ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

๖. พาหิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพาหิยเถระ
(พระพาหิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๗๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ(สัตว์โลก) มีพระรัศมีมาก เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๗๙] ข้าแต่พระมุนี เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสสรรเสริญคุณของภิกษุผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วมีจิตเบิกบาน จึงได้ทำสักการะพระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๘๐] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ถวายทานตลอด ๗ วัน แด่พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระสาวก ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้นในกาลนั้น [๑๘๑] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ข้าพเจ้าว่า ‘จงดูพราหมณ์ที่หมอบอยู่แทบเท้าของเรานี้ ผู้มีโสมนัสเอิบอิ่มสมบูรณ์ เห็นประจักษ์ [๑๘๒] มีร่างกายที่บุญกรรมสร้างสรรค์ให้คล้ายทองคำ ผุดผ่อง ผิวบาง ริมฝีปากแดงเหมือนผลตำลึงสุก มีฟันขาวคมเรียบเสมอ [๑๘๓] มีกำลังคือคุณมาก มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสน้ำคือคุณ มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสด้วยปีติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

[๑๘๔] เขาปรารถนาตำแหน่งของภิกษุผู้ตรัสรู้เร็วพลัน ในอนาคต จักมีพระมหาวีระพระนามว่าโคดม [๑๘๕] เขาจักมีนามว่าพาหิยะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๑๘๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ายินดีแล้ว หมั่นกระทำสักการะแด่พระมหามุนีจนตลอดชีวิต จุติแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ดุจไปยังที่อยู่ของตน [๑๘๗] ข้าพเจ้าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ย่อมเป็นผู้มีความสุข เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดจึงได้เสวยสมบัติ [๑๘๘] เมื่อสิ้นศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้า ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปยังภูเขาศิลาล้วน บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินสีห์ [๑๘๙] เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญา ทำตามคำสอนของพระชินสีห์ ข้าพเจ้า ๕ คนด้วยกัน จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้ไปเกิดยังเทวโลก [๑๙๐] ข้าพเจ้าชื่อพาหิยะ เกิดในภารุกัจฉนคร ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ภายหลังได้แล่นเรือไปในสาคร ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์เพียงเล็กน้อย [๑๙๑] แต่นั้น เรือแล่นไปได้ ๒-๓ วัน ก็อับปางลง ครั้งนั้น ข้าพเจ้าตกลงไปในสาคร ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งมังกรที่ร้ายกาจ น่าสะพรึงกลัว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

[๑๙๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าพยายามว่ายน้ำข้ามทะเลใหญ่ ไปถึงท่าประเสริฐชื่อสุปปารกะ ข้าพเจ้ามีคนรู้จักน้อย [๑๙๓] นุ่งผ้าเปลือกไม้เข้าไปยังบ้านเพื่อก้อนข้าว ครั้งนั้น หมู่ชนพากันยินดีกล่าวว่า ‘ผู้นี้เป็นพระอรหันต์มาที่นี้แล้ว [๑๙๔] พวกเราสักการะพระอรหันต์นี้ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน และเภสัชแล้ว จักถึงความสุข’ [๑๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ปัจจัย เป็นผู้ที่พวกเขาสักการบูชาแล้ว จึงเกิดความดำริโดยไม่แยบคายขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์ [๑๙๖] ลำดับนั้น บุพเทวดารู้วารจิตของข้าพเจ้า จึงตักเตือนว่า ‘ท่านไม่รู้ทางที่เป็นอุบาย๑- จะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไรเล่า’ [๑๙๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกเทวดาตักเตือนแล้ว ก็เกิดความสลดใจ จึงสอบถามเทวดานั้นว่า ‘พระอรหันต์ผู้ประเสริฐกว่านรชน ในโลกเหล่านี้คือใคร ‘อยู่ที่ไหน’ [๑๙๘] เทวดานั้นตอบว่า ‘พระชินเจ้าผู้มีพระปัญญามาก ผู้ประเสริฐ มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์เป็นโอรสของเจ้าศากยะ เป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาสวะ ทรงแสดงธรรมเพื่อบรรลุอรหัต อยู่ในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าโกศลในกรุงสาวัตถี’ [๑๙๙] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของเทวดานั้นแล้ว เอิบอิ่มใจเหมือนคนกำพร้าได้ขุมทรัพย์ @เชิงอรรถ : @ รู้ทางที่เป็นอุบาย คือรู้ทางที่จะให้บรรลุถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๑๙๖/๒๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

ยิ้มแย้ม เบิกบานใจที่จะได้พบพระอรหันต์ผู้ประเสริฐ น่าชม น่าพึงใจ ผู้มีพระญาณเป็นโคจรไม่มีที่สิ้นสุด [๒๐๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าออกจากที่นั้นไปด้วยตั้งใจว่า ‘เราเมื่อชนะกิเลสได้ก็จะได้เห็นพระพักตร์ ที่ปราศจากมลทินของพระศาสดาในกาลทุกเมื่อ’ ไปถึงแคว้นที่รื่นรมย์นั้นแล้วได้ถามพวกพราหมณ์ว่า ‘พระศาสดาผู้ทำชาวโลกให้เพลิดเพลินประทับอยู่ ณ ที่ไหน’ [๒๐๑] ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายตอบว่า ‘พระศาสดาผู้ที่มนุษย์และเทวดากราบไหว้ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมือง ท่านผู้ขวนขวายจะเข้าเฝ้าพระมุนี จงรีบกลับไปเฝ้ากราบไหว้พระองค์ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ’ [๒๐๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้ไปยังกรุงสาวัตถี ที่อุดมสมบูรณ์โดยด่วน ได้เห็นพระองค์ผู้ไม่มักมาก และไม่ติดในรสอาหาร กำลังเสด็จบิณฑบาต [๒๐๓] ทรงบาตร มีพระเนตรสำรวม ทรงยังอมตธรรมให้โชติช่วงอยู่ในนครนี้ ประหนึ่งเป็นที่อยู่ของพระสิริ มีพระพักตร์โชติช่วงดังรัศมีดวงอาทิตย์ [๒๐๔] ครั้นพบพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้หมอบลงแล้ว กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระโคดม ขอพระองค์โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ ผู้วิบัติในทางที่น่ารังเกียจด้วยเถิด’ [๒๐๕] พระมุนีผู้ประเสริฐได้ตรัสว่า ‘เรากำลังเที่ยวบิณฑบาต เพื่อประโยชน์แก่การช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น เวลานี้ไม่ใช่เวลาแสดงธรรมแก่ท่าน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

[๒๐๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีความปรารถนาแรงกล้าในธรรม จึงได้ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าบ่อยๆ พระองค์แสดงธรรมอันเป็นสุญญตบทที่ลึกซึ้งแก่ข้าพเจ้า [๒๐๗] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ก็บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ โอ! ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว เป็นผู้มีอายุสิ้นแล้ว [๒๐๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๐๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล [๒๑๑] พระพาหิยทารุจิริยเถระ ถูกแม่โคตัวที่ถูกผีสิงไม่เห็นตัวขวิดให้ล้มลงที่กองขยะ ได้กล่าวพยากรณ์ด้วยประการดังนี้ [๒๑๒] พระเถระผู้มีปัญญามาก เป็นนักปราชญ์ ครั้นกล่าวบุพจริตของตนแล้ว ปรินิพพานในกรุงสาวัตถี ที่อุดมสมบูรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๖. พาหิยเถราปทาน

[๒๑๓] พระฤๅษีผู้ประเสริฐ เสด็จออกจากนคร ทอดพระเนตรเห็นพระพาหิยทารุจิริยะผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ เป็นนักปราชญ์ ซึ่งมีความเร่าร้อนอันลอยได้แล้ว [๒๑๔] ล้มลงที่ภูมิภาค ดุจคันเสาธงใหญ่อันลมพัดให้ล้มลง หมดอายุ กิเลสเหือดแห้ง ทำกิจในศาสนาของพระชินเจ้า [๒๑๕] ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกสาวกทั้งหลาย ผู้ยินดีในศาสนามาสั่งว่า เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่าง ของเพื่อนพรหมจารีแล้วนำไปเผาเสียเถิด [๒๑๖] จงสร้างสถูปบูชา เขาเป็นคนมีปรีชามากนิพพานแล้ว สาวกผู้ทำตามคำของเรา เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ตรัสรู้ได้เร็วพลัน [๒๑๗] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียวที่คนฟังแล้วสงบระงับได้ ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา๑- [๒๑๘] ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ตั้งอยู่ในนิพพานใด ในพระนิพพานนั้น ดาวฤกษ์ที่สุกสกาวก็ส่องแสงไปไม่ถึง ดวงอาทิตย์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง [๒๑๙] ดวงจันทร์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี อนึ่ง เมื่อใด พราหมณ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเป็นผู้สงบ รู้จริงด้วยตนเองแล้ว [๒๒๐] เมื่อนั้น เขาย่อมพ้นจากรูปภพ อรูปภพ สุข และทุกข์๒- พระโลกนาถผู้เป็นมุนี เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง ๓ ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ได้ทราบว่า ท่านพระพาหิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พาหิยเถราปทานที่ ๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.ธ. (แปล) ๒๕/๑๐๑/๖๑ @ ดูเทียบ ขุ.อุ. (แปล) ๒๕/๑๐/๑๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๖๒-๒๖๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=126              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=3065&Z=3155                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=126              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=126&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6132              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=126&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6132                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap538/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :