ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๕. สุกกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุกกาเถรี
(พระสุกกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำพระนามว่าวิปัสสี มีพระวรกายงดงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๑๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงพันธุมดี ได้ฟังธรรมของพระมุนีแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต [๑๑๓] เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ กล่าวธรรมีกถาอย่างไพเราะ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระชินเจ้า [๑๑๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันกล่าวธรรมเพื่อประโยชน์แก่หมู่ชนทุกสมัย หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาผู้มียศในสวรรค์ชั้นดุสิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๕. สุกกาเถริยาปทาน

[๑๑๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป พระชินเจ้าพระนามว่าสิขี มีพระรัศมีเปรียบด้วยเปลวเพลิง ส่องโลกให้รุ่งเรืองด้วยยศ ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๑๖] แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันบวชแล้ว เป็นผู้ฉลาดในพุทธศาสนา ทำพระพุทธพจน์ให้กระจ่างแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๑๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำพระนามว่าเวสสภู มีพระปรีชาญาณมาก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นเหมือนอย่างในภพก่อน [๑๑๘] ออกบวชแล้วเป็นผู้ทรงธรรม ช่วยประกาศคำสั่งสอนของพระชินเจ้าให้รุ่งเรืองแล้ว ไปเกิดในเมืองแห่งเทพที่น่ายินดี ได้เสวยความสุขมาก [๑๑๙] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้สูงสุดพระนามว่ากกุสันธะ ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นเหมือนอย่างในภพก่อน [๑๒๐] ออกบวชแล้ว ช่วยประกาศคำสั่งสอน ของพระชินเจ้าให้รุ่งเรืองอยู่จนตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนไปสู่ที่อยู่ของตน [๑๒๑] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ พระนามว่าโกนาคมนะ ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เป็นผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๒๒] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ออกบวชในศาสนาของพระองค์ ผู้คงที่ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ช่วยประกาศคำสั่งสอนของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๕. สุกกาเถริยาปทาน

[๑๒๓] ในกัปนี้เอง พระมุนีพระนามว่ากัสสปะ เป็นศาสดาผู้ประเสริฐ เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ไม่มีข้าศึกคือกิเลส ถึงที่สุดแห่งมรณธรรม เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๒๔] หม่อมฉันบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นนระ ผู้เป็นปราชญ์พระองค์นั้น ศึกษาพระสัทธรรมอย่างคล่องแคล่ว มีความแกล้วกล้าในปริปุจฉา๑- [๑๒๕] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันมีศีลงาม มีความละอาย ฉลาดในไตรสิกขา กล่าวธรรมเป็นอันมากจนตลอดชีวิต [๑๒๖] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นและด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๒๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐีที่เจริญมั่งคั่ง สั่งสมรัตนะมากมาย ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด [๑๒๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำ มีภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปห้อมล้อม ท้าวสหัสสนัยน์สรรเสริญแล้ว เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ [๑๒๙] พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นขาดจากสรรพกิเลส มีวรรณะเปล่งปลั่งดั่งแท่งทอง เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ พร้อมทั้งพระขีณาสพ ผู้เป็นปุราณชฎิล ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว พ้นเด็ดขาดจากสรรพกิเลส @เชิงอรรถ : @ ปริปุจฉา หมายถึงการถาม การไต่สวน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๕. สุกกาเถริยาปทาน

[๑๓๐] หม่อมฉันได้เห็นพุทธานุภาพ และได้ฟังธรรมซึ่งเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก๑- [๑๓๑] ต่อมา หม่อมฉันได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระธรรมทินนาเถรี [๑๓๒] หม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายได้ในขณะที่กำลังปลงผม บวชแล้วไม่นาน ก็ศึกษาศาสนธรรมได้อย่างทั่วถึง [๑๓๓] ต่อจากนั้น ได้แสดงธรรมในสมาคมแห่งมหาชน เมื่อหม่อมฉันกำลังแสดงธรรมอยู่ การบรรลุธรรมก็ได้มี [๑๓๔] มียักษ์ตนหนึ่ง ได้ทราบการตรัสรู้ธรรมนั้น ของสัตว์หลายพันแล้ว เกิดอัศจรรย์ใจ เลื่อมใสต่อหม่อมฉันได้ไปยังกรุงราชคฤห์ [๑๓๕] มนุษย์ทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ที่ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พระเถรีชื่อว่าสุกกา ผู้แสดงอมตบทอยู่ หม่อมฉันจะให้ดื่มอมตบทเหมือนดื่มน้ำผึ้งได้อย่างไร [๑๓๖] ก็แลพวกเขาผู้มีปัญญา คงจะดื่มอมตบทนั้น อันมีสภาพไม่ถอยกลับ ให้เกิดความชื่นใจมีโอชาได้ เหมือนคนเดินทางไกลแสวงหาน้ำดื่ม [๑๓๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ @เชิงอรรถ : @ พลธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นกำลัง มี ๕ อย่าง (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร) @(๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้แจ้ง) (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๓๑/๓๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๕. สุกกาเถริยาปทาน

[๑๓๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๑๓๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่ ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๑๔๐] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๔๑] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระสุกกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สุกกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ
ภาณวารที่ ๕ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๓๔-๕๓๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=186              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6422&Z=6482                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=175              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=175&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=175&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap35/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :