ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒. วักกลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวักกลิเถระ
(พระวักกลิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๘] พระผู้ทรงเป็นผู้นำมีพระนามไม่ต่ำต้อย มีพระคุณนับไม่ถ้วน พระนามว่าปทุมุตตระ ตามพระโคตร เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒๙] มีพระพักตร์เหมือนดอกปทุม มีพระฉวีวรรณงดงาม ไม่มีมลทินเหมือนดอกปทุม ไม่เปื้อนด้วยโลกธรรม เหมือนดอกปทุมไม่เปื้อนด้วยน้ำ [๓๐] ทรงเป็นนักปราชญ์ มีพระเนตรเหมือนกลีบบัว และน่ารักเหมือนดอกปทุม กลิ่นพระโอษฐ์หอมคล้ายกลิ่นดอกปทุม เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่าปทุมุตตระ [๓๑] พระองค์ทรงเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ไม่ทรงถือพระองค์เปรียบเป็นนัยน์ตาให้คนบอด๑- @เชิงอรรถ : @ เป็นนัยน์ตาให้คนบอด หมายความว่า ทรงประทานปัญญาจักษุให้แก่สรรพสัตว์ด้วยพระธรรมเทศนา @(ขุ.อป.อ. ๒/๓๑/๒๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๒. วักกลิเถราปทาน

มีพระอิริยาบถสงบ เป็นที่สั่งสมคุณ เป็นดุจสาครที่รองรับพระกรุณาคุณและพระปัญญาคุณ [๓๒] ถึงในครั้งไหนๆ พระมหาวีระพระองค์นั้น ก็เป็นผู้ที่พรหม อสูร และเทวดาบูชา เป็นผู้สูงสุดในหมู่ชน ในท่ามกลางหมู่ชนที่คับคั่งไปด้วยเทวดาและมนุษย์ [๓๓] เมื่อจะให้บริษัททั้งปวงยินดีด้วยพระพักตร์มีกลิ่นหอม(เบิกบาน) และด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง จึงได้ชมสาวกของพระองค์ว่า [๓๔] ภิกษุอื่นผู้มุ่งมั่นด้วยศรัทธา มีปัญญาดี มีความอาลัยในการดูเราเช่นกับวักกลิภิกษุนี้ไม่มีเลย [๓๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพราหมณ์ในกรุงหงสวดี ได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น [๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระตถาคต ผู้ไม่มีมลทินพระองค์นั้น พร้อมด้วยพระสาวก ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วันแล้วให้ครองผ้าชุดใหม่ [๓๗] ข้าพเจ้าหมอบลงแล้วจมลง(ดื่มด่ำ)ในสาคร คือพระอนันตคุณของพระตถาคตพระองค์นั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติ ได้กราบทูลคำนี้ว่า [๓๘] ข้าแต่พระมหามุนี ผู้เป็นพระฤาษี ขอข้าพระองค์จงเป็นเช่นกับภิกษุผู้เป็นสัทธาธิมุต (มุ่งมั่นด้วยศรัทธา) ที่พระองค์ตรัสชมเชยว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีศรัทธา [๓๙] เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลดังนี้แล้ว พระมหามุนีผู้มีความเพียรมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๒. วักกลิเถราปทาน

มีทรรศนะที่หาเครื่องกั้นมิได้ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ในชุมนุมชนว่า [๔๐] ‘จงดูมาณพนี้ ผู้นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลือง มีสังวาลทองคำคล้องกาย ดึงดูดดวงตาและดวงใจของหมู่ชนไว้ได้ [๔๑] ในอนาคตกาล มาณพนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สัทธาธิมุต จักได้เป็นสาวกของพระโคดม ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๔๒] เขาเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม จักเป็นผู้เว้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง เป็นที่รวมแห่งโภคะทุกอย่าง มีความสุขเวียนว่ายตายเกิดไป [๔๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๔๔] มาณพผู้นี้จักมีนามว่าวักกลิ ตามโคตร เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นพระสาวกของพระศาสดา’ [๔๕] ด้วยผลกรรมที่วิเศษนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๖] ข้าพเจ้ามีความสุขในที่ทุกสถาน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ได้เกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๒. วักกลิเถราปทาน

[๔๗] ข้าพเจ้าผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อนซึ่งยังนอนหงายอยู่ [๔๘] มารดาถูกภัยคือปีศาจคุกคาม มีใจหวาดกลัวจึงให้นอนลง แทบพระยุคลบาทของพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระโลกนาถ ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของเขาด้วยเถิด’ [๔๙] ครั้งนั้น พระมุนีพระองค์นั้นผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ของหมู่สัตว์ผู้หวาดกลัว ได้ทรงรับข้าพเจ้า ด้วยฝ่าพระหัตถ์ที่บริสุทธิ์อ่อนนุ่มมีตาข่ายกำหนดด้วยจักร [๕๐] จำเดิมแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องเฝ้ารักษา จึงพ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่อย่างสุขสำราญ [๕๑] ข้าพเจ้าห่างจากพระสุคตเพียงครู่เดียว ก็กระวนกระวาย พออายุได้ ๗ ขวบ ก็บวชเป็นบรรพชิต [๕๒] ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่อิ่มอยู่ เพราะเห็นพระรูปกายที่ประเสริฐ ซึ่งเกิดจากพระบารมีทุกอย่าง มีดวงตาสีดำสนิท มีผิวพรรณสัณฐานงดงาม [๕๓] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงทราบว่า ข้าพเจ้ายินดีในพระรูป จึงได้ตรัสสอนข้าพเจ้าว่า ‘อย่าเลย วักกลิ ทำไม เธอจึงยินดีในรูปที่ชนพาลชอบเล่า [๕๔] ผู้ใดเห็นพระสัทธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเห็นเรา (ส่วน)ผู้ไม่เห็นพระสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๒. วักกลิเถราปทาน

[๕๕] ร่างกายมีโทษไม่สิ้นสุดเหมือนต้นไม้มีพิษ เป็นที่อาศัยของโรคทุกชนิด ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์ [๕๖] เพราะฉะนั้น เธอจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จะถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่ายเถิด’ [๕๗] ข้าพเจ้าถูกพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้แสวงหาประโยชน์พระองค์นั้น ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ได้ขึ้นไปยังภูเขาคิชฌกูฏ เพ่งดูอยู่ที่ซอกภูเขา [๕๘] พระชินเจ้าผู้มหามุนีประทับยืนอยู่ที่เชิงเขา เมื่อจะทรงปลอบโยนข้าพเจ้า ได้ตรัสเรียกว่า ‘วักกลิ’ ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสนั้นจึงเบิกบานใจ [๕๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าวิ่งลงไปที่เงื้อมเขาลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ แต่ก็ถึงแผ่นดินได้โดยสะดวกทีเดียวด้วยพุทธานุภาพ [๖๐] พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายอีก ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว จึงได้บรรลุอรหัตตผล [๖๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระปรีชามาก ทรงบรรลุจรณธรรม๑- ทรงประกาศข้าพเจ้าว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุต ในท่ามกลางบุรุษผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง @เชิงอรรถ : @ จรณธรรม หมายถึงจรณธรรม ๑๕ มีศีลเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๖๑/๒๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

[๖๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๖๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๖๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๖๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระวักกลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วักกลิเถราปทานที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๔๑-๒๔๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=122              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=2767&Z=2841                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=122              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=122&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5642              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=122&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5642                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap534/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :