ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
ว่าด้วยความซื่อสัตย์ของพระนางสัมพุลา
(ยักษ์ทานพเห็นพระนางสัมพุลามีจิตปฏิพัทธ์ จึงกล่าวว่า) [๒๙๗] โอ้ แม่นางผู้มีลำขาอันกลมกลึง เธอเป็นใคร ยืนสั่นสะท้านอยู่แต่ผู้เดียวใกล้ๆ ซอกเขา เธอผู้มีทรวดทรงน่าเคล้าคลึง เราถามแล้ว ขอเธอจงบอกชื่อและเผ่าพันธุ์แก่เรา [๒๙๘] แม่นางผู้มีทรวดทรงอันงดงาม เธอเป็นใคร หรือเป็นกัลยาณีของใคร ส่องสว่างไสวไปทั่วป่าที่น่ารื่นรมย์ซึ่งเป็นที่ที่สีหพยัคฆ์อยู่อาศัย แม่นางผู้เจริญ เราขอไหว้เธอ เราคือทานพขอนอบน้อมแก่เธอ (พระนางสัมพุลาได้ฟังดังนั้น จึงได้ตอบว่า) [๒๙๙] ข้าพเจ้าชื่อสัมพุลาเป็นพระชายาของพระราชบุตรพระเจ้ากรุงกาสี ซึ่งประชาชนรู้จักพระองค์โดยพระนามว่า เจ้าชายโสตถิเสน ทานพผู้เจริญ ขอท่านจงทราบอย่างนี้ ข้าพเจ้าสัมพุลาขอไหว้ท่าน ขอนอบน้อมแก่ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)

[๓๐๐] ท่านผู้เจริญ พระราชโอรสแห่งวิเทหราช ทรงอาดูรประทับอยู่ในป่า ข้าพเจ้าอุปัฏฐากพระองค์ผู้ทรงถูกโรคเบียดเบียนตัวต่อตัว [๓๐๑] อนึ่ง ข้าพเจ้าแสวงหาของป่า นำรวงผึ้งหรือเนื้อที่เป็นเดนใดมา พระองค์ก็เสวยสิ่งนั้น วันนี้พระสรีระของพระองค์คงจะเหี่ยวแห้งแน่นอน (ทั้ง ๒ กล่าวโต้ตอบกันต่อไปว่า) [๓๐๒] แม่นางสัมพุลา เธอจะทำอะไรได้กับพระราชบุตร ผู้ทรงระงมไปด้วยความอาดูรอยู่ในป่า เราจะเป็นภัสดาของเธอ [๓๐๓] เพราะอัตภาพที่ทุรพล เดือดร้อนเพราะความเศร้าโศก รูปร่างของข้าพเจ้าจะงดงามได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสวงหาหญิงอื่นที่สวยงามกว่าข้าพเจ้าเถิด [๓๐๔] มาเถิดแม่นาง จงขึ้นมายังภูเขาลูกนี้ เรามีภรรยาอยู่ ๔๐๐ นาง เธอจะประเสริฐกว่านางเหล่านั้น และจะสัมฤทธิ์ความประสงค์ทุกอย่าง [๓๐๕] แม่นางผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่งประดุจดวงดาว เธอมีใจประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งหมดของพี่มีอยู่มาก หาได้ง่าย ขอเธอจงมาร่วมอภิรมย์กับพี่ ณ วันนี้เถิด [๓๐๖] แม่นางสัมพุลา ถ้าเธอไม่ยอมเป็นมเหสี เธอก็ควรจะเป็นอาหารเช้าของเราในวันรุ่งขึ้น [๓๐๗] ฝ่ายเจ้าทานพกินคน มีผมเป็นกระเซิง ๗ ชั้น หยาบช้าทารุณ มีผิวกายดำแดง ได้จับพระนางสัมพุลานั้นผู้ไม่เห็นที่พึ่งในป่ารวบไว้ในวงแขน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)

[๓๐๘] ส่วนพระนางสัมพุลานั้นถูกปีศาจผู้ทารุณเห็นแก่อามิสข่มเหง ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู ก็เศร้าโศกรำพันถึงแต่พระสวามีเท่านั้น [๓๐๙] การที่รากษสจะกินเรา ถึงกระนั้น ก็หาใช่เป็นความทุกข์ของเราไม่ เราทุกข์อยู่แต่ว่า พระลูกเจ้าจะเข้าพระทัยผิด [๓๑๐] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นจะไม่มีอยู่แน่ ท้าวโลกบาลทั้งหลายชะรอยจะไม่มีในโลกนี้แน่นอน คนที่จะห้ามปรามยักษ์ผู้ไม่สำรวมทำการหยาบช้าคงไม่มีแน่นอน (ท้าวสักกะทรงใคร่ครวญทราบเหตุนั้นแล้ว ฉวยเอาพระขรรค์เพชรรีบเสด็จไป ประทับยืนบนกระท่อมของทานพยักษ์ ตรัสว่า) [๓๑๑] นางนี้มีเกียรติยศชื่อเสียง ประเสริฐกว่าหญิงทั้งหลาย เป็นหญิงฉลาด เรียบร้อย มีเดชรุ่งเรืองดุจกองเพลิง เจ้ารากษส ถ้าเจ้ากินหญิงสาวผู้นั้น ศีรษะของเจ้าจะพึงแตก ๗ เสี่ยง เจ้าอย่าทำให้นางเดือดร้อน จงปล่อยนางไป เพราะนางเป็นหญิงมีสามี (พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า) [๓๑๒] ก็พระนางสัมพุลารอดพ้นจากยักษ์กินคนแล้ว ก็เสด็จกลับสู่อาศรมดุจแม่นกซึ่งมีลูกอ่อนมีอันตรายบินกลับรัง ดุจแม่โคนมกลับมายังที่อยู่อาศัยที่ปราศจากลูกโค [๓๑๓] พระนางสัมพุลาราชบุตรีผู้มียศ เมื่อไม่ทรงเห็นพระสวามีผู้เป็นที่พึ่งในป่า ก็มีดวงพระเนตรพร่าพรายเพราะความร้อน ทรงกันแสงอยู่ ณ ที่นั้น [๓๑๔] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร พระนางก็ทรงไหว้วอน สมณพราหมณ์และฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะว่า ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)

[๓๑๕] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนราชสีห์ เสือโคร่ง และหมู่เนื้อเหล่าอื่นในป่าว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๓๑๖] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนเทพเจ้า ผู้สิงสถิตอยู่ที่กอหญ้าลดาวัลย์และหมู่ไม้โอสถตลอดจนบรรพต และพงศ์ไพรว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๓๑๗] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอน หมู่ดาวนักษัตรในยามราตรีซึ่งมีรัศมีเสมอด้วยดอกราชพฤกษ์ว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๓๑๘] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนเทพเจ้า ผู้สถิตที่แม่น้ำคงคาซึ่งมีนามว่าภาคีรถี เป็นที่รองรับการไหลมาแห่งแม่น้ำสายอื่นจำนวนมากว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๓๑๙] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอน (เทพเจ้าผู้สิงสถิตอยู่ ณ) ภูเขาหิมวันต์ที่ประเสริฐกว่าขุนเขาทั้งปวง ซึ่งเต็มด้วยศิลาว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก (โสตถิเสนทูลถามพระนางสัมพุลาว่า) [๓๒๐] พระราชบุตรีผู้มียศ พระนางกลับมาจนเย็นค่ำเชียวหนอ วันนี้พระนางสมคบกับใครหนอ ใครกันหนอเป็นที่รักของพระนางยิ่งกว่าหม่อมฉัน (พระนางสัมพุลาตรัสว่า) [๓๒๑] หม่อมฉันถูกทานพผู้เป็นศัตรูนั้นจับไว้ ได้กล่าวกับมันอย่างนี้ว่า การที่รากษสจะกินเรา ถึงกระนั้นก็หาใช่ความทุกข์ของเราไม่ เราทุกข์อยู่แต่ว่า พระลูกเจ้าจะเข้าพระทัยผิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)

(โสตถิเสนได้ฟังดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า) [๓๒๒] นางโจรมีเล่ห์เหลี่ยมมากมาย ยากที่จะหาความสัตย์ได้ หญิงทั้งหลายมีภาวะรู้ได้ยากเหมือนปลาที่ว่ายไปในน้ำ (พระนางสัมพุลาทรงทำสัจกิริยาหลั่งน้ำลงที่ศีรษะของโสตถิเสนนั้นว่า) [๓๒๓] ขอความสัตย์จงคอยพิทักษ์รักษาหม่อมฉัน อย่างที่หม่อมฉันไม่เคยรักชายอื่นยิ่งไปกว่าทูลกระหม่อมเถิด ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอพระโรคของทูลกระหม่อมจงระงับไป (พระสสุรดาบสตรัสถามพระนางสัมพุลาผู้มีอินทรีย์เหี่ยวแห้งว่า) [๓๒๔] พญาช้าง ๗๐๐ เชือกซึ่งมีทหารถืออาวุธอย่างเข้มแข็งขับขี่ และนายขมังธนูอีก ๑,๖๐๐ นายเฝ้ารักษาตลอดคืนตลอดวัน แม่นางผู้เจริญ พระนางยังจะพบศัตรูชนิดไหนอีก (พระนางสัมพุลากราบทูลว่า) [๓๒๕] ขอเดชะพระบิดา พระราชบุตรทอดพระเนตรเห็น นางสนมนารีผู้ประดับตบแต่งเรือนร่าง มีผิวพรรณงามดังกลีบปทุม รุ่นกำดัด มีเสียงไพเราะดังนางพญาหงส์ และทรงสดับเสียงหัวเราะขับกล่อมประโคม บัดนี้สำหรับหม่อมฉัน พระลูกเจ้าหาเป็นดังเช่นก่อนไม่ [๓๒๖] ขอเดชะพระบิดา สนมนารีเหล่านั้น ทรงเครื่องประดับล้วนเป็นทองคำ มีเรือนร่างเฉิดโฉม ประดับด้วยอลังการนานาชนิด เพริศพริ้งดังสาวสวรรค์ เป็นที่โปรดปรานของท้าวโสตถิเสน ล้วนมีทรวดทรงหาที่ติมิได้ เป็นขัตติยกัญญาพากันปรนเปรอท้าวเธออยู่ [๓๒๗] ขอเดชะพระบิดา ถ้าหากพระราชโอรส ทรงยกย่องหม่อมฉันและไม่ทรงดูหมิ่นหม่อมฉัน เหมือนคราวที่หม่อมฉัน เคยเที่ยวแสวงหาผลาผล เลี้ยงดูพระสวามีอยู่ในป่าในกาลก่อนไซร้ สำหรับหม่อมฉัน ป่านั้นแหละประเสริฐกว่าราชสมบัติในกรุงพาราณสีนี้เสียอีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

[๓๒๘] นารีผู้มีอาภรณ์เกลี้ยงเกลาประดับตกแต่งร่างกายอย่างสวยงาม ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง อยู่ในเรือนที่มีข้าวและน้ำ ที่เขาตระเตรียมไว้อย่างไพบูลย์อันใด แต่ไม่เป็นที่รักของสามี การที่นารีนั้นฆ่าตัวตายเสียยังประเสริฐกว่าการอยู่ครองเรือนนั้น [๓๒๙] แม้หญิงใดเป็นคนกำพร้า ขัดสน ไร้เครื่องประดับ นอนบนเสื่อลำแพน แต่เจ้าหล่อนเป็นที่รักของสามี หญิงนี้แลแม้จะเป็นคนกำพร้าก็ยังประเสริฐกว่า หญิงที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง แต่ไม่เป็นที่รักของสามี (พระสสุรดาบสตรัสสอนพระราชโอรสว่า) [๓๓๐] หญิงผู้เกื้อกูลชายผู้เป็นสามีหาได้ยากยิ่ง สามีผู้เกื้อกูลหญิงผู้เป็นภรรยาก็หาได้ยาก เจ้าผู้จอมชน พระนางสัมพุลาเป็นภรรยาผู้เกื้อกูลต่อเจ้าและเป็นผู้มีศีล เจ้าจงประพฤติต่อพระนางสัมพุลาอย่างยุติธรรมเถิด (พระเจ้าโสตถิเสนเมื่อจะมอบอิสริยยศแก่พระนางสัมพุลา จึงตรัสว่า) [๓๓๑] พระน้องนางผู้เจริญ ถ้าเมื่อพระน้องนาง ได้โภคะอันไพบูลย์แล้วละความริษยาได้จนวันตาย พี่และราชกัญญาเหล่านี้ทั้งหมดจะทำตามคำของพระน้องนาง
สัมพุลาชาดกที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๘๓-๕๘๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=519              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=9892&Z=9983                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2406              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2406&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=6207              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2406&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=6207                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja519/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :