ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ได้มีพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ ไม่หวั่นไหว เปรียบด้วยสมุทรสาคร [๒] ก็กัปที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นนั้น เป็นมัณฑกัป(กัปที่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ๒ พระองค์) หมู่ชนผู้มีกุศลมากได้เกิดขึ้นในกัปนั้น [๓] ในคราวที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงแสดงธรรมครั้งแรก เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม @เชิงอรรถ : @ คนผู้ปฏิบัติที่เหลือ ในที่นี้ได้แก่ เสกขบุคคลกับกัลยาณปุถุชน (ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๑/๒๗๔-๒๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

[๔] จากนั้น เมื่อพระองค์ทำฝนคือธรรมให้ตก ช่วยเหล่าสัตว์ให้อิ่มหนำ(ด้วยฝนคืออมตะ) เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๓๗,๐๐๐(โกฏิ) ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ ๒ [๕] ในกาลที่พระมหาวีรเจ้า ได้เสด็จเข้าไปหาพระเจ้าอานันทะ(ผู้เป็นพระราชบิดา) ครั้นเข้าไปสำนักของพระราชบิดาแล้ว ได้ทรงลั่นอมตเภรี [๖] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลั่นอมตเภรี บันดาลสายฝนคือธรรมให้ตกลง เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ (โกฏิ) ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๗] พระพุทธเจ้าผู้ฉลาดในเทศนา ผู้ทรงประทานโอวาท ผู้ทำเหล่าสัตว์ให้รู้แจ้งทรงช่วยสัตว์ทั้งปวงให้ข้าม ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๘] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง มีสาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ [๙] ในกาลที่พระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ประทับอยู่ที่เวภารบรรพต สาวกประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ [๑๐] เมื่อพระองค์เสด็จจากคามนิคมและแว่นแคว้นหลีกจาริกไป สาวกประมาณ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ [๑๑] สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีชื่อว่ารัฏฐิกะ ได้ถวายผ้าพร้อมภัตตาหารแด่พระสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน [๑๒] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ประทับนั่งท่ามกลางพระสงฆ์ ทรงพยากรณ์เราว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

จากนี้ไปอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป ชฎิลนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๓] ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็อธิษฐานวัตรให้ยิ่งขึ้นไป เราได้บำเพ็ญเพียร อย่างมั่นคงเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๕] ครั้งนั้น เดียรถีย์ทั้งปวงถูกขจัดไป จึงพากันโทมนัสเสียใจ ใครๆ ก็ไม่บำรุงเดียรถีย์เหล่านั้น ขับไล่พวกเขาไปจากแว่นแคว้น [๑๖] พวกเดียรถีย์ประชุมกันในที่นั้นทั้งหมด เข้าไปสำนักของพระพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์เป็นที่พึ่งที่ระลึกของพวกข้าพระองค์เถิด’ [๑๗] พระองค์ผู้ทรงอนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในเบญจศีล [๑๘] เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนานั้นหมดความอากูล ว่างจากพวกเดียรถีย์ และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ได้วสี ผู้คงที่ [๑๙] กรุงชื่อว่าหงสวดี กษัตริย์พระนามว่าอานนท์เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุชาดาเป็นพระชนนี ของพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ [๒๐] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือนารีปราสาท พาหนปราสาท และยสวดีปราสาท [๒๑] มีนางสนมกำนัล ๔๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าวสุลทัตตา พระราชโอรสพระนามว่าอุตตระ [๒๒] พระองค์เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกจากปราสาทไปผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๓] พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระทรงเป็นผู้นำวิเศษ ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ พระอุทยานมิถิลา อันประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

[๒๔] พระเทวิลเถระและพระสุชาตเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าสุมนะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ [๒๕] พระอมิตาเถรีและพระอสมาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นสน [๒๖] อมิตอุบาสกและติสสอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก หัตถาอุบาสิกาและสุจิตตาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๗] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก ทรงงดงามดังทองคำที่ล้ำค่า ทรงมีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- [๒๘] กำแพง บานประตู ฝาเรือน ต้นไม้ และภูผาสูง ก็กำบังพระรัศมีของพระองค์นั้น ในที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบไม่ได้ [๒๙] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๓๐] พระองค์พร้อมกับสาวกนั้น ทรงช่วยหมู่ชน ให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก ทรงตัดความสงสัยของชนทั้งปวงแล้ว ทรงรุ่งเรือง ดับไปเหมือนกองไฟไม่มีเชื้อดับไป [๓๑] พระชินพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ ที่นันทารามนั้นสูง ๑๒ โยชน์ ฉะนี้แล
ปทุมุตตรพุทธวงศ์ที่ ๑๐ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๔๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๓๙-๖๔๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=202              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7720&Z=7777                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=191              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=191&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=6136              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=191&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=6136                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :