ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธรรมทินนาเถรี
(พระธรรมทินนาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๙๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๙๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงหงสวดี เป็นผู้มีปัญญา สำรวมอยู่ในศีล รับจ้างทำงานของคนอื่น [๙๗] พระเถระนามว่าสุชาตะ อัครสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ออกจากวิหารไปบิณฑบาต [๙๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นคนหาบน้ำ ถือหม้อน้ำเดินไปอยู่ เห็นท่านแล้วเลื่อมใส ได้ถวายขนมด้วยมือของตน [๙๙] ท่านรับแล้วนั่งฉัน ณ ที่นั้นเอง แต่นั้นหม่อมฉันนิมนต์ท่านไปยังเรือน ได้ถวายโภชนาหารแก่ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน

[๑๐๐] จากนั้น เจ้านายของหม่อมฉันมีความยินดีแล้ว ได้แต่งหม่อมฉันเป็นลูกสะใภ้ของตน หม่อมฉันได้ไปถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับแม่ผัว [๑๐๑] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศแต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้เป็นธรรมกถึกไว้ในเอตทัคคะ หม่อมฉันได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้วมีความเบิกบาน [๑๐๒] ได้ทูลนิมนต์พระสุคตทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ ถวายมหาทานแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น [๑๐๓] ลำดับนั้น พระสุคตผู้มีพระสุระเสียงไพเราะดุจเมฆคำรน ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า ‘เธอจงยินดีบำรุง อังคาสเราพร้อมทั้งพระสงฆ์ [๑๐๔] ขวนขวายในการสดับพระสัทธรรม มีใจเจริญด้วยคุณธรรม เธอผู้เจริญ เธอจงเป็นผู้เบิกบานเถิด เธอจักได้ตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นผลแห่งความปรารถนา [๑๐๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๑๐๖] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าธรรมทินนา เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๑๐๗] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต [๑๐๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน

หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๐๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๑๐] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๑๑] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๖ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่าสุธรรมา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว พอใจการบรรพชา [๑๑๒] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
ภาณวารที่ ๓ จบ
[๑๑๓] พระราชกัญญาทั้ง ๗ องค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า [๑๑๔] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา [๑๑๕] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด) คือ พระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑ หม่อมฉัน ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน

[๑๑๖] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๑๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความเจริญมั่งคั่งให้สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด [๑๑๘] ในคราวที่หม่อมฉันดำรงอยู่ในปฐมวัยรุ่นสาว ประกอบด้วยรูปสมบัติ ได้ไปสู่ตระกูลอื่น (แต่งงาน) เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขอยู่ [๑๑๙] สามีของหม่อมฉันเป็นผู้มีความรู้ดี เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุอนาคามิผล [๑๒๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ขออนุญาตสามีนั้นแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๑๒๑] ครั้งนั้น สามีผู้เป็นอุบาสกนั้นได้เข้าไปหาหม่อมฉันแล้ว ได้ถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก หม่อมฉันแก้ปัญหาทั้งหมดนั้นได้ [๑๒๒] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า ‘เรามิได้เห็นภิกษุณีรูปอื่น ผู้เป็นพระธรรมกถึก เหมือนภิกษุณีธัมมทินนานี้เลย [๑๒๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำ ภิกษุณีธรรมทินนาว่าเป็นนักปราชญ์’ หม่อมฉันอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำทรงอนุเคราะห์แล้ว ชื่อว่าเป็นบัณฑิตอย่างนี้ [๑๒๔] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันได้ทำแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน

ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว [๑๒๕] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ [๑๒๖] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า [๑๒๗] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน [๑๒๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็ได้เผาแล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๒๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระธรรมทินนาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมทินนาเถริยาปทานที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๖๘-๔๗๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=174              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=5477&Z=5543                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=163              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=163&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=163&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap23/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :