ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
ว่าด้วยปัณฑรกนาคราช
(ปัณฑรกนาคราชคร่ำครวญว่า) [๒๕๘] ภัยที่ตนเองก่อขึ้นย่อมติดตามคนไร้ปัญญา พูดจาพล่อยๆ ไม่ปกปิดความรู้ ขาดความระมัดระวัง ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ เหมือนพญาครุฑไล่จับปัณฑรกนาคราช [๒๕๙] นรชนใดพอใจบอกมนต์ที่ลี้ลับ ที่ตนควรจะปกปิดรักษา เพราะความเขลา ภัยย่อมติดตามเขาผู้เปิดเผยมนต์โดยพลัน เหมือนพญาครุฑไล่จับปัณฑรกนาคราช [๒๖๐] มิตรเทียมไม่ควรจะรู้เนื้อความสำคัญซึ่งเป็นความลับ แต่มิตรแท้ผู้ไม่รู้หรือรู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะรู้ความลับนั้น [๒๖๑] เราไว้วางใจอเจลก(ชีเปลือย)ว่า ผู้นี้เป็นสมณะ ชาวโลกนับถือ อบรมตนดีแล้ว ได้เปิดเผยบอกความลับแก่เขา จึงล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ [๒๖๒] พญาครุฑผู้ประเสริฐ สำหรับเขา ข้าพเจ้าไม่อาจจะระวังวาจาที่เร้นลับอย่างยิ่งนี้ได้ เพราะเหตุนั้น ภัยจากฝ่ายเขาจึงมาถึงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ [๒๖๓] นรชนใดสำคัญผู้นี้ว่า เป็นคนมีใจดี บอกความลับกับคนที่เกิดในสกุลต่ำทราม เพราะความรัก ความชัง หรือเพราะความเกรงกลัว นรชนนั้นเป็นคนโง่ ต้องย่อยยับโดยไม่ต้องสงสัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

[๒๖๔] นรชนใดมีปกติพูดนอกเรื่อง นับเนื่องเข้าในพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน นรชนนั้นปราชญ์กล่าวว่า คนมีพิษร้าย ปากเสีย ควรระมัดระวังคนเช่นนั้นให้ห่างไกล [๒๖๕] ข้าพเจ้าได้ละทิ้งสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งหมดไปแล้ว คือ ข้าว น้ำ ผ้าแคว้นกาสี จุรณแก่นจันทน์แดง หญิงที่เจริญใจ พวงดอกไม้ และเครื่องชโลมทา ข้าแต่พญาครุฑ ข้าพเจ้าขอมอบชีวิตแก่ท่าน (พญาครุฑกล่าวคาถาตำหนิปัณฑรกนาคราชว่า) [๒๖๖] บรรดาเราทั้ง ๓ ในที่นี้ ใครหนอย่อมถูกตำหนิ นาคราช เราทั้งหลายเป็นสัตว์มีชีวิตในโลกนี้ คือ สมณะ ครุฑ หรือว่าท่านกันแน่ย่อมถูกตำหนิ ปัณฑรกนาคราช ท่านถูกข้าพเจ้าจับเพราะเหตุไร (ปัณฑรกนาคราชฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๒๖๗] อเจลกนั้นเป็นผู้ที่ข้าพเจ้ายกย่องว่า เป็นสมณะ เป็นที่รักของข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายกย่องด้วยใจจริง ข้าพเจ้าจึงได้เปิดเผยบอกความลับแก่เขา จึงได้ล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ (พญาครุฑกล่าวว่า) [๒๖๘] แท้จริง สัตว์ชื่อว่าจะไม่ตายไม่มีในแผ่นดิน ปัญญามีอยู่หลายอย่าง บุคคลไม่ควรนินทา นรชนในโลกนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ ได้ด้วยสัจจะ ๑ ธรรมะ ๑ ปัญญา ๑ ทมะ ๑ [๒๖๙] มารดาบิดานับว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมแห่งเผ่าพันธุ์ บุคคลที่ ๓ ผู้ช่วยเหลือเขาไม่มี เมื่อระแวงสงสัยว่า ความลับที่ปรึกษาไว้จะแตก ก็ไม่พึงบอกความลับที่สำคัญ แม้แก่มารดาบิดาเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

[๒๗๐] เมื่อสงสัยว่า มนต์จะแตกทำลาย บัณฑิตไม่พึงบอกความลับที่สำคัญแม้แก่มารดาบิดา พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย เพื่อนสหาย หรือญาติพวกพ้องของตน [๒๗๑] ถึงภรรยาจะยังสาวพูดจาไพเราะ ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา มีรูปร่างสวยงาม มีเกียรติยศชื่อเสียง มีหมู่ญาติแวดล้อม พูดอ้อนสามี เมื่อสงสัยว่า ความลับที่ปรึกษาไว้จะแตก บัณฑิตไม่พึงบอกความลับที่สำคัญแม้แก่นาง [๒๗๒] บัณฑิตไม่พึงเปิดเผยความลับ พึงรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์ เพราะว่าความลับบุคคลรู้อยู่ไม่เปิดเผยได้เป็นการดี [๒๗๓] บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี ๑ ศัตรู ๑ คนที่ใช้อามิสล่อ ๑ คนผู้ล้วงความลับ ๑ [๒๗๔] คนผู้รู้ความลับที่ผู้อื่นไม่รู้ เพราะกลัวความลับที่ปรึกษาหารือกันไว้จะแตก ย่อมอดกลั้นไว้ดุจบุคคลผู้เป็นทาสเขา [๒๗๕] คนมีประมาณเท่าใดล่วงรู้ความลับที่เขาปรึกษากัน คนมีประมาณเท่านั้นเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวของเขา เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับ [๒๗๖] เวลากลางวันควรพูดความลับในที่สงัด เวลากลางคืนไม่ควรพูดดังเกินไป เพราะเหตุว่าคนแอบฟังได้ยินความลับที่ปรึกษากันเข้า ความลับนั้นจะถึงการแพร่งพรายโดยเร็วพลัน [๒๗๗] นครใหญ่ที่สร้างด้วยเหล็ก ไม่มีประตู มีโรงเรือนล้วนสร้างด้วยเหล็ก มีคูขุดไว้ล้อมรอบ ย่อมปรากฏแม้ฉันใด แม้ผู้มีความคิดอันลี้ลับในโลกนี้ก็ปรากฏแก่เราฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

[๒๗๘] นาคราชผู้มีลิ้นสองแฉก นรชนเหล่าใดปกปิดความคิดไว้ ไม่พูดพล่อย มั่นคงอยู่ในประโยชน์ของตน ศัตรูทั้งหลายย่อมหลีกห่างไกลจากนรชนเหล่านั้น เหมือนคนรักชีวิตหลีกห่างไกลจากหมู่สัตว์อสรพิษฉะนั้น (เมื่อพญาครุฑกล่าวอย่างนั้นแล้ว ปัณฑรกนาคราชจึงกล่าวว่า) [๒๗๙] อเจลกละทิ้งบ้านเรือนแล้วบวช มีศีรษะโล้น ประพฤติเป็นคนเปลือยเพราะเหตุแห่งการหากิน เพราะข้าพเจ้าเปิดเผยความลับกับเขาแล จึงได้เสื่อมจากอรรถและธรรม [๒๘๐] พญาครุฑ บุคคลกระทำอย่างไร มีศีลอย่างไร บำเพ็ญวัตรอะไร ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราอย่างไร จึงจะเป็นสมณะได้ อนึ่ง สมณะกระทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้ (พญาครุฑกล่าวว่า) [๒๘๑] บุคคลประกอบด้วยหิริ ด้วยความอดกลั้น ด้วยการฝึกตน ไม่โกรธ ละคำส่อเสียด ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราเสีย จึงจะเป็นสมณะได้ สมณะกระทำอย่างนี้จึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้ (ปัณฑรกนาคราชเมื่อจะขอชีวิต จึงกล่าวว่า) [๒๘๒] มารดากอดสัมผัสบุตรอ่อนซึ่งเกิดแต่ตน แผ่ซ่านเรือนร่างทุกส่วนสัดปกป้องฉันใด ท่านผู้เป็นจอมแห่งนก ท่านจงปรากฏแก่ข้าพเจ้าแม้ฉันนั้น เหมือนมารดาเอ็นดูบุตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

(พญาครุฑเมื่อจะให้ชีวิตแก่ปัณฑรกนาคราช จึงกล่าวว่า) [๒๘๓] เอาเถิด ท่านผู้มีลิ้นสองแฉก วันนี้ท่านจงพ้นจากการถูกฆ่า ธรรมดาลูกมี ๓ ประเภท คือ (๑) ลูกศิษย์ (๒) ลูกบุญธรรม (๓) ลูกในไส้ อย่างอื่นหามีไม่ ท่านจงยินดีเถิด ท่านได้เป็นบุตรประเภทหนึ่งของข้าพเจ้าแล้ว (พระศาสดาตรัสพระคาถาแล้วทรงประกาศความนั้นว่า) [๒๘๔] พญาครุฑกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็โผลงจับภาคพื้นปล่อยพญานาค กล่าวว่า วันนี้ท่านรอดพ้นภัยทั้งปวงแล้ว จงเป็นผู้มีข้าพเจ้าคุ้มครองทั้งทางบกทางน้ำเถิด [๒๘๕] หมอผู้ฉลาดเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้ฉันใด ห้วงน้ำเย็นเป็นที่พึ่งของคนผู้กระหายได้ฉันใด ที่พักเป็นที่พึ่งของคนผู้ถูกความเย็นเพราะหิมะรบกวนฉันใด แม้ข้าพเจ้าก็จะเป็นที่พึ่งของท่านฉันนั้น (พญาครุฑเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า) [๒๘๖] นี่พญานาคผู้เกิดในครรภ์ ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับพญาครุฑ ผู้เกิดในฟองไข่ที่เป็นศัตรู ยังนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ (พญานาคกล่าวว่า) [๒๘๗] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก [๒๘๘] บุคคลจะพึงวางใจในคนผู้เคยทำการทะเลาะกันมาแล้วได้ อย่างไรเล่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ด้วยการเตรียมตัวอยู่เป็นนิตย์ ย่อมไม่ยินดีกับศัตรู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)

[๒๘๙] พึงทำให้ผู้อื่นวางใจตน แต่ตนเองไม่พึงวางใจเขา ไม่พึงให้ผู้อื่นระแวงตน แต่ตนพึงระแวงผู้อื่น วิญญูชนพึงพยายามโดยที่ผู้อื่นจะไม่รู้ความเป็นไปของตน (พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า) [๒๙๐] สัตว์ผู้ประเสริฐทั้ง ๒ นั้นมีเพศพรรณดุจเทพยดาสุขุมาลชาติ มีทรวดทรงสัณฐานและวัยงามเสมอกัน บริสุทธิ์ มีกองกุศลผลบุญ คลอเคลียกันไป เหมือนพาหนะเทียมด้วยม้า ได้เข้าไปหากรัมปิยอเจลก [๒๙๑] ลำดับนั้นแล ปัณฑรกนาคราชได้เข้าไปหาอเจลก ตามลำพังตนเองแล้วได้กล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ ข้าพเจ้ารอดตาย ผ่านพ้นภัยทั้งปวงมาได้ คงไม่เป็นที่พอใจของท่านแน่นอน (อเจลกกล่าวว่า) [๒๙๒] ก็พญาครุฑเป็นที่รักของเราอย่างแท้จริง ยิ่งกว่าปัณฑรกนาคราชโดยไม่ต้องสงสัย เรานั้นมีความรักใคร่ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ก็ได้กระทำกรรมชั่วช้านั้นลงไป หาทำไปเพราะความโง่เขลาไม่ (นาคราชกล่าวว่า) [๒๙๓] ธรรมดาบรรพชิตผู้พิจารณาเห็นโลกนี้และโลกหน้า ย่อมจะไม่มีความคิดว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา หรือสิ่งนี้ไม่เป็นที่รักของเรา ก็ท่านเป็นผู้ไม่สำรวม แต่ประพฤติลวงชาวโลกนี้ด้วยเพศแห่งผู้มีความสำรวมด้วยดี [๒๙๔] ท่านมิใช่พระอริยะ แต่ทำเหมือนพระอริยะ มิใช่คนสำรวม แต่ทำเหมือนคนสำรวม มีชาติต่ำทราม หาใช่ผู้ประเสริฐไม่ ได้ประพฤติชั่วช้าลามกเป็นอันมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)

(ครั้นตำหนิแล้วเมื่อจะสาป จึงกล่าวว่า) [๒๙๕] เจ้าคนผู้มีนิสัยประทุษร้าย เจ้าเป็นคนประทุษร้ายมิตร ผู้ไม่ประทุษร้าย ทั้งเป็นคนพูดจาส่อเสียด ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอศีรษะของเจ้าจงแตก ๗ เสี่ยง (พระศาสดาทรงประกาศความที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ จึงตรัสว่า) [๒๙๖] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรประทุษร้ายมิตร เพราะว่าคนอื่นที่จะเลวกว่าคนผู้ประทุษร้ายมิตรไม่มี อเจลกถูกสัตว์มีพิษสาปกำจัดลงแล้วในแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ปฏิญญาว่า เรามีความสำรวม ก็ถูกทำลายแล้วด้วยคำของจอมนาคินทร์
ปัณฑรกนาคราชชาดกที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๗๗-๕๘๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=518              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=9787&Z=9891                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2387              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2387&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=5817              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2387&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=5817                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja518/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :