ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

๒๑. มหานิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระบวชแล้วใหม่ๆ ได้เห็นหญิงหลายคน ล้วนแต่งตัวงดงาม พากันไปวิหาร ก็เกิดความกำหนัดยินดี เมื่อจะบรรเทาความกำหนัดยินดีนั้น ได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๑๘] ความตรึกกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้ ย่อมเข้าครอบงำเราผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต [๑๒๑๙] บุตรของคนสูงศักดิ์ได้ศึกษาวิชายิงธนูคราวละมากๆ มาอย่างเชี่ยวชาญ ยิงลูกธนูไปรอบๆ ตัวโดยไม่ผิดพลาด [๑๒๒๐] ถึงแม้หญิงจะมามากยิ่งไปกว่าหญิงเหล่านี้ ก็จะเบียดเบียนเราไม่ได้แน่นอน เพราะเราได้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมเสียแล้ว [๑๒๒๑] ด้วยว่า เราได้สดับทางเป็นที่ให้ถึงนิพพานนี้ เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ดวงอาทิตย์ ใจของเรายินดีแล้วในทางนั้นแน่นอน [๑๒๒๒] มารผู้ชั่วช้า ถ้าท่านยังเข้ามาหาเราผู้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ เราก็จะทำทางที่เราทำไว้ให้ถึงที่สุด โดยท่านจะไม่พบเห็นได้ ฉะนั้น [๑๒๒๓] ผู้ใดละความยินดี ยินร้าย และความตรึกเกี่ยวกับบ้านเรือนได้ทั้งหมด หมดตัณหา ไม่มีกิเลส ไม่พึงก่อตัณหาดุจป่าในที่ไหนๆ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๒๔] รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ ทั้งที่อาศัยแผ่นดิน อยู่ในอากาศ อันนับเนื่องในภพ ๓ ล้วนไม่เที่ยงคร่ำคร่าไปทั้งนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว มีตนหลุดพ้นเที่ยวไป [๑๒๒๕] เหล่าปุถุชนที่มีจิตหมกมุ่นในอุปธิทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกำจัดความพอใจในเบญจกามคุณนี้เสีย เพราะผู้ใดไม่ติดในเบญจกามคุณนี้ บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นมุนี [๑๒๒๖] ถ้ามิจฉาวิตกที่อิงอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตั้งมั่นในกาลไหนๆ ผู้ใดไม่พึงเป็นไปในอำนาจกิเลสด้วยอำนาจมิจฉาวิตกเหล่านั้น ทั้งไม่ชอบกล่าวคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ [๑๒๒๗] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีจิตมั่นคงมานาน ไม่ลวงโลก มีปัญญารักษาตนได้ หมดความทะเยอทะยาน เป็นมุนี ได้บรรลุสันตบท ย่อมหวังคอยเฉพาะเวลาที่จะปรินิพพาน [๑๒๒๘] ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม ท่านจงละความเย่อหยิ่งเสีย และจงละทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมด เพราะผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง จะต้องเดือดร้อนเป็นเวลานาน [๑๒๒๙] หมู่สัตว์ที่ยังลบหลู่คุณท่าน ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว ย่อมตกนรก เหล่าปุถุชนที่ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว เกิดในนรก ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๓๐] บางครั้ง ภิกษุปฏิบัติชอบแล้ว ชนะกิเลสได้ด้วยมรรค ไม่เศร้าโศกเลย ยังกลับได้เกียรติคุณและความสุข บัณฑิตทั้งหลายเรียกภิกษุผู้ปฏิบัติชอบเช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม [๑๒๓๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ควรมีกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่าง ควรมีแต่ความเพียรชอบ ละนิวรณ์ได้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งละความเย่อหยิ่งได้หมด สงบระงับได้แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชา ๓ (พระวังคีสเถระเมื่อจะแจ้งความเป็นไปของตนแก่พระอานนทเถระ จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๓๒] กระผมถูกกามราคะแผดเผา จิตของกระผมเร่าร้อน ท่านผู้เป็นเชื้อสายโคตมโคตร ดังกระผมจะขอโอกาส ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ช่วยบอกเหตุที่ดับราคะให้ด้วย (พระอานนทเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๓๓] จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด ท่านจงละทิ้งนิมิตว่างามซึ่งประกอบด้วยราคะเสีย [๑๒๓๔] จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เดียว ให้ตั้งมั่นดี ด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่งาม จงอบรมกายคตาสติ และจงเป็นผู้เบื่อหน่ายให้มาก [๑๒๓๕] จงเจริญการพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง และจงละมานานุสัยเสียให้ได้ขาด แต่นั้น ท่านจะเป็นผู้สงบเที่ยวไป เพราะละมานะได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

(พระวังคีสเถระเกิดความโสมนัส เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเบื้องพระพักตร์ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๓๖] บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนชนเหล่าอื่น วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต [๑๒๓๗] พึงกล่าวแต่วาจาที่น่ารัก ซึ่งเหล่าชนพากันชื่นชม ไม่พึงพูดหยาบคายต่อชนเหล่าอื่น พึงพูดแต่คำที่น่ารัก [๑๒๓๘] คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นอยู่แล้วในคำสัตย์ ทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม [๑๒๓๙] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใดอันเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์ พระวาจานั้นแลสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย (พระวังคีสเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตรเถระ จึงได้กล่าวภาษิต เหล่านี้ว่า) [๑๒๔๐] พระสารีบุตรมีปัญญาสุขุม เป็นนักปราชญ์ รู้ทางและมิใช่ทาง มีปัญญามาก แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย [๑๒๔๑] แสดงโดยย่อก็ได้ โดยพิสดารก็ได้ เมื่อท่านกำลังแสดงธรรม เสียงที่เปล่งออกก็ไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา ทั้งปฏิภาณก็ปรากฏ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๔๒] เมื่อท่านแสดงธรรมนั้นอยู่ ภิกษุทั้งหลายที่ฟังคำไพเราะ ก็มีจิตร่าเริงเบิกบานด้วยเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง ไพเราะจับใจ จึงตั้งใจฟัง (พระวังคีสเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๔๓] ในวัน ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสุทธิปวารณา วันนี้ มีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ขาด ไม่มีทุกข์สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐ [๑๒๔๔] พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จเลียบแผ่นดินอันไพศาล มีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขตนี้ ฉันใด [๑๒๔๕] สาวกทั้งหลายผู้ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชได้ พากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะสงคราม ทรงนำหมู่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ก็ฉันนั้น [๑๒๔๖] พระสาวกทั้งมวลล้วนแต่เป็นพุทธชิโนรส และในสาวกเหล่านี้ไม่มีความว่างเปล่าจากคุณธรรมเลย ข้าพระองค์พึงถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งทรงทำลายลูกศรคือตัณหาได้แล้ว [๑๒๔๗] ภิกษุกว่าพันรูปเข้าไปเฝ้าพระสุคตซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม ที่ปราศจากกิเลสดุจธุลีคือนิพพาน ซึ่งหาภัยแต่ที่ไหนมิได้ [๑๒๔๘] ภิกษุเหล่านั้นก็พากันฟังธรรมอันไพบูลย์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีหมู่ภิกษุแวดล้อมย่อมทรงงดงามหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๔๙] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่านาคะ ทรงเป็นพระฤๅษีผู้สูงสุดกว่าบรรดาฤๅษีทั้งหลาย ทรงโปรยฝนอมตธรรมให้ตกรดเหล่าพระสาวก คล้ายฝนห่าใหญ่ [๑๒๕๐] ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระวังคีสะสาวกของพระองค์ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา จึงออกจากที่พักกลางวัน มาถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ (พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๕๑] พระวังคีสะครอบงำทางเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสมาร ทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่างมีราคะเป็นต้นอยู่ เธอทั้งหลายจงดูวังคีสะ ผู้ทำการปลดเปลื้องกิเลสเป็นเครื่องผูก ผู้อันตัณหา มานะ และทิฏฐิอิงอาศัยไม่ได้ ผู้จำแนกธรรมเป็นส่วนๆ ได้นั้น [๑๒๕๒] ความจริง พระวังคีสะได้บอกทางไว้หลายอย่าง เพื่อถอนโอฆกิเลส และเมื่อพระวังคีสะนั้นบอกทางอมตะนั้นไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลายที่เห็นธรรมก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว [๑๒๕๓] พระวังคีสะนั้นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด รู้แจ่มแจ้ง ได้เห็นนิพพานเป็นเหตุล่วงพ้นวิญญาณฐิติได้ทั้งหมด ครั้นรู้และทำให้แจ้ง จึงได้แสดงธรรมอันเลิศแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ๑๐ รูป [๑๒๕๔] เมื่อท่านแสดงธรรมไว้ดีอย่างนี้ ท่านผู้รู้แจ้งธรรมทั้งหลายจะมีความประมาทได้อย่างไร เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น พึงตั้งใจศึกษา(สิกขา ๓) ทุกเมื่อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

(พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระอัญญาโกณฑัญญเถระ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๕๕] พระอัญญาโกณฑัญญเถระผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ได้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ได้วิเวกซึ่งเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขเป็นประจำ [๑๒๕๖] เป็นผู้ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ ได้บรรลุสิ่งที่พระสาวกผู้ทำตาม คำสอนของพระศาสดาจะพึงบรรลุได้ทุกรูป [๑๒๕๗] พระอัญญาโกณฑัญญเถระมีอานุภาพมาก ได้บรรลุวิชชา ๓ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น เป็นพุทธทายาทมาถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาอยู่ (พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาคและพระอรหันตสาวก จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๕๘] พระสาวกทั้งหลายผู้ได้บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้ พากันแวดล้อมพระมหามุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ประทับนั่งที่ข้างภูเขา [๑๒๕๙] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก พิจารณากำหนดรู้จิตที่หลุดพ้น ไม่มีอุปธิของพระขีณาสพเหล่านั้นได้ด้วยจิต [๑๒๖๐] พระสาวกเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระมหามุนีโคดม ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกประการ ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์ เพียบพร้อมด้วยพระคุณมากอย่าง (พระวังคีสเถระ หวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า) [๑๒๖๑] ข้าแต่พระมหามุนีอังคีรส พระองค์ไพโรจน์ล่วงโลกทั้งหมดด้วยพระยศ เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่ปราศจากมลทิน สว่างจ้าอยู่บนท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

(พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศคุณของพระศาสดาและของตน จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๖๒] เมื่อก่อน เราเป็นผู้อันนักปราชญ์เคารพนับถือ เที่ยวไปจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้าน จากเมืองไปยังเมือง จึงได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง [๑๒๖๓] พระองค์ผู้เป็นพระมหามุนี ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์ ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเรา เราฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา [๑๒๖๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์ แล้วรู้ชัดถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ จึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต [๑๒๖๕] พระตถาคตทั้งหลายทรงอุบัติเพื่อประโยชน์แก่สตรีและบุรุษผู้ทำ ตามคำสอนเป็นจำนวนมากหนอ [๑๒๖๖] พระมหามุนีได้บรรลุพระโพธิญาณเพื่อประโยชน์แก่เหล่าภิกษุ และภิกษุณีผู้ได้เห็นธรรมซึ่งเป็นทางออกจากทุกข์หนอแล [๑๒๖๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์ ทรงมีพระจักษุ ทรงอนุเคราะห์ต่อหมู่สัตว์ ได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ [๑๒๖๘] (๑) ทุกข์ (๒) เหตุให้เกิดทุกข์ (๓) ความดับทุกข์ (๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ [๑๒๖๙] เราได้เห็นธรรมเหล่านั้น เหมือนอย่างที่พระศาสดาตรัสไว้ ความเป็นจริงอย่างนี้ เราได้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว [๑๒๗๐] การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นการดีหนอสำหรับเรา เพราะเราได้บรรลุธรรมที่ประเสริฐสุด บรรดาธรรมที่พระองค์ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๗๑] เราได้ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ชำระโสตธาตุให้หมดจด ได้วิชชา ๓ บรรลุฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น (พระวังคีสเถระ ในคราวที่พระอุปัชฌาย์ของท่านปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๗๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดาผู้มีพระปัญญามากว่า ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี่แหละ ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร [๑๒๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภิกษุนั้นเห็นธรรมคือนิพพานอันมั่นคง เป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า นิโครธกัปปะ ผู้มุ่งแต่ความหลุดพ้น ปรารภความเพียร ยังกราบไหว้ท่านอยู่ [๑๒๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ซึ่งมีพระจักษุรอบคอบ แม้ข้าพระองค์ทุกรูป ปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตลงฟัง พระองค์มิใช่หรือเป็นศาสดา พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม [๑๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน ขอพระองค์โปรดตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้า พระองค์ทราบด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๗๖] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้ เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตซึ่งมีพระจักษุ มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป [๑๒๗๗] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นบุรุษแต่เพียงกำเนิด ก็จะไม่พึงทรงทำลายกิเลสได้ เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆหมอกที่หนาทึบไม่ได้ โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะมืดหนักลง พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นต้น ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่พึงรุ่งเรืองนัก [๑๒๗๘] นักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชาญาณ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์เข้าใจพระองค์ว่า ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่าพระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ในบริษัทด้วยเถิด [๑๒๗๙] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวานที่เกิดแต่พระนาสิกที่บุญญาธิการ ตกแต่งมาดีแล้วได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา เหมือนพญาหงส์ทอง โก่งคอขันเบาๆ อย่างไพเราะ ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่ ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๘๐] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตายที่ละได้อย่างสิ้นเชิง จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด เพราะบรรดาปุถุชนและเสขบุคคลเป็นต้น ผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี เหมือนคนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตัวต้องการได้ [๑๒๘๑] พระดำรัสของพระองค์นี้มีไวยากรณ์สมบูรณ์ พระองค์ทรงมีพระปัญญาตรงไปตรงมาตรัสไว้อย่างถูกต้อง ข้าพระองค์ก็เรียนมาดีแล้ว การถวายบังคมที่ข้าพระองค์ถวายอย่างนอบน้อมนี้เป็นครั้งสุดท้าย ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญามาก พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระได้ ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง [๑๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ทรงตรัสรู้อริยธรรมทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมดได้ ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อน ก็ต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ขอพระองค์ทรงยังฝนคือพระธรรมเทศนา ที่ข้าพระองค์ฟังมาแล้วให้ตกลงเถิด [๑๒๘๓] พระนิโครธกัปปเถระได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ของท่านนั้นไม่สูญเปล่าหรือ ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

๑. วังคีสเถรคาถา

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) [๑๒๘๔] พระนิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้ ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน ข้ามพ้นชาติมรณะได้อย่างสิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการได้ตรัสไว้ดังนี้ (พระวังคีสเถระกราบทูลด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมเลื่อมใส ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ พระองค์เป็นพุทธเจ้าไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน [๑๒๘๖] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้างทั้งมั่นคงของพญามารเจ้าเล่ห์ได้ขาด [๑๒๘๗] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า ท่านนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว (พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศความเลื่อมใส จึงได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า) [๑๒๘๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ ข้าพระองค์ขอกราบไหว้ท่านพระนิโครธกัปปเถระ ผู้เป็นวิสุทธิเทพ เป็นอนุชาตบุตร มีความเพียรมาก เป็นผู้ประเสริฐ ทั้งเป็นโอรสของพระองค์ผู้ประเสริฐนั้น ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลายไว้ ด้วยประการฉะนี้แล
มหานิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
ในสัตตตินิบาต(มหานิบาต)นี้ พระวังคีสเถระผู้แตกฉานรูปเดียวเท่านั้น ไม่มีพระเถระรูปอื่น และมี ๗๑ ภาษิต ฉะนี้แล
เถรคาถา จบ
สรุปความเถรคาถานี้
พระเถระ ๒๖๔ รูป ผู้เป็นพุทธบุตร ไม่มีอาสวะ บรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษม พากันบันลือสีหนาท ประกาศภาษิตไว้รวม ๑,๓๖๐ ภาษิต แล้วก็พากันนิพพานเหมือนกองไฟหมดเชื้อแล้วดับไป ฉะนี้แล
เถรคาถา จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๕๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๓๘-๕๕๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=401              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=8643&Z=8881                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=401              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=401&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12997              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=401&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12997                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.21.00x.hekh.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.21.00.irel.html https://suttacentral.net/thag21.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :