ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๔. สุมนพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระสุมนพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำพระนามว่าสุมนะ ไม่มีใครเสมอโดยธรรมทั้งปวง ทรงสูงสุดแห่งสัตว์ทั้งปวง [๒] ครั้งนั้น พระศาสดาทรงลั่นอมตเภรี๑- ในเมขลบุรี คำสอนของพระชินเจ้ามีองค์ ๙ ประกอบด้วยธรรมฝ่ายขาว [๓] พระศาสดาพระองค์นั้น ทรงชำนะกิเลสแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐสุด ทรงสร้างนครคือพระสัทธรรมซึ่งเป็นเมืองประเสริฐที่สุด [๔] พระองค์ทรงสร้างถนนใหญ่คือสติปัฏฐาน อันล้ำเลิศ ไม่มีอะไรคั่น ไม่คด เป็นถนนตรง ไพบูลย์ กว้างขวาง [๕] ทรงแผ่สามัญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และสมาบัติ ๘ ไว้บนถนน๒- นั้น [๖] ชนเหล่าใดเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่มีกิเลสเพียงดังตะปูตรึงใจ๓- ประกอบด้วยหิริและความเพียร ชนเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถือเอาคุณอันประเสริฐนี้ได้อย่างสบาย @เชิงอรรถ : @ ลั่นอมตเภรี ได้แก่ บรรลุนิพพาน (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๒๗) @ ถนน หมายถึงมหาสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๔/๒๒๘) @ กิเลสเพียงดังตะปูตรึงใจ ได้แก่ เคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขาและ @โกรธ (องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๔/๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

[๗] พระศาสดาทรงช่วยเหลือมหาชนด้วยความเพียรนั้นอย่างนี้ ทรงช่วยเทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ให้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๘] พระมหาวีระตรัสสอนหมู่เดียรถีย์ในกาลใด ในกาลนั้นทรงช่วยเหล่าสัตว์ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ให้บรรลุธรรมในกาลแสดงธรรมครั้งที่ ๒ [๙] ในกาลเมื่อเทวดาและมนุษย์ผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันมาทูลถามนิโรธปัญหาและความสงสัยทางใจ [๑๐] ในกาลทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องแสดงนิโรธ แม้ครั้งนั้นเหล่าสัตว์ประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๑๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง [๑๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว เมื่อสงฆ์ประกาศปวารณา พระตถาคตทรงปวารณา พร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ [๑๓] จากนั้น ในการประชุมกันที่สุวรรณบรรพตอันสุกปลั่ง พระขีณาสพประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ [๑๔] ในกาลเมื่อท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระขีณาสพจำนวน ๘๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ [๑๕] สมัยนั้น เราเป็นพญานาค ผู้มีฤทธิ์มาก มีชื่อว่าอตุละ เป็นผู้สร้างกุศลให้เจริญขึ้น [๑๖] ครั้งนั้น เราพร้อมด้วยหมู่ญาติออกจากนาคพิภพ บำรุงพระชินเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์ด้วยดนตรีทิพย์ของพวกนาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

[๑๗] จัดอังคาสพระสงฆ์สาวก ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำแล้ว ถวายผ้ารูปละหนึ่งคู่ ได้ถึงพระชินเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะ [๑๘] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป อตุลพญานาคนี้ จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๙] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

[๒๐] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป [๒๑] กรุงชื่อว่าเมขละ กษัตริย์พระนามว่าสุทัตตะเป็นพระชนก พระนางสิริมาเป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๒] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือจันทปราสาท สุจันทปราสาท และวฏังสปราสาท [๒๓] มีนางสนมกำนัล ๖,๓๐๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าฏังสกี พระราชโอรสพระนามว่าอนูปมะ [๒๔] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือช้างออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๕] พระมหาวีระเจ้าพระนามว่าสุมนะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ เมขลบุรีซึ่งเป็นเมืองประเสริฐที่สุด [๒๖] พระสรณเถระและพระภาวิตัตตเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอุเทนเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๗] พระโสณาเถรีและพระอุปโสณาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา แม้พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้น ได้ตรัสรู้ที่โคนต้นกากะทิง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

[๒๘] วรุณอุบาสกและสรณอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก จาลาอุบาสิกาและอุปจาลาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๙๐ ศอก ทรงงดงามดังทองคำที่ล้ำค่า รุ่งเรืองไปทั่วหมื่นจักรวาล [๓๐] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๙๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้จำนวนมาก [๓๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยคนที่ควรข้ามให้ข้าม ทรงช่วยคนที่ควรตรัสรู้ให้ตรัสรู้ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เหมือนดวงจันทร์ดับไป [๓๒] ภิกษุผู้ขีณาสพเหล่านั้น ผู้มียศยิ่งใหญ่ และพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเปรียบได้พระองค์นั้น แสดงพระรัศมีที่ไม่มีอะไรเปรียบได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไป [๓๓] พระสัพพัญญุตญาณและพระรัตนตรัย ที่ไม่มีอะไรเทียบเคียงเหล่านั้น ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๓๔] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้ทรงพระยศ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อังคาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูงที่อังคารามนั้นสูงถึง ๔ โยชน์ ฉะนี้แล
สุมนพุทธวงศ์ที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๐๗-๖๑๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=196              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7379&Z=7440                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=185              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=185&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5024              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=185&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5024                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :