ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๒. โรหิณีเถรีคาถา

๒. โรหิณีเถรีคาถา
ภาษิตของพระโรหิณีเถรี
(พระโรหิณีเถรีกล่าวภาษิตที่บิดาและตนเองพูดจาโต้ตอบกันด้วยการเปล่งอุทานว่า) (บิดาถามเราว่า) [๒๗๑] แม่โรหิณีผู้เจริญ เจ้าหลับก็พูดว่า“สมณะ” ตื่นก็พูดว่า “สมณะ” สรรเสริญแต่สมณะเท่านั้น เห็นทีลูกจะบวชเป็นสมณะเสียแน่แท้ [๒๗๒] โรหิณี ลูกถวายข้าวและน้ำอย่างไพบูลย์แก่เหล่าสมณะ พ่อขอถาม เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุไรเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๗๓] พวกสมณะไม่ชอบทำการงาน เกียจคร้าน อาศัยแต่ของที่คนอื่นให้เลี้ยงชีพ หวังแต่จะได้ ชอบของอร่อย เพราะเหตุไร เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก (เราตอบท่านว่า) [๒๗๔] คุณพ่อขา คุณพ่อสอบถามไล่เลียงกับลูก เรื่องคุณของสมณะเสียตั้งนาน ลูกจะขยายปัญญา ศีล และความบากบั่น ของสมณะเหล่านั้นแก่คุณพ่อดังนี้ [๒๗๕] สมณะทั้งหลายชอบทำการงาน ไม่เกียจคร้าน ทำแต่การงานที่ประเสริฐสุด จึงละราคะโทสะได้ เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๒. โรหิณีเถรีคาถา

[๒๗๖] สมณะทั้งหลาย กำจัดมูลราก๑- ทั้ง ๓ ของบาป ทำแต่งานสะอาด จึงละบาปได้ทั้งหมด เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๗๗] กายกรรมของสมณะเหล่านั้นสะอาด วจีกรรมก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด เพราะเหตุนั้นเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๗๘] สมณะเหล่านั้น ไร้มลทินดุจสังข์และมุกดาที่ขัดดีแล้ว สะอาดทั้งภายในและภายนอก บริบูรณ์ด้วยธรรมฝ่ายขาว เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๗๙] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม แสดงเหตุและผล เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๘๐] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม มีจิตมีอารมณ์เดียว๒- มีสติ เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๘๑] สมณะเหล่านั้นอยู่ป่าห่างไกลผู้คน มีสติ พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ที่สุดทุกข์ เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๘๒] สมณะเหล่านั้น หลีกออกจากหมู่บ้านใดไป ไม่เหลียวแลอย่างกังวลในหมู่บ้านนั้น ไปอย่างไม่มีเยื่อใยเลย เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก @เชิงอรรถ : @ โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๒๗๖/๒๗๗) @ จิตมีสมาธิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๒. โรหิณีเถรีคาถา

[๒๘๓] สมณะเหล่านั้นไม่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในยุ้งฉาง ในหม้อ และในกระเช้า แสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๘๔] สมณะเหล่านั้นไม่รับเงิน ทอง และรูปิยะ เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก [๒๘๕] สมณะเหล่านั้นบวชมาจากต่างสกุลกัน และต่างชนบทกัน ก็รักซึ่งกันและกัน เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก (บิดากล่าวกับเราว่า) [๒๘๖] ลูกโรหิณีผู้เจริญ ลูกเกิดมาในสกุล เพื่อประโยชน์แก่พวกเราแท้หนอ ลูกมีศรัทธา มีความเคารพแรงกล้า ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ [๒๘๗] เพราะลูกรู้จักพระรัตนตรัยนั้นว่า เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม สมณะเหล่านั้นคงจะรับทักษิณาทานของพ่อบ้างนะ [๒๘๘] เพราะว่า ยัญคือบุญที่เราตั้งไว้แล้วในสมณะเหล่านั้น คงจะมีผลไพบูลย์แก่พวกเราแน่ (เรากล่าวกับบิดาว่า) ถ้าคุณพ่อกลัวทุกข์ ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์ [๒๘๙] ขอคุณพ่อ โปรดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด จงสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๓. จาปาเถรีคาถา

(บิดากล่าวกับเราว่า) [๒๙๐] พ่อขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่พ่อ [๒๙๑] เมื่อก่อน พ่อเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม วันนี้ พ่อเป็นพราหมณ์ พ่อได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๐๐-๖๐๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=468              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=9667&Z=9720                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=468              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=468&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=5833              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=468&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=5833                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/ati/tipitaka/kn/thig/thig.13.02.than.html https://suttacentral.net/thig13.2/en/sujato https://suttacentral.net/thig13.2/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :