ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๙. อังกุรเปตวัตถุ
เรื่องอังกุระกับเปรต
(พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่งเห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดา๑- จึงเกิดความโลภขึ้น ได้บอกแก่อังกุรพาณิชว่า) [๒๕๗] เราทั้งหลายนำทรัพย์ที่หาได้ไปสู่แคว้นกัมโพชะเพื่อประโยชน์ใด พวกเราจะนำเทพบุตรผู้ให้สิ่งที่เราต้องการจะได้นี้ไปเพื่อประโยชน์นั้น [๒๕๘] พวกเราจะอ้อนวอนเทพบุตรนี้ หรือบังคับให้ขึ้นยานแล้วรีบเดินทางไปยังเมืองทวารวดีโดยเร็ว (อังกุรพาณิชเมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้นจึงได้กล่าวคาถาว่า) [๒๕๙] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด แม้แต่กิ่งของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรหัก เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม @เชิงอรรถ : @ เทวดาประจำต้นไม้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

(พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า) [๒๖๐] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด แม้ลำต้นของต้นไม้นั้นก็พึงตัดได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น (อังกุรพาณิชกล่าวว่า) [๒๖๑] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด แม้แต่ใบของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรทำลาย เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม (พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า) [๒๖๒] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด แม้ต้นไม้นั้นพร้อมทั้งรากก็พึงถอนได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น (อังกุรพาณิชกล่าวว่า) [๒๖๓] ด้วยว่าบุรุษพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดเพียงหนึ่งคืน หรือได้ข้าวน้ำในที่อยู่ของบุคคลใด ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น ความเป็นผู้กตัญญูสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว [๒๖๔] บุคคลพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงหนึ่งคืน ได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมทำให้บุคคล ผู้ประทุษร้ายมิตรเดือดร้อน [๒๖๕] บุคคลใดทำความดีไว้ในกาลก่อน ภายหลังกลับเบียดเบียนบุพการีชนด้วยความชั่ว บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญ บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ความชั่วย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้ ดังธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

(รุกขเทวดาฟังคำโต้ตอบของคนทั้งสองนั้นแล้ว โกรธพราหมณ์ จึงกล่าวว่า) [๒๖๖] ไม่เคยมีเทวดา มนุษย์ หรือผู้เป็นใหญ่คนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย เราเป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม ไปได้ไกล ประกอบด้วยรูปสมบัติและกำลัง (อังกุรพาณิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า) [๒๖๗] ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไปหมด ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย รสต่างๆ ย่อมไหลออก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน (รุกขเทวดาตอบว่า) [๒๖๘] เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน อังกุระเอ๋ย ท่านจงทราบว่า เราเป็นเปรตจุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้ (อังกุรพาณิชถามว่า) [๒๖๙] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านรักษาศีลเช่นไร มีความประพฤติชอบอย่างไร เพราะพรหมจรรย์อะไร ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน (รุกขเทวดาตอบว่า) [๒๗๐] เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร มีความเป็นอยู่แสนจะฝืดเคือง น่าสงสาร ในขณะนั้น เราไม่มีอะไรจะให้ทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๒๗๑] เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐีซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา เป็นใหญ่ในทาน ทำบุญไว้แล้ว มีความละอาย [๒๗๒] พวกยาจกวณิพกมีโคตรต่างกัน ไปที่บ้านของเรานั้น พากันถามเราถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า [๒๗๓] ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน เขาให้ทานกันที่ไหน เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว จึงได้ชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐี [๒๗๔] ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย เขาให้ทานอยู่ที่เรือนของอสัยหเศรษฐีนั่น [๒๗๕] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย เพราะการทำดีนั้น ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา (อังกุรพาณิชถามว่า) [๒๗๖] ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตน เป็นแต่ร่วมอนุโมทนาทานของผู้อื่น ยกมือชี้บอกทางให้ [๒๗๗] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย เพราะการทำความดีนั้น ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน [๒๗๘] ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใส ได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างมนุษย์แล้วไปยังทิศไหนหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

(รุกขเทวดาตอบว่า) [๒๗๙] ข้าพเจ้าไม่รู้ทางไปหรือทางมา ของอสัยหเศรษฐีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสวัณว่า อสัยหเศรษฐีได้เป็นสหายของท้าวสักกะ (อังกุรพาณิชกล่าวว่า) [๒๘๐] บุคคลควรทำความดีแท้ ควรให้ทานตามสมควร ใครเล่าได้เห็นฝ่ามือซึ่งให้สิ่งที่น่าปรารถนาแล้วจักไม่ทำบุญ [๒๘๑] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวารวดี จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจักนำความสุขมาให้เราแน่นอน [๒๘๒] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำดื่ม สระน้ำ และสะพานในที่เดินลำบากเป็นทาน (อังกุรพาณิชถามรุกขเทวดาว่า) [๒๘๓] เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงหงิกงอ หน้าของท่านจึงบิดเบี้ยว และนัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ(ด้วยขี้ตา) ท่านได้ทำบาปอะไรไว้ (รุกขเทวดานั้นตอบว่า) [๒๘๔] เราได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ในการให้ทาน ในโรงทานของคหบดีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน มีศรัทธา ยังครองเรือนอยู่ [๒๘๕] เห็นยาจกผู้ต้องการอาหารพากันมาที่โรงทานนั้นแล้ว ได้หลีกไปทำหน้างออยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๒๘๖] เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงหงิกงอ หน้าของเราจึงบิดเบี้ยว และนัยน์ตาทั้งสองของเราจึงเขรอะ เราได้ทำบาปนั้นไว้ (อังกุรพาณิชถามว่า) [๒๘๗] แน่ะบุรุษเลวทราม สมควรแล้วที่ท่านมีหน้าบิดเบี้ยว นัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ เพราะท่านได้ทำหน้างอต่อทานของผู้อื่น [๒๘๘] ทำไม อสัยหเศรษฐีเมื่อจะให้ทาน จึงได้มอบข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่นจัดแจง [๒๘๙] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวาราวดี จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้แก่เราแน่นอน [๒๙๐] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพานในที่ที่เดินลำบากเป็นทาน [๒๙๑] อังกุรพาณิชนั้นกลับจากทะเลทรายนั้น ไปถึงเมืองทวาราวดีแล้ว เริ่มบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้ตน [๒๙๒] ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ ด้วยจิตอันเลื่อมใสแล้ว [๒๙๓] ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธพากันป่าวร้องในเรือน ของอังกุรพาณิชนั้นทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้าทุกวันว่า ใครหิวจงมารับประทานตามชอบใจ ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ ใครจักนุ่งห่มผ้าจงมานุ่งห่มตามชอบใจ ใครต้องการพาหนะเทียมรถจงเลือกพาหนะที่ชอบใจ จากหมู่พาหนะเทียมรถนี้แล้วเทียมเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๒๙๔] ใครต้องการร่มจงมาเอาร่มไป ใครต้องการของหอมจงมาเอาของหอมไป ใครต้องการดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป ใครต้องการรองเท้าจงมาเอารองเท้าไป [๒๙๕] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข สินธุมาณพเอ๋ย เพราะไม่เห็นเหล่าชนผู้ขอ เราจึงนอนเป็นทุกข์ [๒๙๖] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข สินธุมาณพเอ๋ย เมื่อวณิพกมีน้อย เราจึงนอนเป็นทุกข์ (สินธุมาณพได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า) [๒๙๗] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงประทานพรแก่ท่าน เมื่อท่านจะเลือก ท่านจะเลือกขอพรเช่นไร (อังกุรพาณิชกล่าวว่า) [๒๙๘] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงประทานพรแก่เรา เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ภักษาหารอันเป็นทิพย์และเหล่าชนผู้ขอซึ่งมีศีลพึงปรากฏขึ้น [๒๙๙] เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส ข้าพเจ้าพึงเลือกขอพรอย่างนี้กับท้าวสักกะ (โสนกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า) [๓๐๐] บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้ เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน เพราะการให้ทานเกินประมาณ สกุลทั้งหลายจะล่มจม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๓๐๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร เพราะเหตุนั้นแหละ ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน ประเพณีแห่งการให้ทานและการไม่ให้ เป็นธรรมเนียมของบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ พึงเป็นไปโดยพอเหมาะ (อังกุรพาณิชกล่าวว่า) [๓๐๒] ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแน่แท้ ด้วยว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบระงับพึงคบหาเรา เราพึงทำความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ เปรียบเหมือนฝนตกทำที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม [๓๐๓] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน [๓๐๔] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(บุญ) [๓๐๕] ก่อนแต่ให้ก็มีใจดี เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ (พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวเป็นคาถาว่า) [๓๐๖] ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ เขาให้โภชนะแก่หมู่ชนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์ [๓๐๗] พ่อครัว ๓,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๓๐๘] มาณพ ๖๐,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี ช่วยกันผ่าฟืนในมหาทานของอังกุรพาณิช [๓๐๙] นารี ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ช่วยกันบดเครื่องเทศ(สำหรับปรุงอาหาร) ในมหาทานของอังกุรพาณิช [๓๑๐] นารีอีก ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ถือทัพพีเข้าไปยืนคอยรับใช้ในมหาทานของอังกุรพาณิช [๓๑๑] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ของเป็นอันมาก แก่คนจำนวนมากโดยประการต่างๆ ได้ทำความเคารพและความเลื่อมใสในกษัตริย์ด้วยมือของตนบ่อย ให้ทานโดยประการต่างๆ สิ้นกาลนาน [๓๑๒] อังกุรพาณิชบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปแล้วตลอดเดือน ตลอดปักษ์ ตลอดฤดู ตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดกาลนาน [๓๑๓] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ทาน บูชาแล้วอย่างนี้ตลอดกาลนาน ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ [๓๑๔] อินทกมาณพถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ ละร่างมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ [๓๑๕] แต่อินทกเทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตร โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารื่นรมย์ใจ [๓๑๖] อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่ยิ่ง (พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า) อังกุระ ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๙. อังกุรเปตวัตถุ

[๓๑๗] ครั้งที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์๑- ที่โคนต้นปาริฉัตตกพฤษ์ ณ ภพดาวดึงส์ [๓๑๘] เทวดาในหมื่นโลกธาตุพากันมานั่งประชุม เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่บนยอดเขา [๓๑๙] ไม่มีเทวดาตนไหนมีผิวพรรณงามรุ่งเรือง ยิ่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นงดงามรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง [๓๒๐] ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้อยู่ในที่ไกล ๑๒ โยชน์ จากที่พระศาสดาประทับอยู่ ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รุ่งเรืองยิ่งกว่า [๓๒๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร เมื่อจะทรงประกาศพระทักขิไณยบุคคล จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า [๓๒๒] อังกุรเทพบุตร ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก [๓๒๓] อังกุรเทพบุตรผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อบรมพระองค์เองทรงตักเตือนแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น ซึ่งว่างจากพระทักขิไณยบุคคล [๓๒๔] อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ ดังดวงจันทร์รุ่งเรืองยิ่งกว่าหมู่ดาว @เชิงอรรถ : @ แท่นหินที่มีสีเหมือนผ้ากัมพล (สีเหลือง) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ

(อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า) [๓๒๕] พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด [๓๒๖] ทานมากมายที่บุคคลตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำทายกให้ปลื้มใจ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน [๓๒๗] พืชแม้น้อยที่บุคคลหว่านลงในนาดี เมื่อฝนตกสม่ำเสมอ ผลย่อมทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด [๓๒๘] อุปการะแม้น้อยที่บุคคลทำแล้วในท่านผู้มีศีล มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมกลับมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน [๓๒๙] ควรเลือกให้ทานในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมาก ทายกเลือกให้ทานแล้ว จึงไปสู่สวรรค์ [๓๓๐] ทานที่เลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ ทานที่ทายกให้ในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายซึ่งยังอยู่ในมนุษยโลกนี้ ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี
อังกุรเปตวัตถุที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๒๐๙-๒๑๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=106              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=3661&Z=3834                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=106              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=106&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2662              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=106&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2662                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :