายนั้นลงมาประทานแก่หม่อมฉันเถิด (พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า) [๒๑๓] แน่ะพระญาติ เธอจักละชีวิตที่ประเสริฐยิ่งเสียแน่ เพราะเธอต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์ ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา (ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า) [๒๑๔] พระองค์ผู้กัณหโคตร หากพระองค์ทรงทราบ ตามที่พระองค์ทรงพร่ำสอนบุคคลอื่น เหตุไฉน พระองค์จึงทรงกรรแสงถึงพระราชโอรส ที่ทิวงคตไปตั้งนาน จนถึงวันนี้เล่า [๒๑๕] มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า ขอบุตรของเราผู้เกิดมาแล้วอย่าตายเลย พระองค์จะทรงได้พระราชโอรสที่ทิวงคตแล้ว ซึ่งไม่ควรได้แต่ที่ไหน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๖. กัณหเปตวัตถุ

[๒๑๖] พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ไม่อาจจะนำพระราชโอรส ผู้ทิวงคตแล้ว ที่พระองค์ทรงกรรแสงถึงมาได้ด้วยมนต์ ด้วยยาสมุนไพรหรือทรัพย์ได้ [๒๑๗] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย จะไม่แก่ตายก็ไม่มี [๒๑๘] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่นๆ ผู้มีความเกิดของตนเป็นเหตุ จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี [๒๑๙] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนต์พรหมจินดามีองค์ ๖ ๑- และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่นๆ จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี [๒๒๐] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวม บำเพ็ญตบะ ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร [๒๒๑] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป (พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า) [๒๒๒] เธอมาช่วยรดเราผู้เร่าร้อนให้สงบ ดับความกระวนกระวายทั้งหมด เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง @เชิงอรรถ : @ องค์ ๖ คือ ๑. สิกขา (การศึกษาในการออกสำเนียง และการอ่าน มีการอ่านให้ถูกจังหวะ ให้คล่อง @และให้ไพเราะ) ๒. กัปปะ (รู้จักแบบแผน การกระทำกิจพิธีต่างๆ พิธีสวดคัมภีร์พระเวท) ๓. นิรุตฺติ @(รู้จักมูลและคำแปลศัพท์) ๔. พยากรณะ (รู้จักตำราภาษามีของปาณินิ เป็นต้น) ๕. โธติสัตถะ (รู้จัก @ดวงดาวและหาฤกษ์ ผูกดวงชตา) ๖. ฉันทะ (รู้จักคณะฉันท์ แต่งฉันท์ได้) (ขุ.เปต.อ. ๒๑๙/๑๐๖) @ดู อภิธา. คาถา ๑๑๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ

[๒๒๓] เธอบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของเราผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก ซึ่งเสียบที่หทัยของเราขึ้นได้แล้วหนอ [๒๒๔] เราผู้ซึ่งเธอช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว เย็น สงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเธอ [๒๒๕] ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมทำอย่างนี้ ย่อมช่วยกันและกันให้หายจากความเศร้าโศก เหมือนฆฏบัณฑิตช่วยพระเชษฐภาดาให้หายจากความเศร้าโศก [๒๒๖] พวกอำมาตย์ผู้ถวายการรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด ย่อมเป็นเช่นนี้ ย่อมแนะนำด้วยสุภาษิต เหมือนฆฏบัณฑิตแนะนำพระเชษฐภาดาของตน
กัณหเปตวัตถุที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=103              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=3513&Z=3567                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=103              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=103&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2233              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=103&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2233                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :