ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

๒๑. อสีตินิบาต
๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า) [๑] ท่านสุมุขะ ฝูงหงส์ไม่เหลียวแล พากันบินหนีไป แม้ท่านก็จงหนีไปเถิด อย่ามัวกังวลอยู่เลย ความเป็นสหายไม่มีอยู่ในผู้ติดบ่วง (หงส์สุมุขะกล่าวว่า) [๒] ข้าพระองค์จะหนีไปหรือไม่หนีไปก็ตาม เพราะการหนีไปและไม่หนีไปนั้น ข้าพระองค์จะไม่ตายก็หามิได้ เมื่อพระองค์มีความสุข ข้าพระองค์ได้พึ่งพาอาศัย เมื่อพระองค์มีความทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงละทิ้งไปได้อย่างไร [๓] การตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระองค์ การมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะประเสริฐอะไร [๔] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์ ผู้ถึงความทุกข์อย่างนี้ไป นั่นไม่เป็นธรรมเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งหมู่วิหค ข้าพระองค์ชอบใจคติของพระองค์ (พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า) [๕] คติของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอย่างอื่นไป จากโรงครัวใหญ่ได้อย่างไรเล่า ท่านมีปัญญาคือความคิดพ้นบ่วงมาแล้ว จะพอใจคตินั้นได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๖] นี่แน่ะพ่อปักษี ท่านเห็นประโยชน์ของเรา ของท่าน หรือของญาติทั้งหลายที่เหลืออย่างไร ในเมื่อเราทั้ง ๒ จะสิ้นชีวิต [๗] พ่อปักษีผู้มีปีกทั้ง ๒ ประดุจทองคำ เมื่อท่านสละชีวิต ในเพราะคุณอันประจักษ์เช่นนี้ ก็เหมือนคนตาบอด ตกอยู่ในความมืดมิด จะพึงทำประโยชน์อะไรให้โชติช่วงเล่า (หงส์สุมุขะกล่าวตอบว่า) [๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์ ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทราบประโยชน์ในธรรม ธรรมที่มีคนบูชา ย่อมชี้ประโยชน์แก่เหล่าสัตว์ [๙] ข้าพระองค์นั้นมุ่งธรรมอยู่ ได้เห็นประโยชน์อันเกิดขึ้นจากธรรม และความภักดีในพระองค์จึงไม่คำนึงถึงชีวิต [๑๐] มิตรเมื่อระลึกถึงธรรม ไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามอันตรายแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้ (พญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า) [๑๑] ธรรมนี้ท่านก็ประพฤติแล้ว และความภักดีในเราก็ปรากฏชัดแล้ว ขอท่านจงทำตามความต้องการของเราเถิด เราอนุญาตท่านแล้วจงหนีไป [๑๒] ก็แลเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแม้อย่างนี้ ส่วนที่บกพร่องอันใดที่เราได้ทำไว้แล้วแก่หมู่ญาติ ส่วนที่บกพร่องนั้นท่านพึงสังวรอย่างยิ่ง ให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๑๓] เมื่อพญาหงส์ ตัวประเสริฐ ผู้มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ ปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ นายพรานก็ได้ปรากฏต่อหน้า ประดุจพญามัจจุราชปรากฏแก่คนไข้ [๑๔] นกทั้ง ๒ ผู้เกื้อกูลกันและกันมาสิ้นกาลนานเหล่านั้น เห็นศัตรูแล้วก็จับนิ่งเฉยอยู่ ไม่เคลื่อนไหวไปจากที่จับ [๑๕] ส่วนนายพรานศัตรูของนกได้เห็นเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะ กำลังบินขึ้นไปจากที่นั้นๆ จึงได้รีบก้าวเท้าเข้าไปหาพญาหงส์ทั้ง ๒ โดยเร็ว [๑๖] ก็นายพรานนั้นครั้นรีบก้าวเท้าเข้าไปใกล้พญาหงส์ทั้ง ๒ ก้าวเท้าไปก็คิดไปอยู่ว่า ติดหรือไม่ติด [๑๗] เห็นหงส์ติดบ่วงจับอยู่เพียงตัวเดียว อีกตัวหนึ่งไม่ติด จับอยู่ใกล้ๆ แต่เพ่งมองตัวที่เป็นทุกข์ซึ่งติดบ่วง [๑๘] จากนั้น พรานนั้นก็เกิดความสงสัย จึงได้ถามหงส์ทั้ง ๒ ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่นก มีร่างกายเจริญเติบใหญ่ที่จับอยู่ว่า [๑๙] หงส์ตัวที่ติดบ่วงใหญ่ไม่กำหนดทิศทางที่จะบินหนีไป พ่อปักษี แต่เจ้าไม่ติดบ่วง ยังมีกำลังอยู่ ทำไมจึงไม่บินหนีไป [๒๐] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวที่ติดบ่วงอยู่ใกล้ๆ นกทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

(หงส์สุมุขะตอบว่า) [๒๑] นี่ท่านผู้เป็นศัตรูของนก พญาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า และเป็นเพื่อนเสมอด้วยชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักไม่ละทิ้งพระองค์ไป จนกว่าวาระแห่งความตายจะมาถึง (นายพรานกล่าวว่า) [๒๒] ก็ไฉนพญาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้แล้ว ความจริงการรู้ถึงอันตรายเป็นเหตุของคนผู้เป็นใหญ่ เพราะเหตุนั้นผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นควรจะรู้เท่าทันอันตราย (หงส์สุมุขะตอบว่า) [๒๓] ในกาลใดความเสื่อมย่อมมีเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต ในกาลนั้นแม้สัตว์จะเข้าใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้ [๒๔] ท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปติดบ่วงที่เขาอำพรางดักไว้ (หงส์สุมุขะเมื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า) [๒๕] ก็การอยู่ร่วมกับท่านนี้พึงมีความสุขเป็นกำไรหนอ อนึ่ง ขอท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไป ขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ด้วยเถิด (นายพรานจึงกล่าวว่า) [๒๖] ท่านไม่ได้ติดบ่วงของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะฆ่าท่าน ท่านจงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา และจงมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ตลอดกาลนานเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

(หงส์สุมุขะได้กล่าวว่า) [๒๗] ข้าพเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้นเลย นอกจากชีวิตของพญาหงส์นี้ หากท่านยินดีหงส์ตัวเดียว ขอท่านจงปล่อยพญาหงส์นั้น และจงกินข้าพเจ้าแทนเถิด [๒๘] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ มีทรวดทรงสัณฐานและวัยเสมอกัน ท่านจะไม่มีรายได้ลดค่าลงเลย ขอท่านจงพอใจด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างนี้ [๒๙] เชิญเถิดเชิญท่านไตร่ตรองเรื่องนั้นดูให้ดี บรรดาข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอท่านจงมีความพอใจ ท่านจงใช้บ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน จงปล่อยพญานกไปในภายหลัง [๓๐] อนึ่ง เมื่อท่านกระทำตามคำขอร้อง รายได้ของท่านก็จะมีเท่าเดิมด้วย และท่านจะพึงมีไมตรีกับเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะไปตลอดชีวิต (นายพรานเมื่อจะยกพญาหงส์โพธิสัตว์ให้เป็นรางวัลแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า) [๓๑] ขอมิตรอำมาตย์ข้าทาสบริวารบุตรภรรยา และพวกพ้องเผ่าพันธุ์ทั้งหลายหมู่ใหญ่ จงเห็นพญาหงส์ผู้พ้นไปแล้วจากที่นี้เพราะท่านเถิด [๓๒] ก็บรรดามิตรทั้งหลายเป็นอันมาก มิตรทั้งหลายเช่นกับท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิต ของพญาหงส์ธตรัฏฐะเหล่านั้นไม่มีอยู่ในโลกนี้ [๓๓] ข้าพเจ้ายอมปล่อยสหายของท่าน ขอพญาหงส์จงบินตามท่านไป ท่านทั้ง ๒ จงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางแห่งญาติเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๓๔] หงส์สุมุขะผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนายนั้น มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วงแล้ว เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า [๓๕] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด (พญาหงส์สุมุขะกล่าวกับนายพรานว่า) [๓๖] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย [๓๗] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด ภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า [๓๘] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี [๓๙] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๐] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะนั้นแล้ว ได้จัดแจงกิจการงานให้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว รีบไปยังภายในเมือง ได้แสดงหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่ ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัดแด่พระราชาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๔๑] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์ตัวนี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี (พระราชารับสั่งถามว่า) [๔๒] ก็วิหคเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าได้อย่างไร เจ้าเป็นพรานจับวิหคที่เป็นใหญ่กว่าวิหคทั้งหลาย มาในที่นี้ได้อย่างไร (นายพรานกราบทูลว่า) [๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน บ่วงเหล่านี้ข้าพระองค์ได้วางไว้ที่เปือกตมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า เป็นสถานที่ประชุมแห่งนก เป็นสถานที่ปลิดชีวิตนกทั้งหลาย [๔๔] พญาหงส์เข้ามาใกล้บ่วงเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้ ส่วนนกตัวนี้ไม่ได้ติดบ่วง แต่จับอยู่ใกล้ๆ พญาหงส์นั้น ได้พูดกับข้าพระองค์ [๔๕] วิหคผู้ประกอบแล้วในธรรม เมื่อบากบั่นในประโยชน์ของผู้เป็นนาย ได้ประกาศภาวะอันอุดมซึ่งคนผู้มิใช่อริยะกระทำได้ยาก [๔๖] วิหคนี้ยังควรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่กลับสละชีวิตของตนเอง จับอยู่อย่างไม่ทอดถอนท้อแท้ใจ วิงวอนร้องขอชีวิตของผู้เป็นนาย [๔๗] ข้าพระองค์สดับคำของวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยพญาหงส์จากบ่วง และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๔๘] หงส์สุมุขะนั้นมีความเคารพต่อผู้เป็นนาย มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงได้กล่าวว่า [๔๙] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด [๕๐] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย [๕๑] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด ไปภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า [๕๒] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี [๕๓] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย [๕๔] หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้ข้าพระองค์นำมา ตามคำของหงส์สุมุขะนั้น ด้วยประการฉะนี้ ความจริง ข้าพระองค์ได้อนุญาต ให้หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้อยู่ที่สระนั้นตามเดิม [๕๕] ก็สุมุขพญาปักษีทิชาชาติตัวนี้นั้น เป็นหงส์ประกอบอยู่ในธรรมอย่างยิ่ง แม้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้ ก็ยังทำนายพรานเช่นข้าพระองค์ให้เกิดความอ่อนโยนได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์ ก็ในบ้านพรานนกทุกแห่งข้าพระองค์มิได้เห็น เครื่องบรรณาการอย่างอื่นเหมือนเช่นนี้สำหรับพระองค์เลย ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเครื่องบรรณาการนั้นเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๕๗] พญาหงส์ครั้นเห็นพระราชาประทับนั่ง บนตั่งทองคำอันสวยงาม เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า [๕๘] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๕๙] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม (พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า) [๖๐] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๖๑] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า) [๖๒] พระราชเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์ ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๖๓] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่ [๖๔] ท่านผู้เจริญตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้ร้ายกาจนั้น ถึงความลำบากมากเพราะอันตรายเบื้องต้นนั้นหรือ [๖๕] นายพรานได้วิ่งเข้าไปใช้ท่อนไม้โบยตีท่านหรือ เพราะคนต่ำทรามเหล่านี้จะมีปกติเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น (พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๖๖] ขอเดชะมหาราช ในคราวมีอันตรายอย่างนี้ ความปลอดภัยได้มีแล้ว ด้วยว่านายพรานผู้นี้ หาได้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง ในข้าพระองค์ทั้ง ๒ เหมือนศัตรูไม่ [๖๗] นายพรานค่อยๆ ก้าวเข้าไปหาและได้ปราศรัยขึ้นก่อน ในกาลนั้นสุมุขบัณฑิตผู้นี้แหละได้กล่าวตอบ [๖๘] นายพรานสดับคำของสุมุขวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยข้าพระองค์จากบ่วง และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๖๙] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้ สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้ ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา (พระราชาตรัสว่า) [๗๐] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก ตามที่ตนปรารถนา (พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๗๑] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์ ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า [๗๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด [๗๓] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์ แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้ สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย (พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า) [๗๔] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้ จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

(หงส์สุมุขะกราบทูลว่า) [๗๕] ข้าแต่มหาราช นัยว่า ข้าพระองค์เหมือนกับพญาช้างเข้าไประหว่างซอกหิน ไม่อาจจะพูดสอดแทรกขึ้นได้ นั้นไม่ใช่วินัยของข้าพระองค์ [๗๖] พญาหงส์นั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย ส่วนพระองค์ก็เป็นผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นยอดแห่งมนุษย์ พระองค์ทั้ง ๒ เป็นผู้อันข้าพระองค์พึงบูชาด้วยเหตุเป็นอันมาก [๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์ เมื่อพระองค์ทั้ง ๒ กำลังตรัสปราศรัยกันอยู่ เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนรับใช้ จึงไม่ควรที่จะพูดสอดแทรกขึ้นในระหว่าง (พระราชาสดับคำของหงส์สุมุขะแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า) [๗๘] ได้ยินว่า โดยธรรมดานายพรานกล่าวว่า นกนี้เป็นบัณฑิต ความจริง นัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้มิได้อบรมตนเลย [๗๙] บุคคลผู้มีปกติเลิศอย่างนี้ เป็นสัตว์อุดมอย่างนี้ เท่าที่เราเห็นมามีอยู่ แต่เราหาเห็นสัตว์อื่นเช่นนี้ไม่ [๘๐] เรายินดีต่อท่านทั้ง ๒ โดยปกติ และยินดีด้วยการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะของท่านทั้งสอง อนึ่ง ความพอใจของเราอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการที่เราพึงเห็นท่านทั้ง ๒ เป็นเวลานาน (พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญพระราชา จึงกราบทูลว่า) [๘๑] กิจอันใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตรผู้สูงศักดิ์ กิจอันนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้วในข้าพระองค์ทั้ง ๒ เพราะความภักดีต่อพระองค์ที่มีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์จึงมีความภักดีต่อพระองค์โดยไม่ต้องสงสัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)

[๘๒] ส่วนทางโน้น ความทุกข์คงเกิดขึ้นแล้ว ในหมู่หงส์จำนวนมากเป็นแน่ เพราะมิได้พบเห็นข้าพระองค์ทั้ง ๒ ในระหว่างแห่งหมู่ญาติเป็นอันมาก [๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก พวกข้าพระองค์ได้รับอนุมัติจากพระองค์แล้ว จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วไปพบเห็นหมู่ญาติ เพื่อกำจัดความโศกของหงส์เหล่านั้น [๘๔] ข้าพระองค์ได้ประสบปีติอันไพบูลย์ เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้เจริญแน่แท้ อนึ่ง ความคุ้นกับหมู่ญาติแม้นี้ก็พึงมีประโยชน์ใหญ่หลวง (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๘๕] พญาหงส์ธตรัฏฐะครั้นกราบทูลคำนี้กับนราธิบดีแล้ว อาศัยการบินเร็วอย่างสุดกำลัง ได้เข้าไปหาหมู่ญาติแล้ว [๘๖] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย ต่างพากันส่งเสียงว่าเกกๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว [๘๗] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว (พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า) [๘๘] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
จูฬหังสชาดกที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๘๕-๙๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=8              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=1158&Z=1348                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=163              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=163&items=36              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4264              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=163&items=36              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4264                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja533/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :