ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๘๔] พระอุบลวรรณาภิกษุณีถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ กราบไหว้พระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า [๓๘๕] “ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันข้ามพ้นชาติสงสารได้แล้ว บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว ทุกข์ทั้งปวงหม่อมฉันให้สิ้นไปแล้วจึงขอบอกว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๓๘๖] “ขอประชุมชนผู้เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า และชนที่ข้าพเจ้าได้ทำความผิดให้เท่าที่มีอยู่ จงยกโทษให้ข้าพเจ้า เฉพาะพระพักตร์ของพระชินเจ้า [๓๘๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันขอกราบทูลว่า เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร ถ้าหม่อมฉันมีความผิดพลาด ขอพระองค์จงยกโทษให้หม่อมฉันด้วยเถิด” [๓๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบลวรรณา ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา เธอจงแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัท ๔ เท่าที่มีอยู่ ในวันนี้เถิด” [๓๘๙] พระอุบลวรรณาเถรีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระปัญญา ผู้ทรงพระรัศมีรุ่งเรือง หม่อมฉันเป็นธิดาของพระองค์ กรรมที่ทำได้ยาก ทำได้แสนลำบากจำนวนมาก หม่อมฉันได้ทำแล้ว [๓๙๐] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ๑- หม่อมฉันมีผิวพรรณเหมือนสีดอกอุบล จึงมีนามว่าอุบลวรรณา เป็นธิดาของพระองค์ ขอกราบพระยุคลบาท @เชิงอรรถ : @ ผู้มีพระจักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) มังสจักษุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรงาม มีอำนาจ @เห็นแจ่มใสไว และเห็นได้ไกล) (๒) ทิพยจักษุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นต่างๆ กัน @ด้วยอำนาจกรรม) (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุ @ให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นต้น) (๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทริย- @ปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณเป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอน @แนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ (ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบ @ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔-๔๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๓๙๑] พระราหุลเถระและหม่อมฉัน เกิดร่วมภพเดียวกันหลายร้อยชาติ เป็นผู้มีจิตสมานฉันท์กัน [๓๙๒] บังเกิดพร้อมกันร่วมชาติเดียวกัน เมื่อถึงภพสุดท้าย แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่าเกิดร่วมภพเดียวกัน [๓๙๓] พระเถระนามว่าราหุลเป็นพระโอรส หม่อมฉันผู้มีนามว่าอุบลวรรณาเป็นธิดา ข้าแต่พระวีระ ขอเชิญทอดพระเนตรฤทธิ์ของหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจักแสดงพลังถวายพระศาสดา” [๓๙๔] พระอุบลวรรณาเถรียกมหาสมุทรทั้ง ๔ วางไว้ที่ฝ่ามือเหมือนเด็กเล่นน้ำมันที่อยู่บนฝ่ามือ [๓๙๕] ยกแผ่นดินแล้ว วางไว้ที่ฝ่ามือ เหมือนเด็กหนุ่มดึงไส้หญ้าป้อง [๓๙๖] ใช้ฝ่ามือปิดครอบจักรวาลแล้ว บันดาลหยาดฝนสีต่างๆ ให้ตกลงที่ศีรษะบ่อยๆ [๓๙๗] ทำพื้นพสุธาให้เป็นครก ทำก้อนกรวดให้เป็นข้าวเปลือก ทำภูเขาสิเนรุให้เป็นสาก แล้วตำอยู่เหมือนนางกุมาริกาซ้อมข้าว [๓๙๘] หม่อมฉันมีนามว่าอุบลวรรณา เป็นธิดาของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐที่สุด มีความชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ [๓๙๙] หม่อมฉันผู้มีจักษุแสดงฤทธิ์ต่างๆ ถวายพระองค์ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประกาศนามและโคตรแล้วขอกราบพระยุคลบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๐๐] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ [๔๐๑] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๔๐๒] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ไพบูลย์ตามสภาวะแห่งพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๔๐๓] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน อันหม่อมฉันผู้เสร็จสงครามแสดงแล้ว(กระทำแล้ว) แด่พระชินเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายในปางก่อน เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๐๔] ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์ทรงระลึกถึงกุศลกรรมของหม่อมฉัน ที่หม่อมฉันกระทำแล้วในปางก่อน ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้แล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๐๕] ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์ทรงเว้นอนาจาร ในสถานที่ไม่ควร อบรมพระญาณให้แก่กล้าอยู่ หม่อมฉันได้สละชีวิตที่สูงสุดเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๐๖] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้ถวายชีวิต ของหม่อมฉันหลายหมื่นโกฏิกัป แม้ตัวหม่อมฉัน หม่อมฉันก็ได้สละแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๐๗] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดมีความพิศวงยิ่งนัก จึงได้พากันประนมมือเหนือศีรษะ พูดว่า ‘ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่างไร พระแม่เจ้าจึงมีความบากบั่น มีฤทธิ์ หาสิ่งใดเปรียบปานมิได้’ [๔๐๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนางนาคกัญญามีนามว่าวิมลา หมู่นาคยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกนางนาคกัญญา [๔๐๙] พญานาคชื่อมโหรคะ เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงมีเดชานุภาพมาก พร้อมทั้งพระสาวก [๔๑๐] ตกแต่งมณฑปแก้ว บัลลังก์แก้ว โปรยทรายแก้ว เครื่องอุปโภคแก้ว [๔๑๑] และตกแต่งหนทางประดับด้วยธงแก้ว พญานาคนั้นบรรเลงดนตรี ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๔๑๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงแผ่ขยายบริษัท ๔ ประทับนั่งบนอาสนะ อันประเสริฐในภพของพญานาคชื่อมโหรคะ [๔๑๓] พญานาคได้ถวายข้าวน้ำ ขาทนียะและโภชนียาหารอย่างดีๆ มีราคามาก แด่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่ [๔๑๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครั้นเสวยเสร็จแล้วทรงล้างบาตร ได้ทรงทำการอนุโมทนาอันสมควร โดยอุบายอันแยบคายว่า ‘นางนาคกัญญาจงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๑๕] นางนาคกัญญา เห็นพระสัพพัญญู ผู้เบิกบาน มีพระยศมาก จึงทำจิตให้เลื่อมใส ทำใจให้มั่นคงต่อพระศาสดา [๔๑๖] ครั้งนั้น พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงทราบวาระจิตของหม่อมฉันแล้ว ทรงแสดงภิกษุณีรูปหนึ่งด้วยฤทธิ์ [๔๑๗] ภิกษุณีรูปนั้นมีความแกล้วกล้าแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง หม่อมฉันเกิดปีติปราโมทย์ได้กราบทูลพระศาสดาว่า [๔๑๘] ‘หม่อมฉันได้เห็นฤทธิ์ทั้งหลายที่ภิกษุณีรูปนี้แสดงแล้ว ข้าแต่พระธีรเจ้า อย่างไร ภิกษุณีรูปนั้นจึงเป็นผู้แกล้วกล้าดีในฤทธิ์’ [๔๑๙] (พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสตอบว่า) ‘ภิกษุณีรูปนั้นเป็นธิดาที่เกิดจากโอษฐ์ของเรา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา มีฤทธิ์มาก มีความแกล้วกล้าดีในฤทธิ์’ [๔๒๐] หม่อมฉันได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว มีความยินดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘แม้หม่อมฉันก็ขอเป็นผู้มีความแกล้วกล้าในฤทธิ์เช่นนั้น [๔๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก หม่อมฉันเบิกบานโสมนัส มีใจสูงสุดถึงที่แล้ว ขอให้ได้เป็นเช่นภิกษุณีรูปนี้ในอนาคตกาลเถิด’ [๔๒๒] หม่อมฉันตกแต่งบัลลังก์แก้วมณี และมณฑปที่ผุดผ่องแล้ว ทูลนิมนต์พระผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ ให้เสวยและฉันข้าวน้ำจนอิ่มหนำ [๔๒๓] แล้วได้ใช้ดอกอุบลที่มีชื่อว่าอรุณ ซึ่งเป็นดอกไม้อันประเสริฐของพวกนาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

บูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก โดยตั้งความปรารถนาไว้ว่า ‘ขอให้ผิวพรรณของข้าพเจ้าจงเป็นเช่นนี้เถิด’ [๔๒๔] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายนาคแล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๒๕] จุติจากภพนั้นแล้วก็มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้ถวายบิณฑบาตที่ใช้ดอกอุบลปิดแด่พระสยัมภู [๔๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระเนตรงาม มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๔๒๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ได้ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ [๔๒๘] ถวายมหาทานและบูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ด้วยดอกอุบลเป็นอันมากแล้ว ได้ปรารถนาให้มีผิวพรรณงามเหมือนดอกอุบลเหล่านั้น [๔๒๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๔๓๐] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๓๑] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๒ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่า สมณีคุตตา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว พอใจการบรรพชา [๔๓๒] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี [๔๓๓] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า [๔๓๔] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา [๔๓๕] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้น ได้กลับชาติมาเกิด) คือ หม่อมฉัน ๑ พระเขมาเถรีผู้มีปัญญา ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา [๔๓๖] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๓๗] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว มาเกิดในตระกูลใหญ่ในหมู่มนุษย์ ได้ถวายผ้าอย่างดีมีสีเหลือง เนื้อเกลี้ยงแก่พระอรหันต์องค์หนึ่ง [๔๓๘] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลในอริฏฐบุรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อติริฏิวัจฉะ มีชื่อว่าอุมมาทันตี มีสิริโฉมงดงามเป็นที่จูงใจให้หลงใหล [๔๓๙] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในตระกูลหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์มากนักในชนบท รักษาข้าวสาลีในครั้งนั้น [๔๔๐] หม่อมฉันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ได้ถวายข้าวตอก ๕๐๐ ดอก ห่อด้วยดอกปทุม ปรารถนามีบุตร ๕๐๐ คน [๔๔๑] เมื่อหม่อมฉันปรารถนาบุตรจำนวนเท่านั้นแล้ว ได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระสยัมภู จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดภายในดอกบัวในป่า [๔๔๒] ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากาสี เป็นผู้ที่ประชาชนสักการบูชา ได้ให้กำเนิดพระราชบุตรครบ ๕๐๐ องค์ [๔๔๓] เมื่อพระราชบุตรเหล่านั้นทรงเจริญวัยแล้ว ทรงเล่นน้ำ ได้เห็นดอกบัวที่ร่วงโรยไป ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า [๔๔๔] หม่อมฉันนั้น เมื่อต้องพลัดพรากจากบุตรผู้ประเสริฐเหล่านั้น ก็มีความเศร้าโศก จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในหมู่บ้านข้างภูเขาอิสิคิลิ [๔๔๕] เมื่อหม่อมฉันทราบว่า บุตรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ถือข้าวยาคูไปเพื่อบุตรและเพื่อตนเอง ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ [๔๔๖] เข้าไปสู่บ้านเพื่อภิกษาหาร ก็ระลึกถึงบุตรขึ้นมา ธารน้ำนมของหม่อมฉันก็หลั่งไหลออกเพราะความรักบุตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๔๗] หม่อมฉันมีความเลื่อมใส ได้ถวายข้าวยาคูด้วยมือของตน แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปเกิดในสวนนันทวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๔๘] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ได้เสวยสุขและทุกข์และได้สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๔๙] หม่อมฉันมีทุกข์ก็มาก มีสมบัติก็หลายชนิด ดังที่กราบทูลมานี้ เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงสาวัตถี [๔๕๐] ในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก ประกอบด้วยสุขสมบัติ มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง [๔๕๑] เป็นผู้ที่ประชุมชนสักการบูชา นับถือและยำเกรง ประกอบด้วยสิริรูป อันชนในตระกูลทั้งหลายสักการะอย่างยิ่ง [๔๕๒] หม่อมฉันเป็นหญิงที่น่าปรารถนายิ่งนัก ด้วยสิริคือรูปสมบัติและโภคสมบัติ บุตรเศรษฐีทั้งหลายและบริวารของตนจำนวนมากต่างปรารถนา [๔๕๓] หม่อมฉันละเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ ๔ [๔๕๔] หม่อมฉันเนรมิตรถเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ด้วยฤทธิ์ ขอกราบพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลกผู้มีพระสิริ [๔๕๕] (พญามารมากล่าวกับหม่อมฉันว่า) ‘ท่านเข้ามายังต้นไม้ชั้นเลิศที่มีดอกแย้มบานดีแล้ว ยืนอยู่เพียงผู้เดียวที่โคนต้นสาละ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

ไม่มีใครเป็นเพื่อน ท่านผู้โง่เขลา ท่านไม่กลัวพวกนักเลงดอกหรือ’ [๔๕๖] หม่อมฉันกล่าวว่า ‘ถึงพวกนักเลงตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ คนมาในที่นี้ พึงเป็นเหมือนกับท่านนี้ ก็ทำขนของเราให้เอนให้ไหวไม่ได้ พญามาร ท่านเพียงผู้เดียวจักทำอะไรเราได้ [๔๕๗] เรานี้จักหายตัวไปก็ได้ หรือว่าเข้าไปในท้องของท่านก็ได้ ท่านจักมองไม่เห็นเราผู้ยืนอยู่ที่ระหว่างคิ้วของท่าน [๔๕๘] เรามีความชำนาญในเรื่องจิต อิทธิบาทเราก็เจริญดีแล้ว พ้นจากสรรพกิเลสเครื่องผูกทั้งปวง พญามาร เรามิได้เกรงกลัวท่าน [๔๕๙] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว แม้ขันธ์ทั้งหลาย๑- ก็คล้ายกองไฟ ท่านกล่าวถึงความยินดีในกาม บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกาม [๔๖๐] ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวงเรากำจัดได้หมดแล้ว กองแห่งความมืด๒- เราก็ทำลายได้แล้ว มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านถูกเรากำจัดแล้ว’ [๔๖๑] พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลายว่า ‘อุบลวรรณาภิกษุณีเป็นผู้ประเสริฐสุด แห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์’ @เชิงอรรถ : @ ขันธ์ทั้งหลาย หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ @(ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๕/๒๙๙-๓๐๐) @ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๓/๑๒, ๔๓, ๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

[๔๖๒] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว [๔๖๓] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ [๔๖๔] ทายกทั้งหลายน้อมปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เข้ามาครั้งละหลายพันโดยรอบ [๔๖๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๔๖๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๔๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระอุบลวรรณาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลวัณณาเถริยาปทานที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๔๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๓๘-๔๔๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=170              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=5073&Z=5237                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=159              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=159&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=159&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap19/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :