ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๑. ปุสสเถรคาถา

๑๗. ติงสนิบาต
๑. ปุสสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุสสเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเบื้องต้นไว้ว่า) [๙๔๙] ฤๅษีปัณฑรสโคตรได้พบเห็นภิกษุมากรูป ผู้น่าเลื่อมใส อบรมตน สำรวมดีแล้ว ได้สอบถามพระปุสสเถระว่า [๙๕๐] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้ จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร มีอากัปกิริยาอย่างไร ข้าพเจ้าเรียนถามท่านแล้ว นิมนต์บอกความข้อนั้นด้วยเถิด (พระปุสสเถระไดักล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๙๕๑] ท่านปัณฑรสฤๅษี เชิญท่านฟังคำของอาตมา ขอเชิญตั้งใจจดจำให้ดี อาตมาจะบอกข้อความที่ท่านถามถึงอนาคตแก่ท่าน [๙๕๒] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายส่วนมาก จักเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา และมีวาทะขัดแย้งกัน [๙๕๓] มีความสำคัญในสัทธรรมที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นว่ารู้ ว่าเห็น มีความคิดในธรรมที่ลึกซึ้งว่าตื้น เป็นคนเบา ไม่หนักแน่นในธรรม ไม่เคารพกันและกัน [๙๕๔] ในกาลภายหน้า โทษเป็นอันมาก จะเกิดขึ้นในสัตว์โลก ภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ความคิด จะทำธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้ ให้มัวหมอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๑. ปุสสเถรคาถา

[๙๕๕] ทั้งจะเสื่อมจากคุณธรรม กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ มีพวกมาก ปากจัด ไม่ยอมรับฟัง(ความคิดเห็นของผู้อื่น) [๙๕๖] ฝ่ายพวกที่มีคุณธรรม พูดในท่ามกลางสงฆ์ตามความเป็นจริง ละอายใจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จักมีพวกน้อย [๙๕๗] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะมีปัญญาทราม พากันยินดี เงิน ทอง ไร่นา สวน แพะ แกะ และคนใช้ชายหญิง [๙๕๘] จะเป็นคนอันธพาล ชอบมุ่งแต่จะตำหนิติเตียน ไม่ตั้งมั่นในศีล ถือตัวจัด โหดร้าย เที่ยวไป ชอบก่อการทะเลาะวิวาท [๙๕๙] ทั้งจะมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว เที่ยวทำตัวดังพระอริยะ [๙๖๐] จะใช้น้ำมันแต่งผมให้งดงาม เป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล ใช้ยาหยอดแต่งตา นุ่งห่มจีวรสีงาช้าง เที่ยวไปตามถนนหนทาง [๙๖๑] จะรังเกียจผ้ากาสาวะซึ่งย้อมดีแล้ว ที่พระอริยะทั้งหลายไม่รังเกียจ เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ชอบใช้แต่ผ้าขาว [๙๖๒] จะมุ่งแต่ลาภ เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน รังเกียจเสนาสนะป่า ชอบอยู่แต่เสนาสนะใกล้บ้าน [๙๖๓] จะไม่สำรวม เที่ยวประพฤติตามพวกภิกษุ ที่ยินดีในมิจฉาชีพ ได้ลาภอยู่เสมอๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๑. ปุสสเถรคาถา

[๙๖๔] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชายกย่องเหล่าภิกษุผู้ไม่ มีลาภ ทั้งจะไม่คบค้าสมาคมกับเหล่าภิกษุผู้รักษาศีลดี ซึ่งเป็นนักปราชญ์ [๙๖๕] จะห่มจีวรสีแดงที่คนป่าชอบย้อมใช้ พากันติเตียนผ้ากาสาวะซึ่งเป็นธงชัยของตน บางพวกก็จะห่มจีวรสีขาว ซึ่งเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์ [๙๖๖] ในกาลภายหน้า ภิกษุเหล่านั้นจะไม่มีความเคารพในผ้ากาสาวะ ทั้งจะไม่พิจารณาใช้ผ้ากาสาวะ [๙๖๗] การไม่คิดพิจารณาให้ดี ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง ที่ถูกลูกศรเสียบแทง ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่ [๙๖๘] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์ ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้ ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า [๙๖๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะ๑- และสัจจะ จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย [๙๗๐] ส่วนผู้ใดพึงคลายกิเลสดุจน้ำฝาด ตั้งมั่นดีแล้วในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแหละควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้ @เชิงอรรถ : @ ความฝึกอินทรีย์ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๖๙/๔๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๑. ปุสสเถรคาถา

[๙๗๑] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย [๙๗๒] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้ [๙๗๓] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้ [๙๗๔] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา [๙๗๕] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง [๙๗๖] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น ก็จะไม่เคารพกันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก [๙๗๗] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้ (ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง ได้กล่าว ๓ ภาษิตเหล่านี้ว่า) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๒. สารีปุตตเถรคาถา

[๙๗๘] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน มีความเคารพกันและกัน [๙๗๙] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด [๙๘๐] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท๑- ได้
๒. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๙๘๑] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ [๙๘๒] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่ [๙๘๓] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน @เชิงอรรถ : @ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๐/๔๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๐๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๙๖-๕๐๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=395              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=7980&Z=8048                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=395              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=395&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=9091              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=395&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=9091                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thag17.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :